ทำไมประเทศนี้จึงมี ‘กับดัก’ เต็มบ้านเมืองเช่นนี้?

ทำไมประเทศนี้จึงมี ‘กับดัก’ เต็มบ้านเมืองเช่นนี้?

บ้านเมืองเรานี่ดูเหมือนจะมี

 กับดัก กับ หลุมพราง มากมายเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจหรือสังคม

แต่ก่อน เราได้ยินวลี กับดักรายได้ปานกลาง เป็นประจำ เข้าใจว่าแปลมาจาก “middle-income trap” โดยที่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เป็นผู้เสนอแนวความคิดนี้ จนต่อมานักการเมืองก็เริ่มนำมาใช้จนติดปาก ล่าสุดรัฐมนตรีและรัฐบาลก็เอ่ยอ้างถึง “กับดัก” นี้เป็นปกติวิสัย

ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าคนไทยทั่วไปเข้าใจศัพท์แสงคำนี้ว่าอย่างไร ทำไมเราจึงมาตกอยู่ในกับดักนี้ และจะออกจากกับดักนี้ได้อย่างไร

รู้แต่ว่าอะไรที่เป็น “กับดัก” ย่อมไม่ดี เพราะแปลว่ามีใครไปวางเอาไว้เพื่อให้เราหล่นลงไป และพอร่วงลงไปในกับดักนั้นก็จะหลุดออกมายาก คนเก่งจริงคงจะหาทางรอดมาได้ แต่ถ้าไม่มีความสามารถเพียงพอ ก็อาจจะต้องอาศัยคนอื่นมาช่วยเราดิ้นออกจากกับดักนั้น ๆ

บางครั้งกูรูด้านนี้ใช้คำว่า หลุมพราง ควบคู่ไปกับ กับดัก ซึ่งก็คงจะมีความเลวร้ายพอๆ กัน เพียงแต่ถ้าอย่างแรกอาจจะลึกหน่อยเพราะเป็น หลุม แต่คำหลังนี้อาจจะเห็นภาพหนูถูกล่อไปกินชิ้นเนื้อ เผลอไปขย้ำอาหารชิ้นนั้นเข้าก็ถูกขังไว้ในกรง หลุดออกมาไม่ได้ หมอสิ้นอิสรภาพและอาจถูกจับไปฆ่าทิ้งเมื่อไหร่ก็ได้

สองสามวันนี้มีคำเตือนเรื่อง “กับดัก” และ “หลุมพราง” ออกมาอีกรอบ คราวนี้เป็นเรื่องการเมืองซึ่งทำให้เกิดสีสันร้อนแรงกว่า “กับดักรายได้ปานกลาง” ไม่น้อย

คำเตือนนี้มีขึ้นหลังจากที่มีข้อเสนอจากนักการเมืองบางกลุ่มว่า หากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คิดจะเป็นนายกฯต่อหลังการเลือกตั้งและเป็นอย่างสง่างาม สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ก็ควรจะตั้งพรรคการเมืองและลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างเปิดเผย

พลันที่ข้อเสนอเช่นนี้ ก็มีคำเตือนจากนักวิชาการด้านการเมืองเตือน นายกฯประยุทธ์ว่าอย่าได้ หลงกล ตั้งพรรคการเมืองตามข้อเสนอ ของนักการเมืองบางท่านอย่างที่เป็นข่าวเป็นอันขาด เพราะนั่นคือ “กับดัก” ที่ล่อให้ท่านนายกฯเข้าไปติดจนดิ้นออกไม่ได้

อีกข่าวหนึ่งอ้างนักการเมืองอีกคนหนึ่ง ว่ามีนายทหารที่เกษียณแล้วบางคน ซึ่งเป็นเพื่อนของนายกฯประยุทธ์ มาถามความเห็นว่าหากทหารเกษียณจะตั้งพรรคการเมือง แต่ไม่ทำอะไรผิดพลาดเหมือนในอดีตเช่นการตั้งพรรคสามัคคีธรรม จะมีวิธีการทำได้อย่างไรบ้าง

ตีความตามเนื้อหาข่าวชิ้นนี้ก็พอจะจับสาระได้ว่า นายทหารที่ไปปรึกษาหารือกับเพื่อนนักการเมืองคนนั้น คงจะมีความกลัว กับดักการเมืองที่เคยทำให้อดีตนายกทหาร ที่ตั้งพรรคการเมืองเสียผู้เสียคนมาแล้วก็เป็นได้

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “กับดัก” และ “หลุมพราง” ที่กลายเป็นวาทกรรมทางการเมือง ส่วนใครจะตีความว่าคนที่ออกมาเตือนเรื่องนี้ หรือวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่าง โอกาส กับ “กับดัก” อย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องประเมินกันเอาเอง

ด้านหนึ่งต้องมองว่าคนนำเสนอเป็นผู้หวังดีหรือประสงค์ร้าย

อีกด้านหนึ่งต้องวิเคราะห์ว่าผู้ถูกทักนั้น ตีความว่าเป็นคำเตือนที่ควรรับฟัง หรือเป็นกระแสเสียงของผู้ต้องการจะสกัดกั้นเส้นทางอนาคตของตน

การเมืองไทยบางครั้งเป็นเรื่องสลับซับซ้อน มีความยอกย้อน มีการชิงไหวชิงพริบกับหลายชั้นหลายตอน แต่บ่อยครั้งอะไรที่ดูเหมือนจะเป็นกลยุทธ์แพรวพราวลึกล้ำนั้นเอาเข้าจริง ๆ ก็เป็นเรื่องง่าย ๆ สามารถพลิกดูก็จับลวดลายได้คาหนังคาเขา ไม่แนบเนียนซ่อนเงื่อนอย่างที่กล่าวอ้างกัน

ความยอกย้อนบางครั้งก็ทำให้ตีความว่า เสียงเชียร์นั้นคือการสร้างกับดักให้กับผู้นั้น ขณะที่คนที่วิพากษ์ตำหนินั้นเอง คือคนที่ช่วยเหลือไม่ให้คนคนนั้นหล่นลงในหลุมพราง

บางคนเห็น กับดักเป็น โอกาส

แต่บางคนอาจทำให้ โอกาสกลายเป็น หลุมพรางของตัวเองก็มี

ในแง่เศรษฐกิจ ข้อเสนอทางออกจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” คือการสร้าง นวัตกรรม เพื่อยกระดับให้ประเทศพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางเรื้อรัง

ในแง่การเมือง การจะหลบเลี่ยงหรือเอาตัวเองออกจากกับดักก็อาจจะต้องสร้าง นวัตกรรมการเมืองเพื่อยกระดับประเทศให้พ้นจาก กับดักวงจรอุบาทว์เรื้อรังเช่นกัน