ลงประชามติแล้ว ประชาชนควรคิดทำอะไรไต่อไป

ลงประชามติแล้ว ประชาชนควรคิดทำอะไรไต่อไป

ผลการลงประชามติในอังกฤษที่แตกต่างกันอย่างเฉียดฉิว เพียง 3% เศษ ของคนที่มาออกเสียง สะท้อน

ที่ท่านพุทธทาสพูดไว้ว่า ประชาธิปไตยควรเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่แล้วแต่เสียงคนส่วนใหญ่ เพราะถ้าคนส่วนใหญ่มีความคิดที่ผิดๆ ก็จะทำให้สังคมทั้งหมดเสียหายได้

การลงประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญของคนไทยในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ จะออกมาเป็นอย่างไรก็ยังจะมีความรู้สึกไม่ค่อยพอใจและไม่แน่ใจว่าอนาคตประเทศไทยจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นได้อย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เข้าข้างคสช. ศาล และข้าราชการมากกว่าที่จะส่งเสริมภาคประชาชนให้เข้มแข็งขึ้น

การพิจารณารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ควรมองว่าเราชอบหรือไม่ชอบกับรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่เท่านั้น ประชาชนควรพิจารณาในเชิงกลยุทธ์วิถีด้วยว่าถ้ารับหรือไม่รับแล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป และประชาชนควรหาทางต่อรอง ต่อสู้ทางการเมืองต่อไปอย่างไร

รัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย ขึ้นอยู่กับการพัฒนาอำนาจการต่อรองของประชาชนกลุ่มต่างๆ อำนาจการต่อรองก็เกิดมาจากทั้งฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม ความรู้ความเข้าใจและการจัดตั้งองค์กร ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนคงต้องเรียนรู้ต่อสู้กันต่อไปอย่างยืดเยื้อ ยาวนาน นี่ไม่ใช่มวยยกสุดท้าย และรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่แก้วสารพัดนึก ที่จะแก้ปัญหาทุกอย่างหรือเรื่องที่ยากซับซ้อนอย่างเรื่องการทุจริตฉ้อฉลของเจ้าหน้าที่รัฐได้

ตัวอย่างเช่นรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 แม้จะให้สิทธิประชาชนมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านั้น จริงๆ แล้วก็ไม่ได้แก้ปัญหาหรือพัฒนาประเทศได้มากนัก และจะไปโทษว่าระบบทักษิณหรือระบอบที่นักการเมืองจากการเลือกตั้งทุจริตฉ้อฉล ใช้อำนาจบาตรใหญ่ ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา เป็นเพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 ก็ไม่ใช่อีกเช่นกัน เป็นเรื่องที่เกิดมาจากหลายปัจจัย มากกว่าแค่ตัวรัฐธรรมนูญ

ปัญหาการทุจริตฉ้อฉลของนักการเมือง/เจ้าหน้าที่รัฐมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองแบบทุนนิยมบริวาร ที่สร้างความเหลื่อมล้ำต่ำสูงระหว่างคนรวยคนจน คนมีการศึกษาและคนด้อยการศึกษา และวัฒนธรรมทางการเมืองแบบเจ้าขุนมูลนาย อุปถัมภ์นิยม มองแบบ 2 ขั้วสุดโต่ง เฉื่อยชา ยอมจำนน หวังพึ่งพาคนมีอำนาจ มากกว่าอยู่ที่ตัวบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเหมือนกติกา เป็นสัญญาประชาคมที่ไม่ได้มีผลบังคับใช้จริง

ในสภาพที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีรายได้ต่ำ ความรู้น้อย การรวมกลุ่มจัดตั้งน้อย มีอำนาจต่อรองน้อย รัฐธรรมนูญในทัศนะของชนชั้นหัวกระทิ ที่อ้างว่าจะแก้โกงและปฏิรูปประเทศได้ คงจะไม่สร้างผลสะเทือนขนาดนั้นได้ เพราะคสช. ศาล วุฒิสมาชิกจากการแต่งตั้ง ที่คงยังมีอำนาจคู่กันไปกับพวกนักเลือกตั้งหน้าเดิมๆ ไม่ได้มีความรู้ความสามารถในเรื่องการปฏิรูป และซื่อตรง มีวิสัยทัศน์ คิดประโยชน์ส่วนรวมก่อนส่วนตนและพรรคพวกมากพอที่จะปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมประเทศให้เป็นธรรมได้

ประชาชนต้องสนใจศึกษา วิเคราะห์เศรษฐศาสตร์การเมือง สังคมวิทยาและวัฒนธรรมการเมืองของไทยอย่างวิเคราะห์เจาะลึก และอย่างฉลาด รู้เท่าทันชนชั้นสูงมากขึ้น ประชาชน เช่นเกษตรกร คนงาน พนักงาน ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย จึงจะสร้างอำนาจต่อรองของกลุ่มพวกตนเอง และสร้างประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ได้ การคิดแบบ 2 ขั้วสุดโต่งเลือกเชียร์และหวังพึ่งพาระบอบทักษิณหรือคสช. ชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดแบบร้อยเปอร์เซ็นต์โดยไม่วิจารณ์ ไม่แยกแยะประเด็น ไม่ใช่ความหวังหรือทางออกในการปฏิรูป หรือแก้ไขปัญหาพัฒนาประเทศได้ด้วยกันทั้งนั้น

ประชาชนต้องศึกษาหาจุดยืน แนวคิด ที่รักษาผลประโยชน์ของชนชั้นหรือกลุ่มทางสังคมของตนเอง และมุ่งปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจการเมือง สังคม วัฒนธรรม ปฏิรูปการศึกษา สื่อมวลชน และเรื่องสำคัญต่างๆ ให้เป็นธรรม เป็นประชาธิปไตย โปร่งใส ประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวมและพัฒนาต่อได้อย่างยั่งยืนถึงรุ่นลูกหลานเหลน

ถ้าภาคประชาชนตื่นตัวปฏิรูปตัวเองและเพื่อนร่วมอาชีพ ร่วมชุมชน อย่างเอาจริงเอาจัง ไทยจะมีโอกาสพัฒนาประเทศได้ดีกว่าอังกฤษ ซึ่งมีประชากรน้อยกว่าไทยเล็กน้อย และมีพื้นที่เล็กกว่าไทยราวครึ่งหนึ่ง (ไทยมีประชากรมากเป็นอันดับที่ 20 และมีพื้นที่เพาะปลูกมากเป็นอันดับที่ 19 ของโลก จาก 200 ประเทศ) แทนที่จะดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบส่งเสริมทุนต่างชาติและทุนใหญ่ ควรจะปฏิรูปการศึกษา การฝึกอบรม การปฏิรูปที่ดิน การเกษตร และธุรกิจขนาดย่อม รวมทั้งวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ผู้ผลิตผู้บริโภค การพัฒนาพลังงานทางเลือก และเศรษฐกิจทางเลือกอื่นๆ ปฏิรูปการคลัง งบประมาณ ระบบภาษี และสวัสดิการ ทำให้คนส่วนใหญ่มีทรัพย์สินและรายได้เพิ่มขึ้น ประชาชนมีงานทำ มีผลิตภาพสูงขึ้น มีกำลังซื้อมากขึ้น เศรษฐกิจภายในประเทศ ตลาดภายในประเทศ ก็จะเติบโต และช่วยให้คนส่วนใหญ่มีชีวิตทางเศรษฐกิจสังคมที่ดีขึ้นได้ และประชาชนจะมีทางร่างรัฐธรรมนูญที่ดีและใช้งานได้จริง

(สถาบันปฏิรูปประเทศไทย ม,รังสิต ร่วมกับสมัชชาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย จัดสัมมนาระดมสมองหาแนวทางปฏิรูปประเทศไทยในเรื่องสำคัญๆ อย่างเป็นรูปธรรมในวันที่ 30-31 ก.ค.ที่มหาวิทยาลัยรังสิต เมืองเอก)