ปัญหาองค์กรธุรกิจที่เคยผูกขาด

ปัญหาองค์กรธุรกิจที่เคยผูกขาด

เมื่อ 2-3 วันก่อน มีข่าวบริษัทไปรษณีย์ไทยจะขออนุมัติจากกระทรวงไอซีทีต้นสังกัดให้ขึ้นค่าบริการ โดยเหตุผล

ไม่ได้ขึ้นราคามา ตัวอย่างของอัตราค่าบริการไปรษณีย์ที่ขอปรับขึ้น เช่น จดหมายจากอัตราปัจจุบันน้ำหนักไม่เกิน 20 กรัม จาก 3 บาท เป็น 8 บาท ไปรษณียบัตรจาก 2 บาทเป็น 5 บาท พัสดุไปรษณีย์น้ำหนักไม่เกิน 1,000 กรัม จาก 20 บาท ขึ้นเป็น 30 บาท ส่วนที่เกิน 1,000 กรัม จากที่คิด 1,000 กรัมละ 15 บาท เป็นคิด 1,000 กรัมละ 20 บาท ธนาณัติในประเทศ 1,000 บาท จาก 10 บาทขึ้นเป็น 15 บาท ส่วนที่เกิน 1,000 บาท จากคิด 1,000 บาทละ 2 บาท เป็น 1,000 บาทละ 5 บาท ของตีพิมพ์ น้ำหนักไม่เกิน 50 กรัม จาก 3 บาท ขึ้นเป็น 8 บาท

ธุรกิจไปรษณีย์เป็นธุรกิจที่เคยผูกขาดโดยรัฐ เมื่อก่อนเป็นรัฐวิสาหกิจต่อมาปรับเปลี่ยนเป็นบริษัท แต่ยังคงรูปแบบเหมือนรัฐวิสาหกิจเช่นเดิม เช่นเดียวกับธุรกิจที่เคยผูกขาดโดยรัฐอื่นๆ เช่น องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยที่แปรสภาพเป็นบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) การสื่อสารแห่งประเทศไทยที่แปรสภาพเป็นบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคทเทเลคอม ซึ่งดำเนินงานในลักษณะเดียวกัน คือเป็นรัฐวิสาหกิจในรูปบริษัท

ในปัจจุบันการผูกขาดยุติลงแล้ว รัฐวิสาหกิจไม่ได้เป็นผู้ผูกขาดอีกต่อไป เอกชนสามารถประกอบธุรกิจแข่งขันกับรัฐวิสาหกิจได้ เมื่อรัฐวิสาหกิจไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง ปัญหาจึงเกิดขึ้น นั่นคือมีรายได้ลดลง มีการขาดทุนเกิดขึ้น แต่เอกชนสามารถดำเนินธุรกิจไปได้ดีมีกำไร เพราะคุ้นเคยกับการแข่งขัน

ในสมัยก่อนเมื่อ 50-60 ปีโลกอยู่ในช่วงสงครามเย็น รัฐจำเป็นต้องควบคุมกิจการหลายอย่างเพื่อความมั่นคงของรัฐ เช่น กิจการโทรศัพท์ โทรคมนาคม การสื่อสาร จึงจัดตั้งรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องขึ้นมาผูกขาดดำเนินการ มีองค์การโทรศัพท์ การสื่อสารแห่งประเทศไทย การไปรษณีย์โทรเลข กิจการอื่นที่เกี่ยวข้องกับยุทธปัจจัยก็มีมาก เช่น องค์การฟอกหนัง องค์การแบตเตอรี่ องค์การทอผ้า ซึ่งเมื่อสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไปหลังสงครามเย็นจบลง การพัฒนาการค้าการลงทุนเสรีมีมากขึ้น รัฐวิสาหกิจอย่างองค์การฟอกหนัง องค์การแบตเตอรี่ องค์การทอผ้า ก็ไม่มีความจำเป็นจึงยุบเลิกไป ที่ยังมีอยู่ก็แปรเป็นบริษัทเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้เต็มที่ แต่ก็ติดปัญหาไม่สามารถปรับตัวได้เพื่อการแข่งขันกับเอกชนได้ ทำให้ขาดทุน

การแก้ไขปัญหาที่นิยมกันที่สุดในยุคสมัยที่ผ่านมา คือการขึ้นราคาสินค้าอันเป็นการผลักภาระไปให้ผู้บริโภค หากธุรกิจนั้นเป็นธุรกิจผูกขาดก็สามารถทำได้ง่ายเพราะไม่มีคู่แข่ง แต่เมื่อมีคู่แข่งแล้วการทำเช่นนั้นก็มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียลูกค้าไป แทนที่จะแก้ปัญหาได้ ก็กลับเป็นเหมือนเดิม

ในกรณีของบริษัทไปรษณีย์ไทยที่ขอปรับขึ้นราคาค่าบริการครั้งนี้ก็เช่นกัน นอกจากผลักภาระไปให้ผู้บริโภคแล้วยังเสี่ยงต่อการสูญเสียลูกค้าไปด้วย เพราะปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอกชนที่ให้บริการลักษณะเดียวกับบริษัทไปรษณีย์หลายราย ให้บริการลูกค้าดีเท่าหรือดีกว่าบริษัทไปรษณีย์ ราคาก็ถูกกว่า ผู้ใช้บริการก็นับวันแต่จะเพิ่มขึ้นเพราะผู้ให้บริการแต่ละรายต่างก็พัฒนาการบริการลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นตลอดเวลา จนเกิดแรงจูงใจให้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น

นั่นหมายความว่าทำลูกค้าของบริษัทไปรษณีย์ลดลงอยู่แล้วหากขึ้นราคาค่าบริการอีก อาจเป็นตัวเร่งให้ผู้ใช้บริการไปใช้บริการของเอกชนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก็เป็นได้

การผลักภาระไปให้ผู้บริโภคเพียงฝ่ายเดียว ถือว่าไม่เป็นธรรม ดังนั้นจึงน่าจะค้นหาสาเหตุที่แท้จริงว่ารายได้ที่ลดลงนั้น เป็นเพราะอะไร สามารถแก้ไขตรงจุดนั้นโดยไม่ต้องขึ้นค่าบริการหรือไม่

อย่าลืมว่า เอกชนที่เข้ามาแข่งขันกับไปรษณีย์นั้นก็มีค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกัน แต่ทำไมเขาจึงอยู่ได้ ไม่เพียงแต่บริษัทไปรษณีย์ไทยเท่านั้นที่ต้องค้นหาสาเหตุของการถดถอย บริษัทอื่นๆ ที่เคยเป็นหน่วยงานธุรกิจผูกขาดของรัฐทุกแห่งก็ต้องทำเช่นเดียวกัน