มองผ่านการเลือกตั้งในอเมริกา (6)

มองผ่านการเลือกตั้งในอเมริกา (6)

ผมมีโอกาสอยู่ท่ามกลางการเลือกตั้งประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 2507 ยกเว้นปี 2519 ในช่วงเวลา 52 ปี

การเลือกตั้งที่มีความรุนแรงสูงสุดคือปี 2511 ซึ่งเป็นช่วงการต่อต้านสงครามเวียดนามการเลือกตั้งปีนี้มีการใช้วิชามารแบบหน้าด้านๆ มากที่สุด ปัจจัยที่นำไปสู่การใช้วิชามารแบบนั้นอาจมองว่าเป็นกลยุทธ์เฉพาะตัวของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งสื่อหลายสำนักวิจารณ์ว่าขาดความน่าเชื่อถือ แม้นายทรัมป์จะไม่น่าเชื่อถือและชนะการเลือกตั้ง แต่ผมมองว่ายังไม่น่าวิตกเท่ากับปัจจัยที่ยังไม่มีสื่ออเมริกันอ้างถึง นั่นคือ ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมจรรยาในสังคมอเมริกันอันเป็นความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ดร.โจเซฟ สติกลิตซ์

ย้อนไปเมื่อปี 2553 ดร.สติกลิตซ์ พิมพ์หนังสือชื่อ Freefall: America, Free Markets, and the Sinking of the World Economy ซึ่งคอลัมน์นี้ประจำวันที่ 7 พฤษภาคม 2553 นำมาวิจารณ์ ในหนังสือเล่มนั้น ดร.สติกลิตซ์มองว่าต้นตอของปัญหาในอเมริกาได้แก่ Moral Deficit ซึ่งคงแปลตรงๆ ว่า “การขาดดุลทางศีลธรรมจรรยา ในบทวิจารณ์ดังกล่าวผมเสนอด้วยว่าความเสื่อมทรามทางศีลธรรมจรรยาในสังคมไทย คือต้นเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 พร้อมกับตั้งความหวังว่า ดร.สติกลิตซ์ จะหาทางออกให้แก่แนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลัก ซึ่งเขามองว่ามีปัญหาสาหัสและผมมองว่ามีปัญหาถึงขั้นพบทางตันแล้ว

ผมต้องผิดหวังเพราะเขายังมิได้เขียนอะไรในแนวนั้น หากเขียนหนังสือเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำชื่อ The Price of Inequality ซึ่งพิมพ์เมื่อปี 2555 และเกี่ยวกับเงินสกุลยูโรชื่อ The Euro ซึ่งเพิ่งพิมพ์เมื่อสองสัปดาห์มานี้เอง เนื่องจากหนังสือสองเล่มนี้ไม่มีอะไรที่มองได้ว่าผู้เขียนบอกใบ้เกี่ยวกับทางออกของแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลัก ผมจึงมองว่าเขาคงไม่สนใจจะเขียนอะไรในด้านนี้แล้ว

อนึ่ง เมื่อต้นเดือนนี้ ดร.สติกลิตซ์ลาออกจากคณะกรรมาธิการตรวจสอบการบริการทางการเงินในปานามา เรื่องนี้มีที่มาจากการตีแผ่ชื่อของบุคคลและองค์กรที่ใช้บริการของสำนักกฎหมายแห่งหนึ่ง ซึ่งมีสัญชาติปานามา การตีแผ่นั้นเป็นที่รับรู้กันในนามของ Panama Papers หรือ “เอกสารปานามา” ซึ่งก่อให้เกิดความสงสัยว่ารัฐบาลปานามารู้เห็นเป็นใจและอาจมีส่วนได้กับการให้บริการซุกซ่อนทรัพย์สิน เพื่อเลี่ยงภาษีของเศรษฐีต่างชาติและเพื่อฟอกเงินของอาชญากร ดังเป็นที่ทราบกันดี มีชื่อคนไทยหลายโหลอยู่ในเอกสารนั้นด้วย

ดร.สติกลิตซ์ลาออกจากกรรมาธิการหลังทำงานอยู่หลายเดือน เพราะแน่ใจว่ารัฐบาลปานามาแต่งตั้งเขาเพื่อหวังจะฟอกตัวเองมากกว่าเพื่อค้นหาความจริง การลาออกเช่นนั้นสะท้อนตัวตนของ ดร.สติกลิตซ์กล่าวคือ เป็นนักวิชาการที่ยึดมั่นในหลักการสูง ความยึดมั่นนั้นนำไปสู่การโต้เถียงกันอย่างเผ็ดร้อนกับนักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มและกับกองทุนการเงินระหว่างเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ผมมองว่าถ้าเขาใช้ความยึดมั่นในหลักการพร้อมกับศักดิ์ศรีของการมีรางวัลโนเบลเสนอข้อคิดเกี่ยวกับทางออกสำหรับสองด้าน มันจะมีน้ำหนักมากพอที่จะมีผู้รับฟังและยับยั้งพฤติกรรมบางอย่างได้ ด้านแรกเกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลักซึ่งผมมองว่าพบทางตันแล้ว ด้านที่สองเกี่ยวกับความเสื่อมทรามทางศีลธรรมจรรยา ซึ่งกำลังแสดงออกมาในหลายเวทีรวมทั้งในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย

ผลของความเสื่อมทรามทางศีลธรรมจรรยาที่น่าวิตกที่สุดในปัจจุบัน ได้แก่ การเดินสวนทางกันระหว่างสภาพความแข็งแกร่งทางศีลธรรมจรรยากับอานุภาพของเทคโนโลยี ซึ่งมักมีคำสาปติดมาด้วยเสมอ คอลัมน์นี้เสนอเรื่องคำสาปของเทคโนโลยีแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่มีใครใส่ใจขอเสนอต่อไปว่าเทคโนโลยียิ่งมีอานุภาพสูงขึ้นเท่าไร สภาพความแข็งแกร่งทางศีลธรรมจรรยายิ่งต้องสูงขึ้นเท่านั้นทั้งนี้เพื่อยับยั้งคำสาปของมันที่มักแฝงมาด้วย

สังคมอเมริกันคงกำลังเสื่อมทรามทางศีลธรรมจรรยาดังการมองของ ดร.สติกลิตซ์จริง รัฐบาลอเมริกันจึงได้ขยายการรุกรานผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและอาวุธล่องหนรวมทั้งเครื่องบินไร้คนขับ

ไม่ว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดี ผมคาดว่าการรุกรานตามแนวดังกล่าวนี้จะมีต่อไป เมืองไทยจะลดผลร้ายของการถูกรุกรานและคำสาปของเทคโนโลยีที่มีอานุภาพสูงขึ้นไม่ได้ ตราบใดที่สภาพทางศีลธรรมจรรยาในสังคมไทยยังไม่แข็งแกร่งกว่าระดับของเมื่อตอนก่อนปี 2540