จุลินทรีย์ช่วยดินดีในธรรมชาติ ไม่ต้องซื้อ..ไม่ต้องหา

จุลินทรีย์ช่วยดินดีในธรรมชาติ ไม่ต้องซื้อ..ไม่ต้องหา

นักวิทยาศาสตร์พยายามที่จะคัดเลือก ค้นหาจุลินทรีย์ที่ดีมีคุณภาพเพื่อนำมาใช้ในวงการเกษตร โดยเฉพาะเกี่ยวกับการ

ป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูพืช ปัจจุบันนั้นก็ถือได้ว่าเริ่มมีการใช้จุลินทรีย์ชีวภาพป้องกันกำจัดโรคแมลงมากขึ้นในภาคสนาม เทียบกับเมื่อ 20-30 ปีก่อน โดยเฉพาะภาครัฐที่นำโดยกรมพัฒนาที่ดินในรูปแบบของ พ.ด. เบอร์ต่างๆ และก็ตามมาด้วยกรมส่งเสริมการเกษตรที่สอนให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า Tricoderma Harzianum spp. และราขาว บิวเวอร์เรีย กับเมล็ดธัญพืชอย่างข้าวฟ่าง ข้าวโพด แล้วนำมาคัดกรองด้วยผ้าข้าวบาง แล้วนำไปฉีดพ่นในไร่มันสำปะหลัง ในนาข้าว ที่มีปัญหาจากศัตรูพืชตระกูลเพลี้ยต่างๆ

ท่านอาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ ที่ส่งเสริมการใช้จุลินทรีย์ทดแทนยาฆ่าแมลง ซึ่งเรียกว่าอาจจะก่อนหน่วยงานภาครัฐเสียด้วยซ้ำ โดยเริ่มตั้งแต่เพาะเห็ดในอดีตหลายสิบปี และก็มีพัฒนาการมาเรื่อยๆ จนเป็น บีทีชีวภาพปราบหนอน บีเอสพลายแก้วปราบโรคแคงเกอร์ในพืชตระกูลส้ม มะนาว ราเขียว ราดำ ราเมือก ในเห็ด ไมโตฟากัสปราบไร ทริปโตฝาจปราบเพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟไรแดง เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และเมธาไรเซียมปราบปลวกร้ายในอาคารบ้านเรือน

จุลินทรีย์ชีวภาพที่ใช้ปราบโรคแมลงศัตรูพืชนี้ จะต้องผ่านการวิเคราะห์วิจัยทดสอบถึงประสิทธิภาพประสิทธิผลสร้างสารหรือท๊อกซินยับยั้ง โรคแมลงศัตรูพืชต่างๆ ให้ได้ประสิทธิภาพตามที่ต้องการ

ส่วนจุลินทรีย์ท้องถิ่น (Normal Flora) ที่อยู่กันแบบพึ่งพิงอิงอาศัย ช่วยดูแลคุ้มครองป้องภัยมิให้โรคแมลงต่างๆ เข้ามาทำลายพืชที่พี่น้องเกษตรกรเพาะปลูก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะประกอบไปด้วยกลุ่มของรา แบคทีเรีย โปรโตซัว แอคทิโนมัยซีท มัยคอร์รัยซ่า ล้วนแล้วแต่เป็นจุลินทรีย์ตัวดี ไม่ทำลายพืชที่เพาะปลูก

การเลือกดินขุยไผ่ ดินจากป่าสมบูรณ์ ดินจากหน่อกล้วย ดินจากตอซังฟางข้าว ที่ไม่ใช้สารเคมีที่เป็นพิษ โดยพยายามเลือกระบบนิเวศที่สะอาดปราศจากโรคภัยรบกวนพืช เราก็จะได้จุลินทรีย์ชนิดดีเยอะแยะมากมาย แล้วนำมาขยายจำนวนให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะนิยมกากน้ำตาลซึ่งในอดีตเป็นของเหลือใช้ราคาถูก แต่ถ้าไม่มีจริงๆ การใช้น้ำตาลปิ๊ป น้ำตาลทราย น้ำตาลมะพร้าว ก็ใช้ได้ด้วยเช่นเดียวกัน

การนำมาขยายก็ใช้ในอัตราดินป่าสมบูรณ์จากแหล่งระบบนิเวศต่างๆ ไม่ว่าจะหน่อกล้วย ขุยไผ่ ฯลฯ ด้วยอัตรา 3 ส่วน กับกากน้ำตาล 1 ส่วน ก็จะได้จุลินทรีย์ท้องถิ่นชนิดดี ที่คอยทำหน้าที่คุ้มครองป้องภัยให้กับพืชด้วย แต่หน้าที่ที่โดดเด่นจะเป็นเรื่องของการย่อยสลายเศษซากอินทรีย์วัตถุเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสามารถทำหน้าที่ทดแทนจุลินทรีย์จากญี่ปุ่น จากยุโรป อเมริกาได้อย่างสบาย จัดได้ว่าเป็นจุลินทรีย์ที่ดีที่สุดในไทยก็ว่าได้ เพราะตามหลักของสิ่งมีชีวิตนั้น ถิ่นใครก็ถิ่นมัน อยู่ถิ่นไหนก็เก่งถิ่นนั้น จุลินทรีย์ไทยแลนด์ ลงสู่แปลงนาไทยแลนด์ ย่อมทำงานได้รวดเร็ว ทะมัดทะแมงกว่าจุลินทรีย์ที่มาจากเมืองนอกเมืองนาอย่างแน่นอน

จุลินทรีย์ที่โดดเด่นอย่างมากในเรื่องของการย่อยสลายอินทรียวัตถุโดยเฉพาะเศษตอซังฟางข้าว เซลลูโลส ลิกนิน เฮมิเซลลูโลส นั่นก็คือจุลินทรีย์สัตว์เคี้ยวเอื้อง (วัว ควาย แพะ แกะ เก้ง กระจง จิงโจ้ ยีราฟ อูฐ) การนำมูลวัว มูลควายสด 2 กิโลกรัม หมักกับน้ำสะอาด 20 ลิตร กากน้ำตาล 10 ลิตร ลูกแป้งข้าวหมาก 1 ลูก (ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร) หมักไว้ 7 วันก็นำมาใช้งานได้แล้ว แถมหมักขยายได้เหมือนกับอีเอ็ม ทำงานทดแทนอีเอ็มได้สบาย จุลินทรีย์จากสัตว์เคี้ยวเอื้องเหล่านี้ โดดเด่นมากในเรื่องการย่อยสลายเศษซากอินทรียวัตถุในการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ เป็นจุลินทรีย์เจ้าถิ่นที่ดีและมีประโยชน์มาก

จุลินทรีย์ขี้ควาย ขุยไผ่ หน่อกล้วย ตอซังฟางข้าว จุลินทรีย์จากระบบนิเวศที่ดี ก็คือจุลินทรีย์ที่สามารถช่วยปรับปรุงบำรุงดินให้ดี ถ้าเราหมั่นเติมราดรดโดยตรงหรือใส่ไปพร้อมกับปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพ ลงสู่แปลงเรือกสวนไร่นาเกษตรกรไทยแลนด์ย่อมดีกว่า โดยที่เราผลิตได้ด้วยลำแข้งตนเองไปตลอดชีวิต..โดยไม่ต้องซื้อ

----------------------

มนตรี บุญจรัส 

กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด (ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ)