เมืองไหนในจีนมีอนาคต ?

เมืองไหนในจีนมีอนาคต ?

เศรษฐกิจจีนรุ่งโรจน์โชติช่วงหรือกำลังจะพุ่งลงเหว? คำตอบคือ เราอาจต้องดูเป็นเมืองๆ ไป เมื่อพิจารณาจากตัวเลข GDP

ครึ่งปีแรก พบว่ามีอยู่ 20 เมืองของจีนที่มีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบ แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังมีถึง 7 เมือง ที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่า 10%

ดร.หลี่เสี่ยวเผิง นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของจีน ซึ่งบุกเบิกการวิเคราะห์เศรษฐกิจรายเมือง ได้ออกมาจับชีพจรเศรษฐกิจว่าเมืองไหนของจีนรุ่งเรือง เมืองไหนรุ่งริ่ง มีเนื้อหาน่าสนใจและชวนขบคิดมากครับ

ถ้าเราลองศึกษาดูเมืองต่างๆ ในจีนที่มีอัตราการเติบโตของ GDP สูงกว่า 10% เราสามารถแบ่งเมืองเหล่านี้ออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกัน

กลุ่มแรก คือ เมืองที่ได้ประโยชน์จากยุทธศาสตร์ของรัฐบาลกลาง ตัวอย่างเมืองที่เจริญด้วยสาเหตุนี้ก็คือ เมืองเซี่ยเหมิน กับเมืองไห่โขว่

เซี่ยเหมินเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะได้ประโยชน์จากยุทธศาสตร์เชื่อมโยงเส้นทางสายไหมทางทะเลของจีน โดยที่เซี่ยเหมินเป็นเมืองท่าสำคัญสำหรับยุทธศาสตร์นี้ นอกจากนั้น มณฑลฝูเจี้ยน ยังเป็นมณฑลต้นแบบการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษรอบใหม่ของจีน และเป็นมณฑลนำร่องนโยบายอุตสาหกรรมก้าวหน้า “Made in China 2025” อีกด้วย เรียกได้ว่ายุทธศาสตร์สำคัญของจีนล้วนมีชื่อมณฑลฝูเจี้ยนอยู่ในนั้นด้วย จึงไม่แปลกที่เศรษฐกิจของเซี่ยเหมิน ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญของมณฑลฝูเจี้ยน จะโตวันโตคืน

ไห่โขว่ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลไห่หนาน (เกาะไหหลำ) ก็เจริญเติบโตแบบทะลุเป้า เพราะได้ประโยชน์จากยุทธศาสตร์พัฒนาแถบชายฝั่งทะเลตอนใต้ ซึ่งขณะนี้ยังเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ ดังนั้นเมืองไห่โขว่จึงนับเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงที่มีศักยภาพสูงมากในอนาคต

กลุ่มที่สอง คือ เมืองที่โดดเด่นทั้งในด้านนวัตกรรมการเงินและนวัตกรรมการผลิต ตัวอย่างคือ เมืองเสินเจิ้น เมืองหางโจว และเมืองฉงชิ่ง

เสินเจิ้นเป็นเขตตัวอย่างด้านนวัตกรรมการเงิน นอกจากนั้น ในเสินเจิ้นเอง ก็มีการริเริ่มสร้างสรรค์กระบวนการผลิตใหม่ๆ ในภาคอุตสาหกรรมด้วย ที่สำคัญคือเสินเจิ้นมีกำลังคนที่พร้อม ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ทั้ง ม.ปักกิ่งและ ม.ชิงหัวได้ตั้งวิทยาเขตที่เสินเจิ้น และยังมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งภาคใต้ขึ้นที่เสินเจิ้นอีกด้วย ทำให้มีแรงงานฝีมือจำนวนมากสำหรับภาคการเงินและภาคอุตสาหกรรมใหม่ที่เน้นเรื่องนวัตกรรม

หางโจว ก็มีนวัตกรรมที่โดดเด่นทั้งในภาคการเงินและภาคอุตสาหกรรม ข้อที่น่าสนใจก็คือ เมืองหางโจวนั้นขับเคลื่อนด้วยการลงทุนของภาคเอกชนเป็นหลัก โดยมีจุดเด่นที่นวัตกรรมด้านอินเตอร์เน็ต สำนักงานใหญ่ของ Alibaba ก็ตั้งอยู่ที่หางโจว พร้อมกับบริษัท start-up ด้านเทคโนโลยีอีกมากมายในจีน

ส่วนฉงชิ่งนั้น โดดเด่นในอีกแบบหนึ่ง เนื่องจากการลงทุนในฉงชิ่งนำโดยภาครัฐและรัฐวิสาหกิจเป็นหลัก โดยมี “แผนลงทุนแปดด้าน” ซึ่งเป็นกลไกการลงทุนโดยรัฐบาลท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด อุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์ที่เป็นที่จับตามองในฉงชิ่งก็ได้รับการอัดฉีดเงินลงทุนโดยรัฐบาลท้องถิ่น

กลุ่มที่สาม คือเมืองที่โดดเด่นด้านอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น เมืองฉางชา ซึ่งได้ฉายาว่าเป็น “เมืองเอกด้านอุตสาหกรรมการประกอบชิ้นส่วนของจีน” และเป็นเมืองแห่งที่สองของจีนที่มีการเปิดใช้รถไฟพลังแม่เหล็กความเร็วสูง (maglev) (แห่งแรกคือที่เซี่ยงไฮ้) โดยเป็นการออกแบบ ผลิต และควบคุมเดินรถด้วยบริษัทในเมืองฉางชาทั้งหมด เมื่อพฤษภาคมปีที่แล้ว ครม.จีนได้ประกาศแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งชาติกรอบระยะเวลา 10 ปี โดยรัฐบาลเมืองฉางชาได้รีบตอบรับแผนดังกล่าวด้วยการออกแผนปฏิบัติงานที่เป็นรูปธรรมของเมืองฉางชาในทันที

เราพูดถึงเมืองในจีนที่ดูมีอนาคตไปแล้ว อาจมีหลายท่านสงสัยว่า แล้วในส่วนของเมืองที่มีการเติบโตของ GDP ติดลบและดูไม่มีอนาคตล่ะ มีสาเหตุมาจากอะไร ดร.หลี่ วิเคราะห์ว่า บรรดาเมืองที่เคยกินบุญเก่าพึ่งพิงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรแต่เพียงอย่างเดียว ล้วนมีแนวโน้มถอยหลังลงคลอง เช่นเมืองเจียยู่กวน ในมณฑลกานซู่ ซึ่งอุตสาหกรรมสำคัญคืออุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรโลหะผสมเหล็ก ก็เป็นตัวอย่างของเมืองที่มี GDP ติดลบ

สาเหตุที่เมืองที่มีตัวเลขการเติบโตของ GDP ติดลบในจีนมีมากถึง 21 เมือง เป็นเพราะในปัจจุบัน จีนได้สร้างรถไฟ ถนน และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพียงพอกับความต้องการแล้ว ทำให้มีความต้องการทรัพยากรสำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้เหล็กหรือถ่านหินลดน้อยลงจากเดิมมาก ดังนั้นเมืองที่อุดมด้วยทรัพยากรเหล่านี้และมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยพึ่งพิงทรัพยากรเหล่านี้เป็นหลัก จึงประสบปัญหาเศรษฐกิจขาลง

ทางออกเดียวของเมืองเหล่านี้ ก็คือ ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่นเมืองฟู่หยางของมณฑลอันฮุย แต่เดิมมีเศรษฐกิจที่พึ่งพิงเหมืองถ่านหินเป็นอย่างมาก แต่รัฐบาลของเมืองฟู่หยางรู้จักมองไปข้างหน้า จึงเอาเงินเก็บจากการขายถ่านหินมาลงทุนในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและลงทุนในภาคอุตสาหกรรมใหม่ๆ ทำให้สัดส่วนของ GDP ในเมืองฟู่หยางเปลี่ยนมาอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและอุตสาหกรรมการประกอบชิ้นส่วนมากขึ้น ไม่ต้องพึ่งพิงรายได้จากเหมืองถ่านหินแต่เพียงอย่างเดียว

ในมุมของการทำความเข้าใจจีน หลายท่านเคยแนะนำว่า ประเทศจีนกว้างใหญ่มาก ดังนั้น ถ้าอยากจะเข้าใจจีน ควรจะทำความเข้าใจรายมณฑลจะเหมาะสมกว่า ผมชวนคิดต่อไปอีกขั้นว่า เราต้องเริ่มเจาะลึกจีนรายเมืองด้วย ในรอบ 30 ปี ที่ผ่านมา จีนมีเมืองขนาดใหญ่ที่สำคัญผุดขึ้นมากมาย หลายเมืองของจีนมีนโยบายและจุดเด่นเฉพาะด้านให้เราเรียนรู้ ยิ่งสำหรับนักลงทุนและนักธุรกิจที่สนใจจีน ก็ควรต้องเจาะลึกลงไปในระดับเมือง ไม่ใช่มองจีนทั้งประเทศเป็นก้อนเดียว

ส่วนในมุมของการขับเคลื่อนประเทศไทย เราก็น่าจะเลิกมองประเทศไทยเป็นก้อนเดียวเช่นกัน ผมคิดว่าเราควรหันมาใช้ จังหวัดเป็นหน่วยหลักในการสร้างโอกาสทางธุรกิจและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจรอบใหม่ ถ้าเราสามารถกระจายอำนาจและงบประมาณไปสู่ท้องถิ่นได้ เราก็จะเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในจีน นั่นก็คือผู้บริหารเมืองต่างๆ ต้องแข่งขันกันด้วยนโยบายและผลงาน มีการทดลองทางนโยบายและมีการปรับนโยบายให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ให้เมืองแต่ละเมืองใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของตนอย่างเต็มที่ มีการวางยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม รวมทั้งรู้จักใช้ประโยชน์ในเรื่องที่ตั้งของประเทศไทย ส่งเสริมให้จังหวัดใหญ่ๆ ของเราเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจเชื่อมต่อไปยังเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วอีกด้วย

ข้าราชการไทยน่าจะเลิกคิดคำขวัญจังหวัด และเปลี่ยนมาคิดยุทธศาสตร์จังหวัดบ้าง ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ไทยนอกจากนั่งบ่นเรื่อง GDP ของประเทศไทยที่ติดหล่มไม่ไปไหนแล้ว น่าจะลองแยกแยะดู GDP ของแต่ละจังหวัดบ้างนะครับ อาจจะช่วยให้เห็นปัญหา ทางออก และทางสร้างสรรค์ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นครับ