กรณี'เที่ยวไทยมีเฮ' ตัวอย่างแก้ขัดแย้ง

กรณี'เที่ยวไทยมีเฮ' ตัวอย่างแก้ขัดแย้ง

ความขัดแย้งทางความคิด เกี่ยวกับดราม่ามิวสิควีดิโอ “เที่ยวไทยมีเฮ”

 ในประเด็นทศกัณฐ์ทำกิจกรรมหลายอย่างเชิงไลฟ์สไตล์ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่แวดวงโซเชียลมีเดีย เจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม ตลอดจนนายกรัฐมนตรี แม้จะได้ข้อสรุปจนมีการปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนของมิวสิควีดิโอ ประหนึ่งว่าเป็นการพบกันครึ่งทาง ระหว่างฝ่ายที่เห็นว่าไม่มีอะไรเสียหายและฝ่ายที่เห็นว่าไม่เหมาะสม

อันที่จริง ประเด็นความขัดแย้งทางความคิดในเรื่องพฤติกรรมของทศกัณฐ์ ในแง่ของเนื้อหาสาระแทบไม่มีอะไรที่ต่าง จากความขัดแย้งทางความคิด ของผู้คนในสังคมอีกมากมายที่เกิดขึ้นในสังคมไทยสมัยใหม่ เป็นความขัดแย้งทางความคิดระหว่าง“สิ่งใหม่” กับ“สิ่งเก่า” ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วในหลายมิติของสังคม อาทิ ในเรื่องความคิดทางการเมือง ระหว่างประชาธิปไตยกับอนุรักษนิยม วัยรุ่นกับพ่อแม่ วัฒนธรรมไทยสมัยใหม่กับวัฒนธรรมไทยดั้งเดิม ฯลฯ

จากการติดตามความขัดแย้งทางความคิดเห็นต่อกรณีนี้ พบว่ามีประเด็นที่น่าพิจารณาถึงการคลี่คลายของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างน่าสนใจ ซึ่งในระยะแรกดูเหมือนว่าแต่ละฝ่ายต่างมีกองเชียร์ของตัวเอง และที่สำคัญคือการยึดถือในเหตุผลของแต่ละฝ่ายนั้นไม่อาจไปด้วยกันได้ เนื่องจากแต่ละฝ่ายต่างมีเหตุผลของตัวเอง โดยเห็นว่าความเห็นของอีกฝ่าย“ไม่เหมาะสม” “ลืมความเป็นไทย” “โบราณ” “เต่าล้านปี” ซึ่งเป็นคำที่สรรหามากล่าวตำหนิติเตียนอีกฝ่าย

หากพิจารณาการโต้แย้งในเรื่องทศกัณฐ์ให้กว้างออกไปในเรื่องอื่นของสังคม เราจะพบว่าตรรกะของความขัดแย้งแทบจะไม่มีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะในเรื่องความเห็นทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งมีฝ่ายที่เห็นว่าการเมืองจำเป็นต้องการปฏิรูปครั้งใหญ่เพื่อให้สังคมกลับเข้าสู่ระบบระเบียบอย่างที่ควรจะเป็น กับอีกฝ่ายที่เห็นว่ากฎกติกาทางการเมืองในร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเรื่องอื่นอีกมากที่จะตามมานั้นเป็นความล้าหลังของการเมืองการปกครองประเทศ

ในเรื่องความขัดแย้งทางความคิดต่อกติกาของประเทศที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาในขณะนี้ ผู้ติดตามอาจตัดสินกันเองว่าใครเป็นฝ่ายไหน ใครอยู่ฝ่าย“เที่ยวไทยมีเฮ” หรือ “ฝ่ายกระทรวงวัฒนธรรม” เพราะหากเรามองไปที่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ในบางกรณีฝ่ายที่มองว่าตัวเองเป็นคนหัวก้าวหน้า ก็อาจกลายเป็นพวกเดียวกับกระทรวงวัฒนธรรม และฝ่ายที่ถูกมองว่าเป็นพวกล้าหลัง หากมองดีๆ ก็อาจเป็น “พวกเที่ยวไทยมีเฮ” ก็เป็นได้ เพราะกลุ่มที่มองว่าเป็นคนสมัยใหม่ เมื่อมาเจอกับบางสถานการณ์อาจกลายเป็นคนล้าหลังก็ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การคลี่คลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ซึ่งแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเนื้อสำคัญๆของ“ทศกัณฐ์” และก็ดูเหมือนว่าทุกฝ่ายจะพอใจระดับหนึ่งต่อการปรับแก้ไข กล่าวคือ ไม่ได้แก้ไขจนตัดเนื้อหาสาระสำคัญ ในขณะเดียวกันก็ยังมีพฤติกรรมแบบเดิมปรากฏให้เห็น แม้ในที่สุดแล้วข้อถกเถียงดังกล่าวจะยังคงมีอยู่ต่อไปอีกนาน ซึ่งขึ้นกับว่าแต่ละคนอยู่ตรงจุดไหนของสังคม แต่ก็ถือว่าความขัดแย้งได้ถูกขจัดออกไปจนเป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย

ดังนั้น กรณีของความขัดแย้งในเรื่องอื่นๆ ของสังคมไทยในขณะนี้ หากมีการแก้ไขอย่างกรณีของ“เที่ยวไทยมีเฮ” เราก็เชื่อว่าจะช่วยทำให้ความขัดแย้งไม่บานปลายออกไป ซึ่งบทเรียนสำคัญของกรณีนี้คือคู่ความขัดแย้ง ต่างก็รับฟังเหตุผลและข้อท้วงติงของแต่ละฝ่าย ทำให้การแก้ปัญหาสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เราหวังว่ากรณีอื่นๆน่าจะใช้วิธีการแก้ปัญหาเช่นเดียวกันนี้ เพราะสังคมไทยยังต้องเผชิญกับความขัดแย้งเช่นนี้ไปอีกนาน เพราะหากไม่มีวิธีการที่ดีพอ ก็จะเกิดความขัดแย้งในหลายเรื่องระดับประเทศดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน