Positive Correlation…ตลาดสั่นไหวตามท่าทีของเฟด อีกครั้ง!

Positive Correlation…ตลาดสั่นไหวตามท่าทีของเฟด อีกครั้ง!

ที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด เมื่อ 21 กันยายน มีมติ 7 ต่อ 3 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.25%-0.50% ที่น่าสนใจคือ นี่เป็นครั้งแรกที่

 
มีกรรมการถึง 3 ท่าน โหวตให้ขึ้นดอกเบี้ย

 แม้เสียงส่วนใหญ่เลือกที่จะคงดอกเบี้ยไว้เพื่อติดตามสถานการณ์จนกว่าจะมั่นใจว่าเศรษฐกิจพร้อมจะรับมือกับท่าทีใหม่แล้วจริงๆ อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อซึ่งเป็นเป้าหมายหลักยังต่ำกว่า 2% ทำให้เฟดไม่จำเป็นต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย

การตัดสินใจของเฟดครั้งนี้ต่างจากคำให้สัมภาษณ์ของกรรมการบางท่านในช่วงก่อนหน้า ที่เห็นว่าเฟดควรขึ้นดอกเบี้ยได้แล้ว ดังนั้น หลังผลประชุม ตลาดหุ้นทั่วโลกจึงตอบรับในเชิงบวก พร้อมๆ กับการลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ทำให้ราคาตราสารหนี้เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ก่อนการประชุม ตลาดการเงินเกิดภาวะ Positive Correlation ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในสถานการณ์ปกติ มองไปข้างหน้า ช่วงเวลาของการฟื้นตัวหลังวิกฤติสิ้นสุดลง และเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อใหม่ของโลก การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจหลายอย่างขึ้นอยู่กับการกระตุ้นจากรัฐฯ ไม่ใช่กลไกตลาด บวกกับความซับซ้อนของตลาดการเงิน ความยุ่งเหยิงทางการเมือง และความสับสนของนโยบายสำคัญๆ ทำให้ยากที่จะปฏิเสธว่า โอกาสเกิดภาวะ Positive Correlation น่าจะมีอีก แล้ว…นักลงทุนควรทำอย่างไร

Positive Correlationคือภาวะที่ราคาสินทรัพย์เคลื่อนไหวในทางเดียวกัน เช่น พร้อมใจกันขึ้นในช่วง BREXIT หรือพร้อมใจกันลงตอนที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก ที่เกริ่นว่า Positive Correlation ไม่เกิดบ่อย เพราะปกติ ราคาสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น จะเคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามกับสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น พันธบัตรและทองคำ ทำให้นักลงทุนมืออาชีพผสมผสานหลายสินทรัพย์ในพอร์ตเพื่อความสม่ำเสมอของผลตอบแทน

จะว่าไป ถ้า Positive Correlation เกิดแบบที่ราคาสินทรัพย์ทุกชนิดพุ่งขึ้น คงไม่มีใครสนใจ เพราะลงทุนอะไร ก็กำไรไปหมด เพียงแค่กำไรมากหรือน้อยต่างกันไป สิ่งที่สร้างความกังวลที่แท้จริงคือหากเป็น Positive Correlation ที่ลงทุนอย่างไร ก็หนีการขาดทุนไม่ได้ โดยเฉพาะระยะหลังๆ มักเกิดช่วงการตัดสินใจของเฟด เหตุการณ์ที่พอจะจำกันได้ เช่น ปี 2556 ที่เฟดส่งสัญญาณจะยกเลิก QE หรือที่รู้จักกันในนาม ‘Taper Tantrum’ หรือการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดหลังวิกฤต เมื่อปลายปี 2558 และเมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา หลัง Jackson Hole Economic Symposium ซึ่งนับเป็นกรณีล่าสุดที่ราคาสินทรัพย์เกือบทุกชนิดลดลง นักวิเคราะห์หลายสำนักได้พยายามอธิบายสาเหตุของปรากฏการณ์ดังกล่าว สรุปได้ 3 ประการ ดังนี้

ประการแรก ความกังวลของนักลงทุนต่อการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่เร็วกว่าคาด และจะทำให้การเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมาสิ้นสุดลง

ประการถัดไป อาจเป็นเหตุผลด้านเทคนิคของ Quant Fund บางประเภทที่ใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์และความเสี่ยงในการตัดสินใจ ที่ผ่านมา ความผันผวนในตลาดการเงินลดลงจนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ทำให้บางโมเดลส่งสัญญาณซื้อสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นๆ จนเริ่มแตะจำนวนสูงสุดที่ลงทุนได้ นอกจากนี้ เมื่อใดที่ความผันผวนเพิ่มขึ้น อาจเป็นสัญญาณขาย

ประการสุดท้าย อาจเป็นเพราะนักลงทุนเริ่มกังวลต่อความสามารถของธนาคารกลางและประสิทธิภาพของนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะจากยุโรปและญี่ปุ่น ที่เศรษฐกิจยังต้องการการกระตุ้นเพิ่มเติม

สิ่งสำคัญที่นักลงทุนควรทำในสถานการณ์ที่ตลาดผันผวนสูงนี้คือตระหนักว่าความกังวลนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะวันนี้ดอกเบี้ยทั่วโลกต่ำเป็นประวัติการณ์ ธนาคารกลางพร้อมสร้างสรรค์เครื่องมือใหม่ๆ ตลอดเวลา ซึ่งอาจจะใช้ได้บ้างหรือทำให้นักลงทุนผิดหวังบ้าง นักลงทุนต้องดึงตัวเองออกจากความตระหนกจากราคาสินทรัพย์ที่ปรับลง และตั้งคำถามกับตัวเองว่า“แรงเทขายที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันนี้ เป็นสัญญาณเริ่มต้นของปัญหาทางปัจจัยพื้นฐานและจะยืดยื้อ หรือเป็นเพียงการปรับฐานจากความกังวลชั่วคราวเท่านั้น” จะเห็นได้ว่า หลังจาก Positive Correlation ทั้ง 3 ครั้ง ไม่นานตลาดก็กลับคืนสู่ภาวะปกติ

หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วน การที่ธนาคารกลางต่างๆ  จะยุติมาตรการผ่อนคลายทางการเงินที่ใช้พยุงและกระตุ้นเศรษฐกิจตลอดมาในทันทีนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะหลายประเทศตกอยู่ในภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจเปราะบาง สหรัฐฯ เองก็ต้องสงวนท่าที เนื่องจากนโยบายทางการเงินที่กำลังจะทำ สวนทางกับประเทศอื่นๆ เฟดต้องระมัดระวังไม่ดำเนินการหรือสื่อสารกับตลาดผิดพลาดเช่นอดีต รวมทั้งต้องดูแลผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเสถียรภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอีกด้วย

เฟดผ่านประสบการณ์เรื่องนี้หลายครั้ง ล่าสุดเมื่อเลือกที่จะคงดอกเบี้ย เฟดพยายามสื่อสารกับตลาดให้ชัดเจนมากขึ้น ทำให้ความกังวลของนักลงทุนคลี่คลายลง ตลาดการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ การลงทุนแบบผสมผสานและกระจายความเสี่ยงกลับมาทำงานได้ดีอีกครั้ง