เราเตรียมพร้อมแค่ไหน

เราเตรียมพร้อมแค่ไหน

คำกล่าวของนางเจเน็ต เยลเลน

 ประธานเฟด กล่าวในการประชุมประจำปีที่เมืองแจ็คสัน โฮล รัฐไวโอมิ่ง เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้สร้างความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนอีกครั้ง แม้ยังไม่ถึงระดับที่รุนแรงเมื่อเทียบกับครั้งก่อนๆ ที่มีความผันผวนมากกว่า ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่ได้ผิดความคาดหมายของตลาดมากนัก ที่ประเมินว่าเฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในปีนี้ ซึ่งก็เหลือการประชุมอีกครั้ง และก่อนหน้านั้นก็คาดว่าเฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งสุดของปีในเดือนธ.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม ถ้อยแถลงของนางเยลเลนก็ยังมีมนต์ขลัง เช่นเดียวกับประธานเฟดคนก่อนๆ ซึ่งตลาดมักจะให้น้ำหนักและพยายามตีความถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินนโยบายการเงินนับจากนี้ไปว่าจะเป็นอย่างไร นักเศรษฐศาสตร์บางสำนักได้ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นถึงโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเกิน 1 ครั้งในปีนี้ ในขณะที่บางคนก็เห็นว่าคำกล่าวของนางเยลเลนแทบไม่ต่างจากครั้งก่อนมากนัก แต่กลับไปตีความคำพูดประเด็นอื่นของนางเยลเลนในเรื่องทิศทางการกำหนดนโยบายของเฟดในอนาคต

นางเยลเลนดูเหมือนกำลังจะบอกว่า นโยบายการเงินของเฟดในอนาคต อาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ที่มุ่งไปที่เป้าหมายเงินเฟ้อและการจ้างงาน รวมถึงการใช้บทเรียนจากธนาคารกลางประเทศอื่นๆ ที่ใช้นโยบายการเงินในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งแน่นอนว่านางเยลเลนบอกว่าในอนาคต ก็หมายความว่ายังไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายในเร็วนี้ อย่างน้อยก็สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งประธานเฟดอยู่ แต่อย่างไรก็ตามก็เป็นเพียงแนวคิดที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถึงความเป็นไปได้

นักเศรษฐศาสตร์บางคนตีความคำกล่าวของนางเยลเลน ว่าเฟดอาจรู้สึกเหน็ดเหนื่อยอย่างมาก กับนโยบายที่ใช้เพื่อแก้ปัญหาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่เป้าหมายเงินเฟ้อและการจ้างงานก็ยังไม่ขยับไปใกล้กับเป้าหมาย แม้ตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆที่ออกมานั้นชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งเป้าหมายตัวเลขเศรษฐกิจหลักๆที่ใช้กำหนดนโยบายในบางช่วงก็ดีขึ้น ในขณะที่บางช่วงก็กลับชะลอลง นั่นสะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

ประเด็นที่น่าพิจารณามากกว่าเฟดจะขึ้นหรือไม่ขึ้นดอกเบี้ย ก็คือวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นยาวนานนับสิบปี และเป็นไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก อีกทั้งยังไม่มีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวในเร็ววัน ในขณะที่ปัญหาข้างหน้ายังมีอีกมาก ทั้งกรณีอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป(อียู) เศรษฐกิจจีน ซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่าวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้กินเวลายาวนาน และอาจลากยาวจนไม่มีใครคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ และสะท้อนให้เห็นว่าเรายังอยู่กับภาวะเช่นนี้อีกนาน เพราะหาไม่แล้วเฟดคงไม่เสนอแนวคิดในการหาเครื่องมือใหม่ๆมาแก้ปัญหา

ดังนั้น ประเด็นที่น่ากังวลจากนี้ไป หากเฟดพยายามมองหาเครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาแก้ปัญหาเพิ่มเติมจากเดิมที่ใช้กันมานาน ก็ชี้ให้เห็นว่าเครื่องมือที่เคยใช้มานั้นเริ่มมีข้อจำกัด ทั้งเรื่องประสิทธิภาพของมาตรการและผลที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งแน่นอนว่านางเยลเลนแสดงท่าทีอย่างระมัดระวังถึงความสำเร็จหรือล้มเหลวของมาตรการเฟด แต่ในไม่ช้าอาจทำให้ตลาดเกิดข้อสงสัยหรือความไม่มั่นใจขึ้นมา ซึ่งนั่นจะทำให้การแก้ปัญหาเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้นไปอีกเป็นทวีคูณ

สำหรับกรณีของประเทศไทย ที่ผ่านมานั้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาดูแลค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดโดยตลอด เนื่องจากมีมุมมองว่าความผันผวนสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งสองทาง กล่าวคือค่าเงินบาทอาจอ่อนหรือแข็งค่าก็ได้ตามการเคลื่อนไหวของตลาด ซึ่งหมายความว่าเราถือว่าเป็นประเทศเล็กที่ไม่อาจต้านทานกระแสตลาดได้ และอย่างดีที่สุดคือดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบเท่านั้น คำถามก็คือแนวโน้มการปรับเปลี่ยนนโยบายในระดับโลกอาจเกิดขึ้น แม้ยังไม่เร็วมากนัก แต่เราได้ศึกษาเตรียมความพร้อมอย่างไร