สิทธิมนุษยชนในธุรกิจ

สิทธิมนุษยชนในธุรกิจ

ในอดีต เรื่องของสิทธิมนุษยชนกับธุรกิจ ดูจะเป็นเรื่องที่ไปด้วยกันไม่ได้ จนกระทั่งมีคำพังเพยที่ว่า “พ่อค้า ไม่ใช่นักบุญ”

นักธุรกิจมุ่งแต่จะแสวงหาความได้เปรียบทางธุรกิจจนไม่ได้คำนึงถึงเรื่องของสิทธิมนุษยชน

แต่ในปัจจุบัน สถานการณ์ต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วยแรงผลักดันจากสังคม จนทำให้ธุรกิจไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงการเคารพสิทธิมนุษยชนได้ ทั้งในกรณีต่อบุคลากรของตนเอง และต่อบุคคลภายนอก

หลักการพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนก็คือ การถือว่า มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะทางเศรษฐกิจเช่นใด จะต้องได้รับการปฏิบัติต่อกันอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

ธุรกิจ ในฐานะที่เป็นองค์กรที่ต้องใช้มนุษย์เป็นผู้ดำเนินการหรือปฏิบัติงาน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องให้การเคารพและดูแลสิทธิมนุษยชนของผู้ที่มีส่วนได้เสียกับธุรกิจทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

ในด้านดี ธุรกิจถือได้ว่าเป็นภาคส่วนที่สนับสนุนในด้านการเป็นแหล่งรายได้ ทำให้ฐานะความเป็นอยู่ของพนักงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคม มีงานทำ มีความมั่นคงในชีวิต มีเศรษฐกิจที่ดี ซึ่งจะนำไปสู่การมีสังคมที่ดีในที่สุด

การที่ธุรกิจพัฒนาสินค้าหรือบริการของตน จะทำให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต การกินดีอยู่ดี การเข้าถึงได้ซึ่งสุขภาพที่ดี และการคมนาคมที่เชื่อมโยงภูมิภาคที่อยู่ห่างไกล เป็นต้น

แต่ในทางกลับกัน ธุรกิจอาจเป็นสาเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้เช่นกัน

ที่เห็นได้ชัดเจนและบ่อยครั้งได้แก่ ธุรกิจที่ใช้แรงงานเด็กและสตรีโดยไม่เป็นธรรม การทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองโดยไร้เหตุผล การไม่ดูแลสภาพแวดล้อมในการทำงาน จนเป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับอันตรายต่อร่างกายหรือชีวิต หรือก่อให้เกิดโรคภัยที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน

เพื่อที่จะช่วยให้ธุรกิจ ได้ทบทวนการดำเนินการของตนเองว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นหรือไม่ ได้มีองค์กรต่างๆ ที่ได้กำหนดแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับธุรกิจต่อเรื่องของสิทธิมนุษยชน ซึ่งมักจะยึดหลักที่ธุรกิจควรปฏิบัติใน 3 ด้าน ได้แก่

การปกป้อง การเคารพ และการเยียวยา

ในแง่ของการปกป้องสิทธิมนุษยชน ธุรกิจอาจทำได้ในเบื้องต้นด้วยการเคารพกฎหมาย ปฏิบัติตามกฎระเบียบของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่สังกัดอยู่ ซึ่งถือได้ว่า เป็นความรับผิดชอบของธุรกิจในระดับต่ำสุด

ธุรกิจที่ให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชน อาจมีแนวปฏิบัติที่สูงกว่าที่กฎหมายได้กำหนดไว้ เช่น การให้โอกาสแก่พนักงานที่จะแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตใจต่อธุรกิจ หรือการสนับสนุนให้คู่ค้าหรือผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ เข้ามาร่วมเจตนารมณ์ในการปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยรวม

ในแง่ของการเคารพสิทธิมนุษยชน ธุรกิจอาจแสดงออกได้โดยการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการเคารพสิทธิมนุษยชนไว้ให้เป็นลายลักษณ์อักษร เผยแพร่ให้ทุกคนในองค์กรและผู้สนใจทั่วไปได้รับทราบ ตลอดจนถึงการยึดมั่นในนโยบายที่ได้กำหนดไว้ จนสามารถกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร

การเยียวยา ถึงแม้ว่าจะเป็นส่วนปลายทางของการแสดงความมุ่งมั่นที่จะป้องกันมากกว่าแก้ไข แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น ธุรกิจจำเป็นที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบในการเยียวยาหรือบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมตามสถานการณ์และความรุนแรงที่เกิดขึ้น

ซึ่งต้องรวมถึงผลกระทบทั้งทางตรงจากธุรกิจ หรือผลกระทบทางอ้อมที่สร้างขึ้นในระหว่างห่วงโซ่อุปาทานของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยในห่วงโซ่ที่อยู่ใกล้ชิดกับธุรกิจหรืออยู่ในห่วงโซ่ที่ห่างออกไป

การแสดงความเคารพและห่วงใยในเรื่องของสิทธิมนุษยชนของธุรกิจ ยังอาจทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจขึ้นได้ นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและการลงทุนทางเทคโนโลยี เช่น ในกรณีของการพัฒนาหุ่นยนต์ มาปฏิบัติหน้าที่แทนมนุษย์ในงานที่เป็นอันตรายสูงต่อสุขภาพหรือการบาดเจ็บทางร่างกาย

หรือการพัฒนาวัตถุดิบหรือทรัพยากรการผลิตใหม่ๆ ที่เป็นอันตรายน้อยลง หรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

และยังเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และเป็นแนวทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนของธุรกิจ ตามแนวทางการบริหารธุรกิจสมัยใหม่ ได้เป็นอย่างดี