ธนาคารกลางญี่ปุ่นสไตล์ Boxer

ธนาคารกลางญี่ปุ่นสไตล์ Boxer

แต่ไหนแต่ไรมา นายฮิเรอิโกะ คูโรด้า ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือ BOJ ขึ้นชื่อว่าเป็นมวยประเภทบู๊ล้างผลาญ

 ถ้าไม่คิดว่าจะดำเนินมาตรการอะไรเพิ่มก็จะอยู่เฉยๆไม่คิดออกอาวุธ แต่บทถ้าจะลุย ก็ถือเป็นจอมเซอร์ไพร์สคนหนึ่งของวงการ มักจะทำให้ตลาดแปลกใจอยู่บ่อยๆ ในยามที่หลายฝ่ายคาดว่าเขาจะอยู่เฉยๆ นายคูโรด้าก็มักจะทำในสิ่งที่ทุกคนมิได้ตั้งเนื้อตั้งตัวว่าจะเกิดขึ้น

ทว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น นายคูโรด้าก็ทำในสิ่งที่ทุกคนคาดไม่ถึงอีกครั้ง ทว่าคราวนี้เป็นการคาดไม่ถึงที่เขาได้เปลี่ยนสไตล์จากมวยบุกบู๊ล้างผลาญ ที่เน้นการออกนโยบายการเงินแบบลดดอกเบี้ยให้ติดลบมากขึ้นไปอีกหรือเพิ่มปริมาณการพิมพ์เงินไปเรื่อยๆ มาเป็นมวยแบบเชิงลีลาหรือ Boxer นั่นคือเน้นการเล่นกับกลยุทธ์ใหม่ๆด้วยการที่ยังใช้อาวุธเท่าเดิม โดยมาตรการมีรายละเอียด ดังนี้

หนึ่ง เน้นการเพิ่มความคล่องตัวให้กับนโยบายการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE ด้วยการยกเลิกกฎเกณฑ์ที่ต้องทำให้อายุคงเหลือพันธบัตรของรัฐบาลญี่ปุ่นไม่ให้เกินระยะเวลาหนึ่ง รวมถึงไม่จำกัดให้ต้องซื้อตราสารทางการเงินอยู่ที่เดือนละ 80 ล้านล้านเยนอีกต่อไป ซึ่งตรงนี้ ถือเป็นการทำลายกำแพงวัฒนธรรมอนุรักษ์นิยมที่จะมีเกณฑ์สำหรับการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน

สอง สร้างแพ็คเกจนโยบายการเงินด้วยการผสมเครื่องมือระหว่าง QE กับ Operation Twists ของธนาคารกลางสหรัฐหรือ Fed ภายใต้ชือใหม่ว่า การควบคุมเส้นโค้งอัตราดอกเบี้ย (Yield curve control) โดยจะเน้นการลดลงของทั้งอัตราดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและระยะยาว ผมมองว่าตรงนี้ถือเป็นนวัตกรรมทางนโยบายการเงินของวงการธนาคารกลางเลยทีเดียว ที่มีการพูดถึงการบริหารอัตราดอกเบี้ยแบบทั้ง Yield Curve แม้จะถือว่าเป็นเหล้าเก่าของ Fedในขวดใหม่ของ BOJ ก็ตาม และที่สำคัญ เท่ากับว่า BOJ ยอมรับว่านโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบนั้นไม่เหมาะที่จะใช้กับเศรษฐกิจญี่ปุ่น

สาม สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการจัดประชุมกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ตลอดเวลามิใช่แค่ช่วงการประชุมนโยบายการเงินรายเดือนเท่านั้น จุดนี้ถือว่าอาจจะเป็นผลเสียได้ เนื่องจากจะสร้างความสับสนให้ตลาด หากประชุมเพื่อเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายถี่เกินไป

สี่ อัตราเงินเฟ้อเป้าหมายแบบสุดโต่ง โดยใช้การเพิ่มปริมาณของฐานเงิน (Monetary Base) แบบไม่อั้น โดยให้คำสัญญาว่าหากอัตราเงินเฟ้อหรือร้อยละการเปลี่ยนแปลงของดัชนีผู้บริโภคเพิ่มขึ้นไม่ถึงร้อยละ 2 ก็จะเพิ่มปริมาณฐานเงินไปเรื่อยๆ ตรงจุดนี้ เป็นลูกไม้ที่นายมาริโอ ดรากิ ประธานธนาคารกลางยุโรปใช้มาเกือบ 3 ปีก่อนทำ QE ผ่านประโยคคลาสสิคที่ว่า ‘เชือผมเถอะ จะดำเนินมาตรการต่างๆไม่ว่าจะหนักหรือเบาเพื่อที่จะให้อัตราเงินเฟ้อและเศรษฐกิจยุโรปกลับมาเหมือนเดิม’

ท้ายสุด เปลี่ยนการโฟกัสจากมิติของอัตราดอกเบี้ยมาเป็นมิติปริมาณเงิน เพื่อหลีกเลี่ยงการผันผวนของค่าเงินเยนเมื่อตอนที่ใช้มาตรการอัตราดอกเบี้ยติดลบช่วงต้นปีนี้ ด้วยการเพิ่มเครื่องมือใหม่ 2 ประเภท ได้แก่ หนึ่ง การซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ซื้อโดยธนาคารกลางญี่ปุ่นโดยตรง และ สอง การขยายเวลาการให้บริการเงินทุนแก่สถาบันการเงินต่างๆด้วยอัตราดอกเบี้ยคงที่จากอายุสูงสุดที่ 1 ปีในปัจจุบันเป็นสูงสุด 10 ปี ซึ่งค่าเงินเยนที่จะไม่ผันผวนจากมาตรการนี้ จะไม่ไปฉุดรั้งการเติบโตของจีดีพีญี่ปุ่น 

ทั้งนี้ ผมคิดว่ามวยเปลี่ยนสไตล์อย่างคูโรด้า ต้องมีเบื้องหลังเป็นกุนซือมือดีอย่างแน่นอน ซึ่งคีย์แมนก็ไม่ใช่ใครอื่น ต้องเป็นโคตรนายธนาคารกลางที่ดีที่สุดแห่งยุค อย่างนายเบน เบอร์นันเก้ เท่านั้น น่าสังเกตว่าสไตล์ที่ใช้มิติของปริมาณเงินเป็นตัวนำนั้นคือเครื่องมือสุดโปรดของนายเบอร์นันเก้ ที่เคยใช้ผ่าน QE ปราบวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์แบบอยู่หมัดมาแล้ว แถมยังใส่มาตรการที่เลียนแบบคำพูดสไตล์มาริโอ ดรากิ ในการกล่อมให้ตลาดเชื่อว่าเขาเองมีความจริงจังในการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าไปอีก

โดยที่นายคูโรด้า มาคราวนี้เปลี่ยนจากสายบ้าพลังจอมเซอร์ไพร์ส มาเป็นสายพลิ้ว โดยใช้มาตรการต่างๆที่มีกุนซือต้นตำหรับ QE มาเป็นคนช่วยคิด ถือว่าสอบผ่านแบบสบายๆในการประชุม BOJ เที่ยวนี้ 

อย่างไรก็ดี หากมองให้ลึกแล้ว นายคูโรด้าก็ยังกลับมาสร้างความประหลาดใจให้ตลาดได้แบบเนียนๆ เพียงแต่ครั้งนี้เป็นการเซอร์ไพร์สด้วยสไตล์ที่เปลี่ยนไปจากเดิม วันพุธหน้าผมจะเจาะลึกมาตรการใหม่ๆที่ออกมาเมื่อวานของ BOJ รวมถึงประเมินผลกระทบต่อตลาดหุ้น อัตราแลกเปลี่ยนและตลาดพันธบัตร อย่าพลาดกันนะครับ