เกี่ยวอะไรกับเรา:เศรษฐกิจจีนถึงขั้นวิกฤตหรือแค่ชะลอตัว(2/3)

เกี่ยวอะไรกับเรา:เศรษฐกิจจีนถึงขั้นวิกฤตหรือแค่ชะลอตัว(2/3)

“เกี่ยวอะไรกับเรา” ฉบับนี้เป็นตอนที่ 2/3 ในการพิจารณาว่าเศรษฐกิจจีน ถึงขั้นวิกฤตหรือแค่ชะลอตัว

  ซึ่งมุมมองทั้งสองนี้ต่างก็มีข้อมูลและเหตุผลสนับสนุนว่าอยู่ในวิสัยที่เกิดขึ้นได้

กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อว่าเศรษฐกิจจีนกำลังเข้าขั้นวิกฤต มุ่งประเด็นไปที่การขยายตัวของหนี้รวม โดยเปรียบเทียบสถานการณ์ของจีนว่า มีความคล้ายคลึงกับวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 จากการขยายตัวของวงจรสินเชื่อที่ไม่ยั่งยืนและมีความเกี่ยวเนื่องกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยมองว่าปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจจีนยังสามารถประคองตัวอยู่ได้นั้นคือ การขยายสินเชื่ออย่างต่อเนื่องของภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ถึงจะสร้างงานเพิ่มแต่เป็นการบริหารเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนลดลงและถือเป็นระเบิดเวลาขนาดใหญ่ของจีน

นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มที่สองกลับมองเศรษฐกิจจีนว่า มีเกราะป้องกันจากวิกฤต เพราะสามารถใช้นโยบายแทรกแซงการบริหารเศรษฐกิจตามบริบทของพรรคคอมมิวนิสต์จีนผ่าน 4 ใน 5 ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของโลก คือ ICBC CCB ABC และ BOC ซึ่งถึงแม้จะมีหนี้เสียจำนวนมาก ก็สามารถที่จะตัดค่าใช้จ่ายออกจากบัญชีผ่านการแปลงหนี้เป็นทุนไปยังบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน โดยเป็นสิ่งที่ทางการจีนเคยทำมาแล้วในอดีต

หากพิจารณาอย่างเป็นกลางโดยตัดสถานการณ์สุดขั้วออก จะเห็นว่าทั้งสองแนวคิดมีความเห็นตรงกันที่มองว่าการเติบโตผ่านการลงทุนจากรัฐนั้นมีความอิ่มตัว อีกทั้งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในระยะยาวเนื่องจากผลแห่งนโยบายนั้นทำให้ธุรกิจสถาบันการเงินกลายเป็นกำลังหลักในการสร้างผลกำไรทางเศรษฐศาสตร์ของจีน โดยมีสัดส่วนถึง 80% (แตกต่างจากสหรัฐอเมริกา ที่ผลกำไรทางเศรษฐศาสตร์มาจากนวัตกรรมภาคอุตสาหกรรม) ซึ่งถึงแม้สินเชื่อจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องแต่ประสิทธิผลนั้นลดลงไปมากเมื่อเทียบกับอดีต กล่าวคือ หากจีนต้องการเพิ่มผลผลิต 1 หน่วย GDP ในปัจจุบันจีนจะต้องเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรมากกว่าช่วงปี 2533 - 2543 ถึง 60%

ข้อมูลข้างต้น ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลในเศรษฐกิจจีน แต่ผมกลับมีความเห็นว่า สื่อและนักวิชาการส่วนใหญ่มีความคาดหวังที่เกินจริงต่ออัตราการเติบโตจากเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่อย่างจีน อีกทั้งในหลายครั้ง มองสถานการณ์ของจีนเลวร้ายเกินไป เนื่องจากถกเถียงผ่านบรรทัดฐานของระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี ซึ่งอาจใช้ไม่ได้เสมอไปในการวิเคราะห์ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจรวมถึงนโยบายการแก้ไขปัญหาจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน

หนึ่งในงานวิจัยที่ผมเห็นว่า มีความครอบคลุมและอยู่บนสมมติฐานที่สมเหตุผลคือ งานวิจัยของบริษัท แมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี ที่ได้มีการทดสอบภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ (Stress Test) โดยพิจารณาความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่ภาคธนาคารถือครองรวมถึงการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับภาคธนาคารเงา และสถานะภาพในการดำรงเงินกองทุนหากสูญเสียเงินฝากและผลกำไรลดลงจนติดลบ งานวิจัยนี้พบว่า ตัวเลขที่แท้จริงของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในปี 2558 น่าจะอยู่ประมาณ 7% โดยสูงกว่าตัวเลขอย่างเป็นทางการที่จีนเปิดเผยที่ 1.7% อยู่มาก และหากตัวเลขการประมาณการเป็นจริง หนี้สูญทั้งหมดที่เกิดขึ้นในระบบจะขยับขึ้นถึง 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สมมุติฐานข้างต้น ยังได้มีการประเมินต่อไปข้างหน้าจนถึงปี 2562 โดยคาดว่าหากนโยบายการลงทุนจากรัฐยังดำเนินต่อไปบนการขยายตัวของวงจรสินเชื่อที่ไม่รัดกุม รัฐอาจต้องเข้าช่วยเหลือภาคธนาคารในการเพิ่มทุนถึง 15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้กรณีเลวร้ายนี้จะเกิดขึ้นจนทางการต้องเข้าช่วยเหลือและส่งผลให้หนี้ต่อ GDP ของจีนจากเดิม 50% เพิ่มไปอยู่ที่ระดับ 65% ตัวเลขนี้ยังถือว่า ต่ำกว่าสหรัฐอเมริกาและเยอรมนีอยู่มาก ซึ่งตาข่ายความปลอดภัยนี้ยังไม่รวมถึงทุนสำรองเงินตราต่างประเทศและสินทรัพย์อื่นอีกมากที่ทางการจีนถือครองอยู่ ปัจจัยเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า พื้นฐานของเศรษฐกิจจีนยังถือว่ามีความเข้มแข็งอยู่พอสมควร การหลีกเลี่ยงวิกฤตเศรษฐกิจหากเกิดขึ้นสามารถทำได้ไม่ยากนัก

โดยสรุป ถึงแม้จีนจะไม่สามารถรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจได้เช่นก่อนจนเป็นที่มาของวลี “ความปกติในรูปแบบใหม่” แต่โอกาสที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่บนข้อมูลที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันนั้นไม่น่าจะมี  ในฉบับหน้าซึ่งเป็นตอนสุดท้าย 3/3 เรามาดูกันครับว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลกระทบต่ออาเซียนและไทยอย่างไร