เงินเสมือนและทิศทางกฎหมายของสหภาพยุโรป

เงินเสมือนและทิศทางกฎหมายของสหภาพยุโรป

ปัจจุบัน เงินเสมือน (Virtual Currencies) เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในภาคการเงินโลก วันนี้จึงมาแนะนำให้ผู้อ่านรู้จัก

กับเงินเสมือนและทิศทางกฎหมายของสหภาพยุโรปกัน เงินเสมือนคือเงินในโลกดิจิตอลที่ถูกสมมติขึ้นและยอมรับภายในกลุ่มผู้ใช้ ไม่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และยังไม่มีธนาคารใดในโลกเป็นผู้ค้ำประกัน อีกทั้งค่าเงินยังมีความผันผวนอย่างมากจากการเก็งกำไรของผู้ซื้อ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการใช้เงินเสมือนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องที่เรียกกันว่า เทคโนโลยี Distributed Ledger Technology (DLT) หรือ Blockchain ซึ่งอยู่เบื้องหลังของ Bitcoin (Bitcoin คือ เงินเสมือนที่โด่งดังเป็นที่รู้จักกันทั่วไปและมีสัดส่วนการใช้มากกว่า 80% ของการใช้เงินเสมือนทั้งหมด) ทำให้ผู้ใช้สามารถทำธุรกรรมโดยตรงระหว่างบุคคลต่อบุคคลหรือบริษัทต่อบริษัทได้ โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางเหมือนเงินตราทั่วไปที่ต้องมีธนาคารเป็นตัวกลาง เงินเสมือนที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain จึงมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำมาก นอกจากนี้ เงินเสมือนยังเป็นเงินในโลกดิจิตอลที่ไม่มีพรมแดนหรือระยะทางเป็นตัวกำหนดความรวดเร็วหรือค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรม เรียกได้ว่า ทั้งง่ายและถูกนั่นเอง

Bitcoin เริ่มใช้งานเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2552 จากการคิดค้นของนาย Satoshi Nakamoto นักพัฒนาโปรแกรมชาวญี่ปุ่นเมื่อปลายปี 2551 และด้วยข้อดีต่างๆ ของเงินเสมือน โดยเฉพาะเงินเสมือนที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain ทำให้ปัจจุบันมีการทำธุรกรรมด้วย Bitcoin มากถึง 250,000 ครั้งต่อวัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 122 ล้านยูโรหรือเกือบ 5 พันล้านบาท โดยเรียกได้ว่าเป็นการขยายตัวแบบก้าวกระโดด จากยอดธุรกรรมเฉลี่ย 70,000 ครั้งต่อวันในปี 2558 ทั้งนี้ แม้ว่าจำนวนเงินในปัจจุบันยังคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับการใช้เงินตราจริง แต่ลักษณะการทำงานของเทคโนโลยี Blockchain ถูกมองว่าเป็น game changer เช่นเดียวกับเทคโนโลยีดิจิตอลอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ที่สามารถเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจได้โดยสิ้นเชิง เช่น กล้องดิจิตอลที่ทำให้บริษัทผลิตฟิล์มถ่ายภาพต้องทยอยปิดกิจการกันเกือบหมด หรือ Google ที่พลิกโฉมการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศ เป็นต้น โดยเทคโนโลยี Blockchain เป็นการปฎิวัติภาคการเงินจากการตัดธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นๆ ที่เป็นตัวกลางที่คอยควบคุมและกำหนดค่าเงินทิ้งไป และให้ผู้ใช้งานทำหน้าที่เป็นธนาคารร่วมกัน ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลางที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางและค่าเงิน ทำให้ธุรกรรมทางการเงินมีความโปร่งใสมากขึ้นโดยผู้ใช้เป็นผู้กำหนดราคาตลาดโดยแท้จริง นอกจากนี้ เทคโนโลยี Blockchain ยังไม่เพียงแต่จำกัดอยู่ในภาคการเงินเท่านั้น แต่สามารถนำไปใช้กับภาคอื่นๆ เช่น การลงคะแนนเลือกตั้ง ได้ด้วย

แม้ว่าเทคโนโลยี Blockchain จะมีความโปร่งใส เนื่องจากการทำธุรกรรมทุกครั้งจะถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูลร่วมที่ผู้ใช้ทั่วโลกสามารถมองเห็นได้ แต่การที่ไม่มีข้อมูลเชื่อมโยงระหว่างบัญชีผู้ใช้บริการกับตัวตนจริงของผู้ใช้เนื่องจากระบบไม่ได้กำหนดให้มีการยืนยันตัวตน ทำให้ระบบนี้ถูกนำไปใช้ในธุรกรรมผิดกฎหมาย เช่น การฟอกเงิน การระดมทุนเพื่อการก่อการร้าย และการเลี่ยงภาษี เป็นต้น อีกทั้งเทคโนโลยีดังกล่าวยังไม่มีการผูกกับเงินตราที่ถูกต้องตามกฎหมาย หากเกิดการฉ้อโกงขึ้น การดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ฉ้อโกงจึงทำได้ยากหรือไม่สามารถทำได้ อีกทั้งยังไม่มีระบบที่สามารถแก้ไขธุรกรรมได้ทันทีที่การทำธุรกรรมสิ้นสุดลง

 

เทคโนโลยี Blockchain กับผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม

ในภาคเศรษฐกิจ เทคโนโลยี Blockchain สามารถตอบโจทย์เศรษฐกิจแบบไร้พรมแดน ซึ่งเป็นจุดแข็งของสหภาพยุโรปได้ดี เนื่องจากในปัจจุบันแม้ว่าสหภาพยุโรปจะมีเงินตราสกุลเดียวกัน สามารถเคลื่อนย้ายทั้งแรงงาน เงินตรา และสินค้า ระหว่างประเทศสมาชิกได้ แต่ยังคงเผชิญปัญหาทั้งด้านระยะเวลาการโอนเงินและขั้นตอนการโอนเงิน โดย Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ขีดจำกัดเหล่านี้หมดไป เนื่องจากการทำธุรกรรมสามารถทำได้รวดเร็วภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง เปรียบเทียบกับการทำธุรกรรมด้านการเงินภายในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปตามปกติที่ใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน

นอกจากนี้ ธุรกรรมทางการเงินที่ใช้เงินเสมือนผ่านเทคโนโลยี Blockchain ยังมีค่าธรรมเนียมต่ำ มีความปลอดภัยด้านเทคนิค และลดขั้นตอนการดำเนินงานทางเอกสารและกฎระเบียบต่างๆ ลง โดยค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมของ Bitcoin ปัจจุบันต่ำกว่า 1% ในขณะที่ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมออนไลน์ของสถาบันการเงินปกติอยู่ที่ประมาณ 2-4% สำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศสมาชิก และมากกว่า 7% สำหรับการโอนเงินออกนอกประเทศสมาชิก ทั้งนี้ จากรายงานของสภายุโรปพบว่าเทคโนโลยี Blockchain สามารถลดค่าธรรมเนียมการโอนได้ถึง 2 หมื่นล้านยูโร

ในภาคสังคม หลายฝ่ายตั้งข้อห่วงกังวลว่า ความเป็นนิรนาม (Anonymity) ของ Blockchain ที่เจตนาถูกออกแบบขึ้นเพื่อให้ไม่สามารถติดตามสถานะของผู้ใช้ได้ จะถูกเหล่าอาชญากรใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน เนื่องจากผู้ใช้สามารถเปิดบัญชีเงินเสมือนได้ โดยไม่จำเป็นต้องระบุข้อมูลส่วนบุคคล และสามารถปิดบังหมายเลขอ้างอิงในการติดต่อสื่อสารหรือ IP Adress อีกทั้งผู้ใช้ยังสามารถเปิดบัญชีได้หลายบัญชีพร้อมกัน เพื่อลดจำนวนเงินที่เคลื่อนไหวในแต่ละบัญชีให้น้อยลง เพื่ออำพรางความน่าสงสัยได้ ซึ่งนอกจากการฟอกเงินแล้ว ลักษณะพิเศษดังกล่าวยังเอื้อต่อการระดมทุนเพื่อการก่อการร้ายอีกด้วย แม้จนถึงปัจจุบันจะยังไม่มีการยืนยันจากหน่วยงานกลางด้านข่าวกรองของสหภาพยุโรปและ Europol ว่า เงินเสมือนได้ถูกใช้ในการระดมทุนเพื่อการก่อการร้ายแล้วหรือไม่ แต่การก่อการร้ายในกรุงปารีสเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ทำให้สหภาพยุโรปตื่นตัวต่อแนวโน้มการใช้เทคโนโลยี Blockchain และเงินเสมือนมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ยังมีความเห็นที่หลากหลายเกี่ยวกับแนวโน้มและผลกระทบในเรื่องนี้ ทั้งกลุ่มที่ต้องการให้ธนาคารกลางเข้ามากำหนดและควบคุมเงินเสมือน เพื่อให้สามารถติดตามค้นหาผู้ใช้ได้ ในแง่ความปลอดภัยของผู้ใช้บริการและการปราบปรามขบวนการก่อการร้าย และกลุ่มที่เห็นว่าการนำกฎหมายเข้ามาควบคุมจะทำลายลักษณะเฉพาะของเทคโนโลยีดังกล่าว โดยในปัจจุบัน ธนาคารกลางในประเทศต่างๆ ลงความเห็นว่า เงินเสมือนยังไม่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินมากนัก ตราบใดที่จำนวนผู้ใช้ยังจำกัดอยู่ในวงแคบและจำนวนของเงินเสมือนไม่ได้พุ่งสูงเกินปกติ อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางในประเทศต่างๆ รวมถึงธนาคารกลางยุโรป (ECB) กำลังจับตามองเงินเสมือนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิตอลสามารถส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในด้านต่างๆ ได้ภายในเวลาอันสั้น

ในขณะที่ ECB ยังคงรอดูอนาคตของเงินเสมือนและเทคโนโลยี Blockchain คณะกรรมาธิการยุโรปได้เร่งตรวจสอบและผลักดันให้มีการปรับปรุงกฎหมายการฟอกเงิน (Anti-Money Laundering Directive: AML) ให้ครอบคลุมเงินเสมือนด้วย เนื่องจากกระแสการก่อการร้าย ซึ่งหลายฝ่ายสงสัยว่าจะอาศัยการระดมทุนจากเงินเสมือน ตลอดจนกรณีการเลี่ยงภาษีของนักการเมืองที่ถูกเปิดเผยโดย Panama Papers ในช่วงก่อนหน้านี้ โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอแผนปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการปราบปรามการฟอกเงิน รวมทั้งยังได้เสนอเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาให้นำเงินเสมือนเข้าไปอยู่ภายใต้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งหากข้อเสนอดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากสภายุโรป ประเทศสมาชิกต้องนำไปปรับใช้ในการต่อต้านการก่อการร้ายภายในปี 2559 นี้ โดยผู้ให้บริการที่ทำธุรกรรมโดยใช้เงินเสมือนต้องระบุตัวตนของผู้ใช้บริการที่เป็นคู่ธุรกรรม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเป็นนิรนามของเทคโนโลยี Blockchain

นอกจากสหภาพยุโรปแล้ว หลายประเทศได้ให้ความสำคัญกับเงินเสมือนและเทคโนโลยี Blockchain ในฐานะที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นมองว่า Blockchain มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนวิธีการให้บริการทางการเงิน และคาดหวังที่จะมีบทบาทนำด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินเพื่อนำมาปรับใช้กับการดำเนินงานของธนาคารในอนาคต

ในขณะที่หน่วยงาน Financial Conduct Authority: FCA ของสหราชอาณาจักรได้อนุมัติสินค้าบางประเภทที่ใช้ระบบ Blockchain ภายในประเทศ โดยเห็นว่าเทคโนโลยีนี้มีศักยภาพในการนำมาปรับใช้กับบริการด้านการเงินที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและภาคธุรกิจ

สำหรับไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เตือนประชาชนให้ระมัดระวัง ศึกษาข้อมูล และทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความคืบหน้าทั้งในแง่ของการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีนี้ เพื่อนำมาปรับใช้ในอนาคต และยังไม่มีการออกข้อบังคับหรือกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตผ่านการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ดังนั้น ผู้ประกอบการด้านการเงินและการธนาคาร ตลอดจนภาครัฐของไทยควรร่วมกันวิจัยและศึกษากลไกการทำงานของเทคโนโลยี Blockchain เกี่ยวกับศักยภาพในการพัฒนาไปสู่การให้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ หรือการเสริมสร้างโอกาสทางธุรกิจในด้านต่างๆ อีกทั้งยังเพื่อเตรียมรับมือ หากแนวโน้มของการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น จนเข้าแทนที่การดำเนินงานรูปแบบเดิม ซึ่งหากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมองข้ามศักยภาพและโอกาสที่เทคโนโลยีนี้มีต่อการดำเนินงานในภาคการเงินและไม่สามารถปรับตัวได้ทัน อาจก่อให้เกิดความเสียหายทั้งด้านโอกาสและด้านเสถียรภาพทางการเงินได้ในอนาคต

-----------------------

ทำความรู้จักกับเงินเสมือน

และเทคโนโลยีBlockchain : ดาบสองคมแห่งยุคดิจิตอล

“วันนี้ หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ Bitcoin และศัพท์ใหม่ที่เรียกกันว่า เงินเสมือน หรือ Virtual Currency แต่เชื่อว่า คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งอยู่เบี้องหลังความสำเร็จของ Bitcoin เทคโนโลยี Blockchain หรือ Distributed Ledger Technology (DLT) ใช้การกระจายฐานข้อมูลธุรกรรมทางการเงินให้กับผู้ใช้ทุกคนแทนการเก็บข้อมูลไว้ที่ใดที่หนึ่งเป็นการเฉพาะ ทำให้ผู้ใช้สามารถทำธุรกรรมโดยตรงระหว่างบุคคลต่อบุคคลหรือบริษัทต่อบริษัทได้ โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางเหมือนเงินตราทั่วไปที่ต้องมีธนาคารเป็นตัวกลาง เงินเสมือนที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain จึงมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำมาก 

นอกจากนี้ เงินเสมือนยังเป็นเงินในโลกดิจิตอลที่ไม่มีพรมแดนหรือระยะทางเป็นตัวกำหนดความรวดเร็วหรือค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรม ทำให้เงินเสมือนที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain เช่น Bitcoin ได้รับความนิยมแพร่หลายอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันแม้การใช้งานเงินเสมือนและเทคโนโลยี Blockchain ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ก็มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตและการดำเนินธุรกิจในอนาคต เนื่องจากสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลายด้าน รวมทั้งยังตอบโจทย์แนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีที่อาศัยการสื่อสารอินเตอร์เน็ตหรือที่เรียกกันติดปากว่า Internet of Things

ทั้งนี้ ลักษณะเฉพาะของการทำธุรกรรมการเงินที่ไม่ต้องมีตัวกลางจะส่งผลกระทบโดยตรงกับกลุ่มธนาคารหรือผู้ให้บริการทางการเงินต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กลุ่มธุรกิจเหล่านี้จับตาดูการพัฒนาของเทคโนโลยี Blockchain อย่างใกล้ชิด และมองหาโอกาสในการปรับใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในธุรกิจของตน

รวมทั้งต้องจับตามองความเคลื่อนไหวที่ภาครัฐจะกำหนดกฎเกณฑ์ให้กับเทคโนโลยีดังกล่าว เนื่องจากหลายฝ่ายมองว่า การทำธุรกรรมนิรนามผ่านการใช้เงินเสมือนอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงินและการระดมเงินเพื่อการก่อการร้ายได้ ซึ่งในส่วนของผู้ออกกฎหมายเองก็กำลังคอยดูว่าแนวโน้มตลาดจะออกมาในรูปแบบและทิศทางใด และควรใช้กฎหมายใดควบคุมโดยไม่เสี่ยงกับการเสียโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่นี้