ญี่ปุ่นกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ญี่ปุ่นกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือ “UNSC” คือองค์ประกอบหนึ่งของสหประชาชาติที่มีหน้าที่รักษาสันติภาพและความ

มั่นคงในระดับนานาชาติ โดย UNSC ประกอบไปด้วยสมาชิกถาวรห้าประเทศที่มีอภิสิทธิ์ในการ “วีโต้ หรือ “P5” อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส และจีนและสมาชิกไม่ถาวรอีกสิบประเทศซึ่งประเทศสมาชิกของสหประชาชาติหมุนเวียนกันดำรงตำแหน่งคราวละสองปี ทั้งนี้ UNSCมีอิทธิพลต่อการเมืองระหว่างประเทศมากเพราะมติของ UNSC มีผลผูกพันประเทศสมาชิกของสหประชาชาติทั้งหมด ทั้งในด้านการวินิจฉัยว่าอะไรเป็นภัยคุกคามสันติภาพและความมั่นคง รวมไปถึงการกำหนดมาตรการต่างๆที่จะใช้ขจัดภัยคุกคามนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ในอดีตที่ผ่านมา UNSC ทำหน้าที่ปกป้องระเบียบทางการเมืองระหว่างประเทศที่สัมพันธ์กับผลประโยชน์ของกลุ่ม P5 ที่เป็นผู้กุมอำนาจที่แท้จริงของ UNSC เป็นสำคัญ ดังนั้น บทบาทของ UNSC จึงถูกกำหนดโดยความเห็นชอบร่วมกันของกลุ่ม P5 หากประเทศใดประเทศหนึ่งในกลุ่มไม่ให้ความเห็นชอบ UNSC ก็จะไม่สามารถมีบทบาทในเรื่องนั้นได้ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในกรณีอิสราเอลโดยอเมริกาและกรณีซีเรียโดยรัสเซียและจีน ซึ่งข้อจำกัดนี้เป็นประเด็นที่ UNSCถูกวิจารณ์มาโดยตลอด และเป็นเหตุผลสำคัญหนึ่งที่ทำให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติหลายประเทศเรียกร้องให้มีการปฏิรูป UNSC

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องให้มีการปฏิรูป UNSCมาอย่างยาวนาน โดยญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม C4 ร่วมกับเยอรมัน อินเดีย และบราซิล ที่เรียกร้องให้มีการเพิ่มจำนวนสมาชิกของ UNSC ทั้งในประเภทถาวรและไม่ถาวร ทั้งนี้ ญี่ปุ่นและอีกสามประเทศในกลุ่ม C4แสดงความต้องการอย่างเปิดเผยที่จะเข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกถาวรที่จะเพิ่มขึ้นหากมีการปฏิรูปตามที่ได้เรียกร้อง โดยกลุ่ม C4 ให้เหตุผลว่าโครงสร้างของ UNSC ในปัจจุบันไม่สะท้อนความเป็นจริงทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศของศตวรรษที่ 21ทำให้ UNSC ขาดความชอบธรรมและไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น

สำหรับการเสนอตัวเข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกถาวรของ UNSC นั้น ญี่ปุ่นให้เหตุผลว่าญี่ปุ่นให้การสนับสนุนสหประชาชาติและ UNSC ทั้งในรูปของเงินบริจาคและบุคคลากรเป็นมากเป็นลำดับต้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งญี่ปุ่นมีศักยภาพที่จะช่วยให้การทำงานของ UNSC มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น ญี่ปุ่นควรจะได้รับตำแหน่งดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่าญี่ปุ่นต้องการเป็นสมาชิกถาวรของ UNSCเพราะต้องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในประเด็นความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นโดยตรง เช่น การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ เป็นต้น

การที่รัฐบาลของชินโซ อาเบะพยายามผลักดันการปฏิรูป UNSCอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ความพยายามของรัฐบาลก่อนหน้าไม่ประสบความสำเร็จนั้น เหตุผลหนึ่งที่อาจใช้อธิบายได้ก็คือความวิตกกังวลต่อแนวโน้มของปัญหาความมั่นคงในภูมิภาคเอเซียตะวันออกในอนาคต ทั้งจากข้อพิพาทระหว่างญี่ปุ่นกับจีนเรื่องหมู่เกาะเซนกะกุและการคุกคามด้านนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะในกรณีของจีนที่แสดงท่าทีแข็งกร้าวมาโดยตลอด และอาจรวมไปถึงข้อพิพาททะเลจีนใต้ที่ญี่ปุ่่นให้การสนับสนุนฟิลิบปินส์และเวียดนามที่เป็นคู่พิพาทกับจีนอย่างเปิดเผย ทั้งนี้ รัฐบาลอาเบะอาจคาดการณ์ว่าหากสถานการณ์ด้านความมั่นคงของภูมิภาคเอเซียตะวันออกถูกนำไปสู่การพิจารณาของ UNSC ในอนาคต เช่นเดียวกับที่ข้อพิพาททะเลจีนใต้ถูกนำไปสู่ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ญี่ปุ่นจะเสียเปรียบจีนซึ่งสามารถใช้อำนาจวีโต้ของตนในการกำหนดเนื้อหาหรือยับยั้งมติของ UNSC ได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ความขัดแย้งถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในเวลาที่ญี่ปุ่นไม่มีตัวแทนอยู่ใน UNSC

แต่ทั้งนี้ จีนได้คัดค้านและขัดขวางความพยายามของญี่ปุ่นในเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยจีนอ้างว่าญี่ปุ่นไม่เหมาะสมกับตำแหน่งสมาชิกถาวรของ UNSC เพราะญี่ปุ่นไม่ยอมรับความผิดที่ได้ทำไว้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และจีนยังพยายามทำลายความร่วมมือระหว่างสมาชิกกลุ่ม C4 โดยเสนอการสนับสนุนของตนเองให้กับอินเดียโดยมีเงื่อนไขว่าอินเดียจะต้องไม่ให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นอีกต่อไป นอกจากนั้น ญี่ปุ่นก็ประสบกับอุปสรรคจากการเมืองภายในประเทศด้วยเช่นกัน เพราะมาตราที่ 9ของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นห้ามการมีกองทัพและการใช้กำลังทหารแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศ ดังนั้น การดำรงตำแหน่งสมาชิกถาวรของ UNSC ที่อาจจะต้องตัดสินใจใช้ปฏิบัติการทางการทหารเข้าแทรกแซงความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ อาจทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นละเมิดรัฐธรรมนูญได้ ไม่ว่ากองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นจะเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการนั้นหรือไม่ก็ตาม ซึ่งประเด็นนี้เคยถูกยกขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งโดยอเมริกาซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของญี่ปุ่น และประชาชนญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งก็กังวลว่ารัฐบาลอาเบะอาจใช้การดำรงตำแหน่งสมาชิกถาวรของ UNSCมาเป็นข้ออ้างในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อขยายขนาดและบทบาทของกองกำลังป้องกันตนเอง หรือแม้แต่ยกระดับกองกำลังป้องกันตนเองขึ้นเป็นกองทัพอย่างเป็นทางการ ซึ่งประเด็นนี้เป็นข้อขัดแย้งสำคัญในการเมืองญี่ปุ่นปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความเป็นไปได้ใดๆ ที่ญี่ปุ่นจะประสบความสำเร็จในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากกฎบัตรของสหประชาชาติกำหนดให้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของ UNSC จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจำนวนสองในสามจากสมัชชาใหญ่ รวมทั้งความเห็นชอบของกลุ่ม P5 ซึ่งจีนเป็นหนึ่งในนั้น และยังไม่มีความเป็นไปได้ใดๆในอนาคตอันใกล้นี้อีกเช่นกันที่จีนจะเปลี่ยนท่าทีในเรื่องการเข้าเป็นสมาชิกถาวรของ UNSC ของญี่ปุ่น แม้ว่าญี่ปุ่นจะได้รับเสียงสนับสนุนเกินกว่าจำนวนสองในสามมากเท่าใดก็ตาม

----------------

ภาคภูมิ วาณิชกะ

ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย