เรื่องของยาง

เรื่องของยาง

วันสองวันนี้มีข่าววุ่นๆ ในกลุ่มธุรกิจ

 ทั้งการร้องเรียนเรื่องของสถาปนิก ผู้ออกแบบตึกสูงที่สุดในไทยที่เพิ่งจัดงานฉลองใหญ่กันไป และข่าวเกี่ยวกับผู้ผลิตยางรถยนต์ เมื่อมีข่าวว่า ซัพพลายเออร์รายใหญ่ในภาคใต้ออกมาให้ข่าวว่า ผู้ผลิตยาง 2 ราย คือมิชลินและบริดจสโตน จะเลิกซื้อยางธรรมชาติที่ผลิตจากภาคอีสาน เนื่องจากใช้กรดซัลฟูริคมากเกินไป ทำให้มีผลต่ออายุการใช้งานยางล้อ

แต่ก็ดูเหมือนว่าทางผู้ผลิตยาง อย่างน้อยก็คือมิชลินที่ออกมาบอกว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด แม้เรื่องที่พูดถึงจะมีส่วนถูกต้องในเชิงเทคนิคก็ตาม

ส่วนที่ถูกต้องก็คือ ซัลฟูริคนั้นหากมีมากเกินไป ก็จะมีผลต่อคุณภาพของยางล้อจริง ส่วนที่ไม่ถูกต้องก็คือ บริษัทไม่เคยบอกว่าจะเลิกรับซื้อหรือแบนยางจากภาคอีสานแต่อย่างใด ทุกอย่างยังคงดำเนินไปตามปกติ

แต่ก็ยังบอกเพิ่มเติมอีกว่า เป็นเรื่องที่ดีเหมือนกันที่มีข่าวนี้ออกมา เพราะทำให้หลายส่วนเกิดความตื่นตัว โดยเฉพาะภาครัฐที่เมื่อวานนี้ได้จัดประชุมร่วมกับภาคเอกชน ที่เรียกว่า การประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาผลผลิตทางการเกษตร เพราะได้รับรู้ว่าสินค้าการเกษตรบ้านเรานั้นอาจจะมีปัญหาได้ ถ้าไม่มีการควบคุมดูแลที่ถูกต้อง จะได้เตรียมการป้องกันไว้ล่วงหน้า

เพราะอย่าลืมว่าบ้านเรานั้นเป็นแหล่งผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ และเป็นที่ตั้งของผู้ผลิตยางล้อระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นมิชลิน,บริดจสโตน,กู๊ดเยียร์,โยโกฮามา ฯลฯ และก็ผลิตสินค้าที่หลากหลาย ตั้งแต่ยางรถจักรยาน จักรยานยนต์ รถยนต์ รถบรรทุก หรือยางกลุ่มพิเศษ อย่างยางเส้นยักษ์สำหรับรถบรรทุกแร่ หรือยางที่ต้องการความแข็งแรงเป็นพิเศษ อย่างยางสำหรับเครื่องบิน ก็มีผลิตในไทยเช่นกัน  

ดังนั้นแม้ว่ายางแต่ละเส้นจะใช้ยางธรรมชาติในสัดส่วนที่ไม่สูงนัก ประมาณ 30-40% (แต่ละค่ายไม่บอกสัดส่วนชัดเจน) แต่หากมองในภาพรวมว่าแต่ละปีบ้านเราผลิตนับสิบล้านเส้น ก็ถือว่ามีความต้องการไม่น้อยทีเดียว

พูดถึงการผลิตยางแต่ละเส้น หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่ามีส่วนผสมมากมาย ผมเคยได้ฟังมิชลิน พรีเซนต์ เลยได้รู้ว่ามีส่วนประกอบกว่า 200 ชนิด แต่จะใส่ส่วนไหนมากน้อยแค่ไหน ก็สูตรใครสูตรมัน

ฝ่ายเทคนิคของมิชลินเขาก็มีเทคนิคในการนำเสนอที่ดีครับ เริ่มจากเอาอะไรก็ไม่รู้ใส่ถุงพลาสติกมาให้ทาย ก็ทายกันเล่นๆ ตามที่เห็นด้วยตา ว่าเกลือบ้าง น้ำตาลบ้าง พริกไทยบ้าง ซึ่งคนของมิชลินเฉลยว่าถูกต้อง แต่ทำให้ผมงงว่ามีของพวกนี้ในยางด้วยหรือ เขาเลยต้องเฉลยซ้ำสองว่า ที่เอามาให้ดูไม่ใช่ส่วนประกอบของยางหรอก แต่เป็นส่วนประกอบของอาหารนั่นแหละ แต่อยากเปรียบเทียบให้ดูเฉยๆ ว่า อาหารแต่ละอย่าง ส่วนประกอบเหมือนกัน ทำไมปรุงออกมารสชาติไม่เหมือนกัน บางจานอร่อย บางจานขนาดเจ้าตูบยังเบือนหน้าหนี

ยางก็เช่นกัน ส่วนประกอบก็คล้ายๆ กัน แต่ทำไมผลิตออกมาแล้วคุณภาพไม่เหมือนกัน 

เป็นการอธิบายสั้นๆ แต่เข้าใจง่ายดีครับ