ความคิดคำนึงเรื่องความพอเพียง

ความคิดคำนึงเรื่องความพอเพียง

ของขวัญประเทศไทยแด่โลกอันไม่ยั่งยืน

ผมเขียนเรื่องนี้เมื่อไม่นานมานี้ และขอนำกลับมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง เพื่อตอกย้ำความสำคัญของปรัชญาความพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่สร้างประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่เพียงสำหรับประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็น “ของขวัญแด่ชาวโลก ได้อย่างดีด้วย

ผมเขียนในคอลัมน์วันนั้นว่าอย่างนี้ครับ

ผมได้รับหนังสือที่ทรงคุณค่าสองเล่มจากมูลนิธิมั่นพัฒนา เนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษวิเคราะห์และเล่าขานถึง ศาสตร์พระราชา...เศรษฐกิจพอเพียง ไปยังสังคมโลก

น่าสนใจมากที่ชื่อหนังสือเล่มใหม่ Sufficiency Thinking นั้นมีพาดหัวรองว่า “Thailand’s gift to an unsustainable world.” ซึ่งผมแปลของผมว่า

ความคิดคำนึงเรื่องความพอเพียง...ของขวัญประเทศไทยแด่โลกอันไม่ยั่งยืน

หนังสือเล่มนี้ได้อาจารย์ระดับโลกอย่าง Dr Gayle C. Avery กับ Harald Bergsteiner เป็นบรรณาธิการ โดยที่ ดร. เอเวอรีเป็นผู้บุกเบิกในแวดวงวิชาการด้านภาวะผู้นำแบบพอเพียง เป็นที่ยอมรับทั้งในเอเซีย ยุโรป อเมริกาเหนือและออสเตรเลีย

เธอบอกว่าประเทศไทยได้สร้างความน่าประทับใจ เพราะประสบความสำเร็จในการทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๆ ที่ไทยเราเป็นประเทศเล็ก ระบบเศรษฐกิจก็เล็ก คนข้างนอกไม่คิดว่าประเทศนี้จะคิดอะไรลึกซึ้ง แบบเศรษฐกิจพอเพียง และนำมาปฏิบัติในภาคส่วนต่าง ๆ ทั่วประเทศจนเรียกได้ว่าเป็นผู้นำทางด้านนี้ของโลก

ดร. เอเวอรีเกริ่นไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่าประเทศไทยเป็น แม่แบบที่เหนือความคาดหมาย” (Thailand: An Unexpected Role Model) ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เพราะประเทศส่วนใหญ่ในโลกกำลังเผชิญกับปัญหา แนวทางเศรษฐกิจที่คิดแต่ระยะสั้นเพราะติดกับระบบทุนนิยมไร้ขีดจำกัดและขาดคุณธรรม จึงมีปัญหาว่าจะไม่ยั่งยืน ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาประเทศที่รังแต่จะพบทางตัน ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ ภาวะโลกร้อน ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง และการขาดผู้นำที่มีคุณธรรม

หนังสืออีกเล่มหนึ่งเป็นคู่มือที่ให้ข้อมูล และแนวคิดรวมไปถึงเรื่องราวที่เกี่ยวกับ การพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย” หรือ Thailand’s Sustainable Development Sourcebook: Issues & Information – Ideas & Inspiration ที่รวบรวมทุกประเด็นเกี่ยวกับปรัชญา และแนวทางแห่งเศรษฐกิจพอเพียงที่ค้นหาง่าย, อ่านง่ายและใช้อ้างอิงได้อย่างน่าสนใจยิ่ง

คนไทยเองอาจจะแปลกใจว่าต่างชาติเห็นว่าไทยเราเป็น “แม่แบบ” ของเรื่อง “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ผ่าน เศรษฐกิจพอเพียง” ได้อย่างไร แต่สำหรับนักวิชาการและนักวิจัย ที่ลงไปค้นคว้าศึกษาอย่างนักวิชาการ ทั้งไทยและต่างประเทศอย่างที่เขียนวิเคราะห์ไว้ในหนังสือสองเล่มนี้ สิ่งที่ประเทศไทยได้ทำตามแนวทางนี้มีผลงานเด่นชัด ที่วัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างน่าตื่นตาตื่นใจทีเดียว

คุณจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เลขาธิการสำนักพระราชวัง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อ 25 กรกฎากคม 2557 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่สมดุล และยั่งยืนในประเทศไทยในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ, สังคม, สิ่งแวดล้อม, และวัฒนธรรมได้นำหลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาประยุกต์ใช้ในวงกว้าง

คุณจิรายุให้สัมภาษณ์ “มติชน” เล่าถึงที่มาของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่า

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่ง ถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงครั้งแรกเมื่อปี 2517 คนไทยให้ความสนใจมากคือเมื่อปี 2540 เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ก่อนเกิดต้มยำกุ้ง พระองค์ทรงเคยรับสั่งว่าเราอย่าเป็นเสือกันเลย ไปพัฒนาเศรษฐกิจให้ทุกคนยกระดับขึ้นมา กระทั่ง 2540 เศรษฐกิจล่มสลาย พระองค์รับสั่งแนะว่า อย่าไปทำแบบไม่ยั่งยืน มาสร้างพื้นฐานให้คนทั่ว ๆ ไป ได้มีความอยู่ดีกินดีตามอัตภาพเสียก่อน แล้วค่อยสร้างบนพื้นฐานที่มั่นคง ประเทศจะเจริญเติบโตไม่ล้มครืนลงมาระหว่างที่ฐานไม่ดี...”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปรียบเทียบ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เหมือน “เสาเข็ม”

พระองค์รับสั่งว่าบ้านเรือน ถ้าจะให้มั่นคงต้องมีเสาเข็ม แต่เสาเข็มอยู่ใต้ดิน เพราะฉะนั้นจะไม่มีใครเห็น จะลืมเกี่ยวกับบทบาทของเสาเข็ม ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็เหมือนเสาเข็ม ที่เป็นรากฐานแห่งความมั่นคง แต่มองไม่เห็น ถ้าพื้นฐานคนไม่มีความอยู่ดีกินดีตามอัตภาพแล้ว ไปสร้างอะไรที่ใหญ่โตบนสิ่งที่ไม่มีพื้นฐานมั่นคง จะล้มลงมาง่าย...

คุณจิรายุเสริมว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมี 3 ข้อ คือพอประมาณ, มีเหตุผล, มีภูมิคุ้มกัน บวก 2 เงื่อนไขคือความรู้คู่คุณธรรม

“สิ่งที่จะมาลดความเสี่ยง ทำให้รากฐานมั่นคงไม่ล้มลงง่ายคือการมีความคิดแบบพอเพียง ไม่โลภ และมีความรู้คู่คุณธรรม...”

ความรู้แบ่งได้เป็น 3 อย่างคือ

  1. ความรู้ของชาวบ้านหรือปราชญ์ชาวบ้าน
  2. ความรู้จากศาสตร์พระราชา ตามโครงการพระราชดำริต่าง ๆ หรือตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
  3. ความรู้ใหม่ ๆ ซึ่งเราไม่ปฏิเสธที่จะใฝ่รู้

และอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ “ผู้นำที่มีคุณธรรม”

คุณจิรายุยืนยันว่าถ้ามีครบทั้งหมดนี้ จะประสบความสำเร็จในการพัฒนาที่ยั่งยืนแน่นอน

ใครยังไม่ได้หนังสือสองเล่มนี้ ผมแนะนำให้หามาอ่าน รับรองว่าได้ความรู้ ความกระจ่างและแรงบันดาลใจอย่างเหลือล้น