ทางออกสวยทีโอที

ทางออกสวยทีโอที

ดูๆ แล้วน่าจะเป็นอีกทางออกที่สวยงาม ของ บมจ.ทีโอที ที่ล่าสุด

 ได้ร่วมมือกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และมูลนิธิการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จัดทำโครงการ“ตู้โทรศัพท์ช่วยชีวิต” โดยนำตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ทีโอทีมีอยู่ทั่วประเทศ 1.2 แสนตู้ แบ่งเป็นในเขต กทม. 2 หมื่นตู้ และเขตภูมิภาค 1 แสนตู้ ซึ่งอดีตตู้โทรศัพท์สาธารณะเหล่านี้ถือเป็นสิ่งจำเป็น เพราะทุกบ้านไม่ได้มีโทรศัพท์ใช้งาน หรือเวลาออกนอกสถานที่ก็ต้องใช้โทรศัพท์สาธารณะติดต่อสื่อสารกัน ต่างจากปัจจุบันที่โทรศัพท์มือถือแพร่หลาย กระจายครอบคลุมทั่วประเทศ และคนทั่วไปก็มีสิทธิหามาใช้งานได้ด้วยราคาเครื่องที่หลากหลาย รวมทั้งอัตราค่าบริการที่พอจะจัดสรรได้

อดีตเกิน 10 ปีมาแล้ว ทีโอทีเคยทำรายได้จากตู้โทรศัพท์สาธารณะได้ตู้ละกว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือน ทำรายได้ต่อปีให้ทีโอทีหลายหมื่นล้านบาท แต่ถึงปัจจุบัน รายได้ลดลงเหลือเพียง 250 บาทต่อตู้ต่อเดือน ลดลงนับร้อยเท่า หรือรวมแล้วประมาณ 288 ล้านบาทต่อปี ตามสภาวะความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และความต้องการใช้งานของผู้ใช้ แต่ตู้โทรศัพท์สาธารณะยังจำเป็นต้องมีตามกฎหมายที่กำหนดให้ทุก 50 เมตรต้องมีตู้โทรศัพท์สาธารณะ 1 ตู้ ทีโอทีจึงต้องปฎิบัติตาม แต่จะให้บริการโดยไม่มีรายได้คงไม่ใช่ ฉะนั้น การหารายได้อื่นๆ ควบคู่ไปกับบริการโทรศัพท์สาธารณะจำเป็นต้องมี และต้องทำ เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นประชาชนก็ยังได้พึ่งพาโทรศัพท์สาธารณะได้ และในประเทศที่เจริญแล้ว แม้พื้นที่ห่างไกลก็ยังมีโทรศัพท์สาธารณะไว้ให้บริการ ถือว่าเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนได้ทางหนึ่ง

แผนการพลิกฟื้นตู้สาธารณะของทีโอที เป็นแผน 2 ปี มี 3 แนวทาง คือ 1. มีบริการตู้เติมเงินจากบริการบุญเติม ใช้เติมเงินเข้าโทรศัพท์มือถือ เกมออนไลน์ จ่ายบิลค่าสาธารณูปโภค โดยมีสัญญาร่วมกับบริษัท ฟอร์ท ตามแผน 2 ปีต้องติดตั้ง 6,000 ตู้ โดยปีนี้ติดตั้งไปแล้ว 3,000 ตู้ มีรายได้จากค่าเช่าต่อตู้เดือนละ 650 บาท 2.มีบริการโฆษณาติดที่ตู้สาธารณะมีรายได้เดือนละ 800 บาทต่อตู้ ปัจจุบันมีสัญญากับบริษัท แพลนบี จำกัด ติดโฆษณาในตู้เขตนครหลวง และ 3. บริการติดตั้งไวไฟตามตู้สาธารณะบริเวณป้ายรถเมล์ และรถไฟฟ้าซึ่งฝ่ายงานธุรกิจโมบายจะเลือกว่าจะให้บริการบนคลื่นความถี่ใดระหว่าง 2100 หรือ 2300 เมกะเฮิรตซ์ เป็นการหาบริการท็อปอัพจากรายได้เฉลี่ยของตู้สาธารณะแต่ละปี ทีโอทีจะได้ภาระแบกรับค่าซ่อมบำรุงไปตามลำพัง

ความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน เพื่อติดตั้งและฝึกใช้เครื่อง Automated External Defibrillator (AED) ในโครงการ “ตู้โทรศัพท์ช่วยชีวิต” ตามแผน 4 ปีติดตั้ง 300 ตู้จะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของประชาชน ที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกสถานพยาบาล โดยการติดตั้งเครื่อง AED ในตู้โทรศัพท์สาธารณะ ซึ่งติดตั้งในสถานที่ที่มีโอกาสและความเสี่ยง ในการเกิดภาวะฉุกเฉินนอกสถานพยาบาล และสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีประชาชน เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ได้แก่ สถานีรถไฟ สถานีรถโดยสารประจำทาง สนามบิน ท่าเรือ และการขนส่งมวลชนที่มีระยะทางไกลและมีผู้โดยสารจำนวนมาก ฟิตเนสเซ็นเตอร์ สปอร์ตคลับ หรือสนามกีฬา ห้างสรรพสินค้า และย่านร้านอาหารขนาดใหญ่ ที่มีปริมาณผู้มาใช้บริการ 5,000 คนต่อวัน รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ สถานที่สาธารณะขนาดใหญ่ ดูๆ แล้วน่าจะมีประโยชน์และได้ช่วยชีวิตผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย เพราะกรณีสมองคนขาดออกซิเจนไปเลี้ยงเกิน 4 นาที จะมีผลทำให้เกิดการสูญเสียของเซลล์สมองบางส่วนไปได้อย่างถาวร แม้หัวใจจะกลับมาเต้นใหม่ได้ในภายหลัง แต่สมองส่วนที่เสียไปแล้วจะทำให้ผู้ป่วยฟื้นคืนสติกลับมาได้ไม่สมบูรณ์ดังเดิมอีก

การช่วยชีวิต ขั้นพื้นฐานหรือที่เรียกว่า “CPR” ถือเป็นหนึ่งวิธีการที่จะยื้อชีวิตของผู้ป่วย ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นกระทันหันได้เป็นอย่างดี และการช่วยฟื้นคืนชีพจะได้ผลดี ต้องทำควบคู่กับการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจ ด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) จะเพิ่มโอกาสรอดถึง 45% ให้แก่ผู้ป่วย ส่วนทีโอทีได้รับเงินค่าเช่าตู้ละ 1,350 บาท