ใครคือผู้สร้างนวัตกรรม

ใครคือผู้สร้างนวัตกรรม

เรื่องของนวัตกรรมเป็นเรื่องที่ธุรกิจในยุคนี้ต้องให้ความสำคัญ เพราะถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเติบโตและความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ

ไม่ว่าจะเป็นในมุมกว้างที่ครอบคลุมระบบเศรษฐกิจของประเทศ หรือในมุมแคบที่โฟกัสไปกับสตาร์ทอัพหรือธุรกิจเริ่มใหม่

มีความพยายามที่จะหาคำตอบให้ได้ว่า ในระบบเศรษฐกิจหรือในเชิงธุรกิจแล้ว ใครคือผู้ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างนวัตกรรมให้กับองค์กรหรือให้กับธุรกิจ ทำให้นักวิชาการด้านการบริหารการเติบโตของธุรกิจทำการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้มาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1930 หรือกว่า 80 ปีมาแล้ว

ในยุคเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตมนุษย์จากการพึ่งพาธรรมชาติ เกิดการค้นคว้าวิทยาการใหม่ๆ นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบวิชาการต่างๆ มากมายเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิชาคณิตศาสตร์ เคมี ชีวะ หรือฟิสิกส์ เพื่อศึกษาเข้าใจกลไกต่างๆ ของธรรมชาติ

และมีการนำองค์ความรู้ที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบปรากฏการณ์ในธรรมชาติ มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตประจำวันให้แก่มนุษย์

เช่น การสร้างเครื่องผ่อนแรงต่างๆ ตั้งแต่ กังหันน้ำ กังหันลม จนพัฒนาต่อมาเป็น เครื่องจักรไอน้ำ และเครื่องยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงในการเผาไหม้ที่ใช้กันในปัจจุบัน

การค้นพบหลักการของการเกิดกระแสไฟฟ้า ทำให้สามารถนำไฟฟ้ามาใช้เป็นพลังงาน หรือนำมาใช้เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเครื่องคอมพิวเตอร์และระบบอินเทอร์เน็ต ที่ถือได้ว่าเกือบจะเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิตของมนุษย์   

การเปลี่ยนจากความเข้าใจธรรมชาติ นำมาสร้างเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาใช้ประโยชน์นี้ เรียกว่า การสร้างเทคโนโลยี

และเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้นเหล่านี้ เมื่อนำมาใช้สร้างประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือประโยชน์ทางสังคม จะเรียกว่า การสร้างนวัตกรรม

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ในยุคแรกๆ ของการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างนวัตกรรมขึ้นมาเพื่อทำให้ระบบเศรษฐกิจมีการเติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เชื่อว่า นวัตกรรมถูกสร้างขึ้นมาจากบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ที่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ และมีความสามารถในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ขึ้นมาได้

ยกตัวอย่างเช่น โธมัส อัลวา เอดิสัน ผู้คิดค้นหลอดไฟฟ้า หรือ เฮนรี่ ฟอร์ด ซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้รถยนต์ กลายเป็นสิ่งที่คนชั้นกลางสามารถซื้อหามาใช้เป็นการส่วนตัวได้

นวัตกรรมในยุคแรก จึงเกิดขึ้นมาจากผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ และมีจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการ และส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากธุรกิจที่มีขนาดเล็กๆ ก่อน เนื่องจากเป็นสินค้าแปลกใหม่ ที่ผู้คนทั่วไปยังไม่รู้จัก หรือยังไม่กล้าที่จะหาซื้อมาทดลองใช้

แต่เมื่อพบว่า นวัตกรรมเหล่านี้ สามารถใช้งานได้จริง เพิ่มประสิทธิภาพหรือความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งาน สินค้าที่แปลกใหม่เหล่านี้ จึงกลายมาเป็นแหล่งรายได้ที่สร้างความเติบโตและแข็งแกร่งให้กับบริษัทหรือกิจการเล็กๆ ให้เติบโตขึ้นมาเป็นธุรกิจใหญ่ที่มีพื้นฐานมั่นคง

ในยุคต่อมาที่บริษัทต่างๆ มีขนาดใหญ่มากขึ้น การพัฒนานวัตกรรม ก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นจากบุคคลคนเดียวหรือบุคคลกลุ่มเล็กๆ แม้ว่าจะเป็นเจ้าของหรือผู้เริ่มสร้างธุรกิจก็ตาม ผู้ที่จะมีบทบาทในการสร้างนวัตกรรมให้กับธุรกิจ ก็จะกลายเป็นหน่วยงานภายในบริษัท ที่เรียกกันว่า ฝ่ายวิจัยและพัฒนา (Research and Development หรือ R&D)

ทั้งนี้ก็เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่ มีความสามารถในการลงทุนเพื่อจัดหาทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทรัพยากรบุคคล หรือ การสร้างห้องปฏิบัติการเพื่อการค้นคว้าทดลอง

และการแสวงหานวัตกรรม ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ของใครคนใดคนหนึ่งโดยตรง แต่มักจะเกิดขึ้นจากกลยุทธ์ทางธุรกิจที่จะมากำหนดแนวทางของการวิจัยพัฒนา เพื่อนำไปสู่การได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการใหม่ๆ ที่มุ่งเน้นไปยังการตอบสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของตลาดและผู้บริโภค

แม้ว่าระบบของเศรษฐกิจและธุรกิจที่เติบโตขึ้นตามกาลเวลา ก็ใช่ว่า นวัตกรรม จะถูกสร้างขึ้นด้วยการออกแบบหรือมีเป้าหมายไว้ก่อนของฝ่ายวิจัยและพัฒนาในบริษัทขนาดใหญ่ ก็ยังมี นวัตกรรม ที่เป็นแนวคิดล้ำยุคที่เกิดขึ้นจากปัจเจกบุคคล หรือ เจ้าของธุรกิจโดยตรงได้เช่นกัน

ตัวอย่างที่มักจะถูกยกขึ้นมาเพื่ออธิบายว่า นวัตกรรม สามารถสร้างขึ้นมาจากไอเดียของคนๆ เดียวหรือ 2 คน แม้ว่าจะอยู่ในยุคในสมัยที่บริษัทขนาดใหญ่จะได้เปรียบในการสร้างนวัตกรรม ได้แก่ การเกิดของบริษัทแอปเปิล ของ สตีฟ จอบส์ หรือ การเกิดขึ้นของบริษัท ไมโครซอฟต์ ของ บิล เกต เป็นต้น

จึงเป็นที่สรุปได้เป็นทฤษฏีว่า ในปัจจุบัน การสร้างนวัตกรรม สามารถมีที่มาได้จากแหล่งสำคัญ 2 แหล่ง คือ เกิดจากความคิดริเริ่มที่โดดเด่นของบุคคลคนเดียวหรือกลุ่มบุคคลขนาดเล็ก หรือ เกิดขึ้นจากความตั้งใจในการค้นคว้าพัฒนาที่เกิดจากห้องปฏิบัติการอย่างจงใจตามกลยุทธ์ธุรกิจที่องค์กรกำหนดขึ้น

หรืออาจเกิดการผสมผสานกันของแหล่งกำเนิดนวัตกรรมทั้ง 2 แหล่งนี้ ในลักษณะที่เสริมซึ่งกันและกันก็ได้