‘ชอปปิงมอลล์ไทย’กับอนาคตที่น่าเป็นห่วง

‘ชอปปิงมอลล์ไทย’กับอนาคตที่น่าเป็นห่วง

เหลือบแอบไปมองงานวิจัยของสหรัฐ เกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคในการเดิน Shopping Mall อ่านแล้วแอบตกใจเล็กๆ ครับ

ในรายงานวิจัยของ Cushman & Wakefield  พบว่าช่วงปี  2010 – 2013 การไปเดิน Shopping Mall ของคนอเมริกัน ลดลงไปถึง 50% คาดการณ์ว่าจากนี้ไป จะลดลงยิ่งกว่านี้อีก!

พอสถิติออกมาในรูปแบบนี้ คงไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ ที่เราจะอ่านข่าวเจอว่าห้างยักษ์ใหญ่ในอเมริกาทยอยปิดตัวเรื่อยๆ  เช่น Walmart ปิดสาขา เลย์ออฟพนักงานจำนวนมาก, ห้าง Macy's ล่าสุดประกาศว่าปิดห้างไปแล้ว 100 แห่ง! ตามรอย Sears กับ JCPenney ไปแบบติดๆ

ถ้าให้เดา ก็น่าจะเดากันได้ไม่ยากว่าทำไมพฤติกรรมของผู้บริโภคในการเดิน Shopping Mall ถึงเปลี่ยนไปได้มากขนาดนี้ 

ถูกต้องแล้วครับ สาเหตุก็คือ E-commerce นั่นเอง!

ทำไมต้องออกเดินทางให้เสียพลังงาน เสียค่าน้ำมัน ไป Shopping Mall ด้วย  ในเมื่อสามารถสั่งซื้อของจากที่บ้าน!  ที่สำคัญคือ สามารถซื้อสินค้าได้ในราคาถูกกว่าด้วย!

แต่ถ้ามองภาพใหญ่ แบบมหภาค การเสื่อมถอยของ Shopping Mall ในอเมริกา ยังไม่น่าเป็นห่วงมากเท่าไหร่ เพราะจริงๆแล้ว เม็ดเงินยังคงหมุนเวียนอยู่ภายในประเทศ  เงินอาจจะโยกจากกระเป๋า Wall Mart ไปยังกระเป๋าของ Amazon แทน  เงินไม่ได้หายไปไหน คนยังต้องจับจ่ายใช้สอยเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนจาก Offline  เป็น Online

แต่ในทางตรงข้าม ถ้าเกิดว่าพฤติกรรมการเดิน Shopping Mall ของผู้บริโภคในเมืองไทย เดินตามรอยพฤติกรรมผู้บริโภคในต่างประเทศขึ้นมาคนเดิน Shopping Mall ลดลงสัก 50%  ผมเองไม่ค่อยอยากจะจินตนาการเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น!

ผมเองไม่ได้มีตัวเลขวิจัย อะไรมายืนยัน แต่คิดว่าธุรกิจค้าปลีกของไทยเรา มีความโยงไยกับสังคมมากกว่าอเมริกา  ผมไม่ได้มองแค่ส่วนของห้างเท่านั้น แต่มองไปถึงร้านค้าย่อยที่ตั้งอยู่ในห้าง ร้านอาหารโรงหนัง ธนาคาร รถเข็นขายน้ำ ขายลูกชิ้น ที่อยู่รายล้อมห้าง ฯลฯ  

ผลกระทบน่าจะส่งผลในวงกว้างกว่าที่คิดมากมายนัก คนชั้นกลางน่าจะโดนหางเลขมากที่สุด  พนักงานหน้าร้าน , พนักงานธนาคาร , พ่อค้าแม่ค้าเอสเอ็มอี ที่ขายของในห้างและรอบๆห้าง,  นักออกแบบอินทีเรีย, ฯลฯ รับรองมีตกงานกันระนาว

ที่น่าเป็นห่วงสุดๆ ก็คือ วงการ E-commerce บ้านเรา เพราะนับวันก็เริ่มเห็นสัญญาณที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆว่า ธุรกิจ E-commerce บ้านเรา น่าจะถูกยึดหัวหาดโดยธุรกิจต่างชาติ 

ดังนั้นเงินจะไม่ได้ไหล จากกระเป๋าซ้าย ไปสู่กระเป๋าขวา แบบเงินของ Walmart ไหลไปหา Amazon นะครับ แต่เงินจะไหลจาก Shopping Mall ที่มีเจ้าของเป็นคนไทย ไปสู่ธุรกิจE-commerce ที่มีเจ้าของเป็นคนต่างชาติ!

พูดง่ายๆ คือ เงินจะไหลออกนอกประเทศครับ !

จริงๆเรื่องนี้ บรรดา Shopping Mall ใหญ่ๆในเมืองไทยต่างรู้ตัวดีว่ากระแส E-commerce อย่างไรก็มาแน่ๆ แต่ทว่ามีอาการออกลูกกั๊กกัน คือ ไม่กล้าที่จะทุ่มทรัพยากร ดันธุรกิจ E-commerce ของตนกันอย่างเต็มตัว  เพราะการดันธุรกิจ E-commerce แบบเต็มตัว  เท่ากับว่าเป็นการฆ่าธุรกิจ Shopping Mall แบบดั้งเดิมของตัวเอง

กั๊กไป กั๊กมา ธุรกิจต่างชาติเลยสบโอกาส เข้ามาทุ่มตลาดใช้วิธีการขยายธุรกิจแบบ Start-Up จนกลายเป็นว่า E-commerce บ้านเราโดนต่างชาติเข้าตี ยึดเมืองไปเรียบร้อย 

ที่จริงไม่อยากด่วนสรุป แต่โอกาสที่เราจะสู้ E-commerce ต่างชาติได้ มันช่างน้อยเหลือเกิน

ถามว่าเราจะแก้ปัญหาเรื่องนี้กันอย่างไร ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่ภาคเอกชน จะสู้เองได้ครับ ภาครัฐน่าจะเข้ามาช่วยเหลือ ผลักดันให้ธุรกิจ E-commerce ของคนไทย สามารถที่จะต่อสู้กับต่างชาติได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้หมายความว่าให้รัฐบาลมานั่งทำ E-commerce เองนะครับ  เดี๋ยวจะยิ่งไปกันใหญ่! แต่รัฐบาลน่าจะเข้ามาช่วยเหลือ สนับสนุนภาคเอกชนมากกว่า โดยเฉพาะในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจ E-commerce  แค่ระบบโลจิสติกส์ก็พอ เพราะต้นทุนก้อนใหญ่ของธุรกิจ E-commerce คือ ต้นทุนการขนส่ง 

“คิดกันแบบเล่นๆ ถ้ารัฐบาลไทย สามารถช่วยออกค่าขนส่งสินค้า ให้กับเจ้าของธุรกิจ E-commerce ที่เป็นคนไทยได้แบบฟรีๆ  ผมคิดว่า E-commerce ไทยของเรา น่าจะแข็งแรงขึ้น ถึงขั้นแข่งขันได้เลยครับ”

ผมเองก็คิดไปเรื่อยครับ เผื่อว่าจะมีใครสักคนที่มีอำนาจในเรื่องนี้ บังเอิญมาอ่านเจอบทความนี้เข้า  อาจจะเกิดประกายไอเดียอะไรบางอย่าง

ประหนึ่งฟุตบอลทีมชาติไทย เจอ ทีมชาติญี่ปุ่นถึงจะรู้ว่าสู้ไม่ได้ แต่เราก็เอาใจช่วยเสมอ

สู้เขา E-commerce ไทย !