‘โควต้า’ ใน 250 ส.ว.สำหรับกลุ่มด้อยโอกาสทางการเมือง

‘โควต้า’ ใน 250 ส.ว.สำหรับกลุ่มด้อยโอกาสทางการเมือง

ส.ว. 250 คน ที่กำลังจะได้รับการ”แต่งตั้ง” ในอนาคตอันใกล้นี้ ส่วนหนึ่งควรเป็นการเติมเต็มสิ่งที่ควรมี

 คนที่ควรได้ แต่ตกหล่นหายไปในการเมืองแบบ เลือกตั้งที่เคยๆมีมา ทั้งหมด 31 ครั้ง คือ เลือกตั้ง ส.ส. วาระละ ปี 27 ครั้ง (เป็นโมฆะ ครั้ง) และเลือกตั้ง ส.ว. วาระละ ปี ครั้ง

ตลอดมา กลุ่มผู้หญิงเป็นกลุ่มที่เรียกร้อง โควต้าหรือระบบสัดส่วน เสียงดังฟังชัดที่สุด ด้วยหลักการที่ว่าผู้หญิงมีมากเป็นครึ่งหนึ่งของประชากร แต่มีผู้แทนเป็นผู้หญิงน้อยมาก ประเด็นผู้หญิงต่างๆถูกละเลย 

แต่ถ้าหากถือเอาประเด็นสาระและความด้อยโอกาสทางการเมืองแบบเลือกตั้ง (under representation in electoral politics) เป็นหลัก ไม่คำนึงเพียงปริมาณ ยังมีประชากรอีกหลายกลุ่ม หลายสถานภาพ ที่ควรได้รับ โควต้าเช่นกัน เช่น กลุ่มผู้พิการหรือทุพพลภาพ ชนกลุ่มน้อย กลุ่มสหภาพแรงงาน กลุ่มสูงวัยฯ 

รวมไปถึงประเด็นอื่นๆที่ส่งผลกระทบถึงประชากรอีกมากมายหลายกลุ่ม แต่ตกหล่นไปในการเมืองแบบเลือกตั้ง

ในด้านเศรษฐกิจ เช่น แรงงานนอกระบบ ผู้บริโภค ที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท พลังงานฯ ในด้านศิลปะ-วัฒนธรรม เช่น การนำไปสู่ระดับ “สากล” นวัตกรรมต่างๆ การต่อยอด (ไม่เพียงอนุรักษ์)ศิลปะงานฝีมือพื้นบ้านฯ ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปสื่อ ปฏิรูประบบสุขภาพ ตลอดจนปฏิรูปด้านศาสนา เช่น หลักเกณฑ์ที่มาของทรัพย์สินแหล่งเงินสนับสนุนและรายได้ การสร้างเครือข่ายในต่างประเทศ ฯ ตลอดจนประโยชน์ของประชาชนที่อาจขัดกับผลประโยชน์ของพรรคการเมืองที่สมคบกับนักธุรกิจใหญ่ และข้าราชการบางกลุ่ม เช่น เรื่องที่ดิน น้ำ ป่าไม้ การประมงฯ

กลุ่มบุคคลในภาคประชาสังคมทำงานประเด็นเหล่านี้ถ้าเป็นตัวจริง จะไม่วิ่งขาขวิดไปหานายกฯ หรือคณะกรรมการสรรหาใดๆ แต่เป็นหน้าที่ของนายกฯและคณะกรรมการสรรหาที่จะต้องมองหาสรรหากลั่นกรองให้พบซึ่งไม่น่าจะยากเกินกำลังของ คสช.

หากได้ตัวเลือกเป็นผู้หญิง เป็นชนกลุ่มน้อย เป็นผู้สูงวัย เป็นผู้พิการก็จะเป็นการยิงนกนัดเดียวได้ทีละสามสี่ตัวจะทำให้คณะ ส.ว. 250 คนเป็นที่ยอมรับของสาธารณชนมากขึ้นจากที่ถูกปรามาสว่าจะมีแต่พรรคพวกทหารและ”สั่ง”ได้

กลุ่มผู้หญิงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆในทางการเมืองการปกครองในโลกปัจจุบัน ผู้หญิงหลายคนที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เช่น รสนา โตสิตระกูล สารี อ๋องสมหวัง สมสุข บุญญะบัญชา ทิชา ณ นคร สุภัทรา นาคะผิว ฯ เคยได้รับเชิญมาร่วมทำงานในสมาชิกสภาปฏิรูปและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งสามารถแต่งตั้งอีกได้ร่วมกับผู้หญิงอีกหลายคนที่น่าจะพิจารณา เช่น รตยา จันทร์เทียร

นอกจากกลุ่มผู้หญิงที่สมควรได้รับการแต่งตั้ง กลุ่มผู้หญิงในฐานะผู้ออกเสียงก็เป็น “พื้นที่” ทางการเมืองที่มีความเปลี่ยนแปลงน่าสนใจในช่วง2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา

การที่ 15 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 5 จังหวัดในภาคเหนือ ซึ่งอยู่ในภาคเหนือตอนบนทั้งหมด (โดย 3 จังหวัดคือ เชียงใหม่ ลำพูนและเชียงรายติดอันดับห้าจังหวัดมีผู้มาออกเสียงมากที่สุด) และ 3 จังหวัดในภาคใต้เป็นจังหวัด “ไม่เห็นชอบ”ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ได้มีผู้ประดิษฐ์ชุดจำแนกประเภท (typology)ของผู้มาออกเสียงลงประชามติ 7 สิงหา ตามมิติต่างๆ เช่น ชาติพันธุ์ อุดมการณ์ เขตอำนาจของพรรคการเมือง ฯ แต่กระนั้น ก็ยังขาดมิติทางเพศ ทั้งๆที่น่ารู้อย่างยิ่งว่าเสียงผู้หญิงใน 23 จังหวัดนี้มีกี่เปอร์เซ็นต์ของผู้มาออกเสียงทั้งหมด โดยตามปกติ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพศหญิงมีมากกว่าชายอยู่แล้ว

ใน 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ต้องนับว่าในทั้ง ภาคดังกล่าวมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนผ่านจิตสำนึกทางสังคมเศรษฐกิจการเมืองอย่างมากและเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง

ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกิดขบวนการสมัชชาคนจน ผู้หญิงมีบทบาทสูงมากไม่ว่าจะในท้องถิ่นและในการมาชุมนุมปักหลักยืดเยื้อที่กรุงเทพฯ

ในภาคเหนือเกิดขบวนการป่าชุมชนที่ทั้งหญิงและชายมีบทบาทคู่ขนานกัน

ในภาคใต้เกิดขบวนการประมงพื้นบ้านและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ขบวนการผู้หญิงเพื่อสันติภาพหยุดความรุนแรง เพิ่มพื้นที่ปลอดภัย เช่น บ้าน ตลาด โรงเรียน สถานศาสนา เป็นต้น

เทียบกับประชากรหญิงในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างซึ่งอยู่ในกลุ่มจังหวัดรับ ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ความเข้มข้นในการเปลี่ยนผ่านจิตสำนึกทางสังคมการเมืองมีมากกว่าอย่างแน่นอนในช่วงเวลาเดียวกัน

นอกจากนั้น ขบวนการประชาชนใน 3ภาคเหล่านี้มีการสื่อสารถึงกัน สร้างความเข้าใจร่วมกัน ตลอดจนมีการพบปะสนับสนุนในทางความคิดและปัจจัยร่วมกับกลุ่มผู้หญิงนักวิชาการนักกิจกรรมในเมืองหลวง เชื่อได้ว่าเกิดมีกลุ่มผู้หญิงจิตสำนึกใหม่ๆจำนวนหนึ่งในเมืองหลวง และจำนวนมากยิ่งกว่าในต่างจังหวัด

จากแต่ก่อนที่ผู้หญิงในต่างจังหวัดไม่ค่อยมีปากมีเสียง ไม่ค่อยกล้าแสดงตัวตนหรือความต้องการ มาเป็นกลุ่มผู้หญิงที่ตื่นตัว ต้องการเรียนรู้ มีส่วนร่วมในชุมชนมากขึ้น กล้าแสดงตนเพื่อรักษาสิทธิพื้นฐานตามวิถีประชาธิปไตย ซึ่งการตื่นตัวและความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เป็นอุปการะอย่างยิ่งต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย

รัฐบาลขณะนี้และพรรคการเมืองต้องสนใจว่าจะเสริมสร้างกลุ่มผู้หญิงดังกล่าวที่เป็น จิตสำนึกใหม่” “ พื้นที่การเมืองใหม่ทางการเมืองการปกครอง ให้เป็นผู้ออกเสียงมีคุณภาพยิ่งๆขึ้นต่อไปได้อย่างไร

ที่ผ่านมา บางพรรคการเมืองก็ได้เข้าถึงและสร้างอุดมการณ์ให้แล้วใน “พื้นที่ใหม่” ดังกล่าวซึ่งที่จริงก็ยังเปิดเสรีรับแนวคิดอุดมการณ์อื่นๆ สำคัญอยู่ที่รัฐบาลและพรรคการเมืองทั้งหลายจะให้ความสำคัญ พยายามเข้าถึงจิตสำนึกใหม่ของกลุ่มผู้หญิงที่ตื่นตัวแสวงหาการมีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครองมากขึ้นอย่างมีความเข้าใจ ไม่ปิดกั้น กดทับ หรือลิดรอนสิทธิพื้นฐานทางความคิดและการแสดงออกในวิถีประชาธิปไตย

ยังเสียดายอย่างยิ่ง ที่การเก็บสถิติผู้มาออกเสียงประชามติ สิงหา ไม่จำแนกเพศของผู้มาออกเสียง