ข้อคิดเห็นต่อร่างกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ (1)

ข้อคิดเห็นต่อร่างกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ (1)

ท่านผู้อ่านคงจะพอได้ยินนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยกันมาบ้าง

โดยนโยบายนี้เริ่มกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศไปสู่ยุคของสังคมดิจิทัล รัฐบาลโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (เดิมคือกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) ได้มีการเสนอร่างกฎหมายฉบับใหม่ และปรับปรุงกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันหลายฉบับเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินการตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล และหนึ่งในกฎหมายที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไข ได้แก่ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (“กฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ”) เพื่อการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (“กสทช.”) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมของประเทศ ให้เป็นไปในแนวทางและสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ตามนโยบายของรัฐบาล

ผู้เขียนได้ศึกษาร่างแก้ไขกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตและมีความสงสัยในบทบัญญัติที่มีการแก้ไขหลายมาตรา วันนี้ผู้เขียนจึงอยากนำเอาข้อสังเกตและความสงสัยดังกล่าวในบางประเด็นมาเล่าสู่กันฟังกับท่านผู้อ่าน และอยากฝากข้อสังเกตและข้อสงสัยเหล่านี้ไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องของสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า ร่างแก้ไขกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในขณะนี้มีช่องว่าง ความขัดแย้ง หรือความเป็นไปได้ที่เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนจากโครงสร้างของ กสทช. หรือไม่ ตลอดจนความชัดเจนของบทบัญญัติที่แก้ไขนั้นเพียงพอที่จะไม่ทำให้เกิดการตีความหรือความขัดแย้งของผู้ที่นำกฎหมายไปใช้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด เรามาเริ่มศึกษาและลองคิดไปพร้อม ๆ กันค่ะ

ประเด็นที่หนึ่ง การแก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของ กสทช.

ร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 7 ก. เกี่ยวกับคุณสมบัติทั่วไปของ กสทช. แต่เดิมกำหนดไว้เพียง 2 เรื่องคือ ต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยโดยการเกิด และกำหนดอายุที่ต้องไม่ต่ำกว่า 35 ปี แต่ไม่เกินกว่า 75 ปีบริบูรณ์เท่านั้น

ร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ กำหนดคุณสมบัติทั่วไปเพิ่มขึ้นมาอีก 4 ข้อ ได้แก่ กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนหรือพนักงานในหน่วยงานอื่นของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจเป็นกรรมการของ กสทช. ได้ กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่รองศาสตราจารย์ขึ้นไป หรือผู้เป็นนายทหารหรือนายตำรวจที่มียศตั้งแต่ระดับพลโท พลอากาศโท พลเรือโท หรือพลตำรวจโทขึ้นไปเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการใน กสทช. ได้ กำหนดให้ผู้มีประสบการณ์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี ดำรงตำแหน่ง กสทช. ได้ และคุณสมบัติสุดท้ายที่ผู้เขียนขอตั้งเป็นข้อสังเกตในบทความฉบับนี้คือ กำหนดให้ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ในตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองกรรมการผู้จัดการใหญ่ในบริษัทมหาชนจำกัดที่มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่าหนึ่งพันล้านบาทเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการใน กสทช. ได้ เรามาศึกษาไปพร้อม ๆ กันค่ะว่า การกำหนดคุณสมบัติในส่วนของผู้บริหารภาคเอกชนให้เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการใน กสทช. ตามมาตรานี้มีอะไรที่เป็นช่องว่างที่อาจนำไปสู่ผลประโยชน์ทับซ้อนในอนาคตได้

การให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงสร้างของกรรมการใน กสทช. ผู้เขียนโดยความเห็นส่วนตัวเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะหากให้มีแต่นักวิชาการ (ที่มีความรู้ความสามารถภาคทฤษฎีเป็นหลัก) หรือมีแต่บุคลากรของหน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียวก็อาจจะไม่ครอบคลุมถึงมุมมองในภาคของการปฏิบัติจริง อย่างไรก็ดี การนำเอาภาคเอกชนเข้ามาเป็นผู้มีส่วนร่วมก็ต้องพิจารณาในเรื่องของความโปร่งใส และการไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้งหรือทับซ้อนด้วย

ปัจจุบันนี้เราคงต้องยอมรับว่า มีการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ประกอบธุรกิจอยู่ในประเทศไทยมีค่อนข้างมาก และบริษัทใหญ่เหล่านี้ก็มีการต่อยอดธุรกิจออกไปหลายด้านหลายสาขา เช่น กลุ่มไทยเบฟ เริ่มต้นจากการผลิตเครื่องดื่ม จากนั้นก็เริ่มเข้าสู่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจประกันภัย หรืออย่างกลุ่มโรงพยาบาลพญาไท และโรงพยาบาลเปาโล ซึ่งเริ่มแรกเดิมทีก็ทำธุรกิจโรงพยาบาล ต่อมาก็ขยายไปทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โรงไฟฟ้า จนสุดท้ายก็เข้ามาสู่การทำธุรกิจที่เกี่ยวกับโทรคมนาคม หรือที่เรารู้จักในชื่อของ CTH และกลุ่มสุดท้ายที่จะไม่กล่าวถึงคงจะไม่ได้คือ กลุ่มซีพี ที่ต่อมาขยายธุรกิจมาทำกิจการด้านโทรคมนาคม และกิจการโทรทัศน์ หรือที่เรารู้จักกันในนามของกลุ่มทรู

จากโครงข่ายการประกอบธุรกิจที่โยงใยของบริษัทใหญ่นี้เองที่ผู้เขียนอยากตั้งเป็นข้อสังเกตว่า การที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการของ กสทช. ให้รวมถึง “ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ในตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองกรรมการผู้จัดการใหญ่ในบริษัทมหาชนจำกัดที่มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่าหนึ่งพันล้านบาท” นั้น จะมีการทับซ้อนกันของผลประโยชน์หรือไม่ ผู้เขียนยกตัวอย่างว่า บริษัท ก ประกอบธุรกิจผลิตอาหาร (โดยบริษัท ก เป็นบริษัทในกลุ่มหรือบริษัทในเครือของบริษัท ข ซึ่งประกอบกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม) โดยผู้บริหารของบริษัท ก เป็นผู้มีคุณสมบัติทั่วไปตามร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฯ เข้ามาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใน กสทช. จะถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน หรืออาจส่งผลให้มีการเอื้อประโยชน์ได้หรือไม่ เป็นต้น ตรงนี้ผู้เขียนมองว่าเป็นช่องว่างและเป็นส่วนที่สำคัญมากในประเด็นเรื่องของความโปร่งใส และความเป็นกลางในฐานะที่ กสทช. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมของประเทศ

------------

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่

--------------------

กุลชา จรุงกิจอนันต์,

อมราพร สัจจารักษ์ตระกูล

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทยจำกัด