โขนกับการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0

โขนกับการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0

ผมได้ดูคลิปของทีมงานยักษ์ชวนเที่ยวไทยที่กลายเป็นประเด็นร้อนในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าเป็นคลิปที่ดี

ผสมผสานความเป็นไทยกับความเป็นสากลได้ลงตัวในระดับหนึ่ง แม้จะมีข้อสังเกตว่าบางฉากสามารถทำให้ดีกว่านั้นได้ แต่หากมองอีกด้านว่าทำออกมาครั้งแรกได้ขนาดนี้ การทำครั้งต่อไปก็น่าจะดีขึ้น คมขึ้น และลุ่มลึกมากขึ้นกว่าเดิม

ที่น่าเสียดายคือ แทนที่คลิปนี้จะดังเพราะตัวผลงานเพียงอย่างเดียว กลายเป็นว่ามีคนรู้จักมากขึ้นเพราะโดนผู้ใหญ่ในวงการหลายท่านตำหนิถึงความไม่เหมาะสม ทำลายวัฒนธรรมอันดี เกิดเป็นประเด็นถกเถียงกัน จนสุดท้ายแล้วทั้ง ผู้ทำและ ผู้คุมต้องยอมถอยกันคนละก้าว

เรื่องที่พอใจชื้นอยู่บ้างคือ คนในวงการศิลปะหลายท่านออกมาให้กำลังใจผู้ทำ มีท่าทีเปิดกว้างว่า ศิลปะก็เหมือนกับทุกเรื่องในโลก ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่สิ่งที่อดห่วงไม่ได้คือ เรื่องนี้ได้สร้างม่านหมอกแห่งความกังวลใจซึ่งอาจส่งผลต่อการผลิตงานสร้างสรรค์ในอนาคตได้

ผมพอจะทราบมาบ้างว่าโขนเป็นศิลปะขั้นสูง ผู้แสดงผ่านการฝึกอย่างเข้มงวด มีพิธีครอบครู จึงควรได้รับความเคารพ เอามาแสดงเล่นๆ คงไม่เหมาะ อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมกลับจะเห็นว่านี่เป็นโอกาสดีในการส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้เรื่องโขนมากขึ้น อะไรที่เหมาะไม่เหมาะก็บอกมา ต่อไปจะได้ทำให้ดีขึ้น ถ้าสื่อสารกันในเชิงบวก เน้นการติเพื่อก่อ เราจะได้เยาวชนรุ่นใหม่มารับไม้ต่อเพื่อจรรโลงและพัฒนาวงการโขนเพิ่มขึ้นอีกเยอะ

ความจริงแล้วในประวัติศาสตร์ชาติไทย เราก็มีการดัดแปลงวัฒนธรรม หยิบยืมวัฒนธรรมของคนอื่นมาใช้ มีการแต่งเติมอยู่เป็นระยะ เพียงแต่คราวนี้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในยุคที่คนส่วนใหญ่สามารถรับข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วกว่าเมื่อก่อน ความกังวลของคนที่ต้องการอนุรักษ์โขนแบบเดิมไว้จึงมีมากกว่า

ข้อสังเกตจากคนอ่อนประวัติศาสตร์อย่างผมเห็นว่า เสน่ห์ของวัฒนธรรมไทย คือ ความยืดหยุ่นเปิดกว้าง พร้อมปรับเปลี่ยนไปตามกระแสโลก แต่ยังสามารถรักษารากเหง้าซึ่งเป็นจิตวิญญาณของเราไว้ได้ หลายต่อหลายครั้งที่ประเทศเราอยู่ระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อ ความยืดหยุ่นเปิดกว้างนี้แหละเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเรารักษาความเป็นชาติเอาไว้

มาเลเซียเองก็เคยตัดสินใจครั้งใหญ่ เขาเลือกใช้อักษรภาษาอังกฤษมาเป็นตัวเขียนของภาษามาลายูแบบเดียวกับคาราโอเคะเพลงไทย ที่ใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษ เขาตัดสินใจแบบนี้เพื่อให้คนของเขาชินกับตัวอักษรเหล่านั้น เวลาเรียนภาษาอังกฤษจะได้ไม่กลัว พอใช้ภาษาอังกฤษได้ จะไปค้าขายกับใครในโลกก็ได้

ในทางสังคมศาสตร์ วัฒนธรรมเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญ เป็นเสาหลักต้นหนึ่งของไทยคอยค้ำจุนบ้านหลังนี้เอาไว้ แต่เสาที่ดีต้องไม่แข็งจนเกินไป ยามต้องเจอกับพายุ โครงสร้างที่แข็งผิดธรรมชาติอาจทำให้บ้านพังครืนลงมาทั้งหลัง นี่คือเหตุผลว่าทำไมตึกรามบ้านช่องถึงถูกออกแบบมาให้มีความยืดหยุ่นในเชิงโครงสร้าง เพราะความยืดหยุ่นนี้จะช่วยให้บ้านยังคงอยู่แม้จะเจอกับลมแรงหรือแผ่นดินไหว สามารถคุ้มแดด คุ้มลม คุ้มฝน ให้กับคนในบ้านไปอีกนานเท่านาน

ประวัติศาสตร์สอนเราว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางสังคมล้วนแต่เกิดขึ้นจากคนที่กล้าคิดต่างจากคนอื่น สังคมที่สามารถขยายผลของความแตกต่างนี้ในเชิงสร้างสรรค์ได้ คือสังคมที่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ก่อนสังคมอื่น ถ้าคนไม่ฝันว่าจะบินให้ได้ วันนี้เราคงไม่มีเครื่องบิน ถ้าคนไม่คิดว่าทำยังไงถึงจะส่งข้อความข้ามโลกในชั่วอึดใจเดียว วันนี้เราก็ไม่มีอีเมล์

ในห้วงเวลาที่เรากำลังก้าวไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 เป็นห้วงเวลาที่ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกมิติของชีวิตมากขึ้น แนวทางที่ถูกต้องของการจัดการความคิดสร้างสรรค์ (Creativity Management) คือการคิดให้ตกว่าจะชักนำความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นมาสู่แนวทางที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างไร ตรงไหนที่ดีแล้ว ตรงไหนควรดีขึ้น ตรงไหนที่ควรลดลง การมองแบบนี้จะทำให้คนที่พยายามใช้ความคิดสร้างสรรค์ไม่ถูกกดดัน สามารถใช้พลังความคิดของเขาได้เต็มที่

วิวาทะเรื่อง โขน” เป็นสัญญาณเตือนว่าประเทศไทยต้องมีการจัดการในเชิงสังคม เพื่อให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะเราไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศไปสู่ยุคสมัยที่ดีกว่าได้ จนกว่าเราจะเลิกมองโลกผ่านแว่นรุ่นเก่าที่บางอันยังใช้เลนส์ที่สร้างในยุคไทยแลนด์ 0.0

จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ เคยกล่าวไว้ว่า

คุณเห็นโน่นเห็นนี่แล้วถามตัวเองว่า ทำไมแต่ผมฝันถึงสิ่งที่ต่างๆ ที่ไม่เคยมีอยู่ แล้วถามตัวเองว่า ทำไมจะไม่ได้ล่ะ