เมื่อประชาชนผิดหวังกับสิ่งที่มีอยู่

เมื่อประชาชนผิดหวังกับสิ่งที่มีอยู่

ผลประชามติของชาวอังกฤษที่กว่าครึ่งหนึ่ง (53.4 เปอร์เซ็นต์) ลงคะแนนให้ประเทศอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิก

สหภาพยุโรป เป็นพัฒนาการที่มีความหมายมาก ชี้ว่าประชาชนพร้อมที่จะปฏิเสธระเบียบ หรือรูปแบบความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจที่มีมายาวนานกว่าสี่สิบปีได้ถ้าไม่พอใจ กรณีสหภาพยุโรปต้องถือว่าเป็นโมเดลความสำเร็จของการรวมตัวทางเศรษฐกิจและการเจรจาระหว่างประเทศที่สามารถทำให้ประเทศกว่า 27 ประเทศที่เคยต่างคนต่างอยู่ มาร่วมค้าขายและลงทุนภายใต้กรอบกติกาเดียวกัน ถือเป็นความสำเร็จของการรวมตัวทางเศรษฐกิจ แต่การตัดสินใจของชาวอังกฤษก็เป็นสิทธิของประชาชนที่แสดงออกชัดเจนว่า ระเบียบทางเศรษฐกิจที่ใช้อยู่ปัจจุบันไม่ได้ให้ประโยชน์ต่อความเป็นอยู่อย่างที่หวัง และพร้อมแสวงหาทางเลือกใหม่ที่จะให้ประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ของตนมากกว่าที่เป็นอยู่

ในภาพใหญ่ของสังคมเศรษฐกิจโลก การตัดสินใจดังกล่าวสะท้อนความรู้สึกของประชาชนที่มีอยู่ในหลายประเทศที่ขณะนี้พร้อมจะปฏิเสธรูปแบบนโยบาย หรือระเบียบทางเศรษฐกิจที่กำกับความเป็นอยู่ของตน เพราะรู้สึกผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้น ที่นโยบาย แนวคิด และระเบียบเศรษฐกิจที่ใช้อยู่ไม่ได้ทำให้ความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้น โดยความผิดหวังหรือความไม่พอใจนี้มาจากสามเรื่อง

อันดับแรก คือผิดหวังในประโยชน์ที่ได้จากระบบการค้าเสรี หรือระบบโลกาภิวัฒน์ที่การเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจโลก ภายใต้แนวคิดดังกล่าวไม่ได้ให้ประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศอย่างที่คาดหวัง ผลของการเติบโตของเศรษฐกิจภายใต้ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม ที่ทำให้การค้าและตลาดทุนโลกเป็นตลาดเดียว ได้สร้างการเติบโตภายใต้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและรายได้ที่มีมากขึ้นมาก คนที่ร่ำรวยที่ได้โอกาสและใกล้ชิดกับกระแสทุนโลกได้ประโยชน์มาก คนที่พร้อมทำงานในอัตราค่าจ้างแรงงานถูกมีงานทำ ขณะที่ความเป็นอยู่ของชนชั้นกลางในหลายประเทศ เช่น สหรัฐ และอังกฤษถูกกดดัน และมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ต่ำลง

อันดับที่สอง คือผิดหวังในบทบาทนักการเมืองในประเทศของตน (political class) ที่ไม่ได้พยายามแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างโอกาสให้คนในประเทศสามารถได้ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจมากกว่าที่เป็นอยู่ ตรงกันข้ามนักการเมืองในประเทศดูจะแก้ปัญหาอะไรไม่ค่อยได้ มุ่งแต่จะแสวงหาอำนาจทางการเมือง ผ่านการเป็นตัวแทนกลุ่มทุนต่างๆ ทำให้นโยบายเศรษฐกิจที่ออกมา แทนที่จะช่วยแก้ไขปัญหาหรือลดความเหลื่อมล้ำ กลับช่วยเป็นเครื่องมือให้กลุ่มทุนแสวงหาความร่ำรวยได้มากขึ้นไปอีก พร้อมสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำมากขึ้นตามไปด้วย

อันดับที่สาม คือผิดหวังต่อกลไกเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ผ่านการทำหน้าที่ขององค์กรระหว่างประเทศต่างๆ รวมถึงสหภาพยุโรปที่ไม่สามารถช่วยประเทศสมาชิกที่มีปัญหาให้สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่มีอยู่ได้ แต่ได้กลายเป็นเครื่องมือให้กับการใช้อำนาจทางการเมืองของประเทศหลัก ตัวอย่างที่ชัดคือบทบาทของเยอรมนีและฝรั่งเศสในวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป โดยเฉพาะต่อปัญหาเศรษฐกิจที่กรีซมีมาตั้งแต่ปี 2010 แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้จนบัดนี้ ล่าสุดตัวเลขเศรษฐกิจชี้ว่ากรีซได้เข้าสู่ภาวะถดถอยช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัวติดลบร้อยละ 1.4

สภาพเศรษฐกิจและความไม่พอใจเหล่านี้ ได้สะสมมาตลอดหลังวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกปี 2008 การขยายตัวของเศรษฐกิจที่ต่ำต่อเนื่องทำให้ประชาชนในหลายประเทศยากจนลงหรือ มีความเป็นอยู่ที่ลำบากขึ้น ในประเทศที่กำลังพัฒนาบางประเทศ ความผิดหวังได้จุดประเด็นไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ ความรุนแรงของการทุจริตคอร์รัปชัน การเพิ่มขึ้นของการก่อการร้าย และการเติบโตของแนวคิดสุดโต่งจากกลุ่มหัวรุนแรงต่างๆ ขณะที่ในประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีระบบการเมืองเข้มแข็ง ความผิดหวังได้แสดงออกในรูปการใช้เสียงปฏิเสธ ระเบียบ นโยบาย หรือรูปแบบความเป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น กรณี Brexit หรือสนับสนุนแนวคิดสุดโต่งในการแก้ปัญหาที่ดูแล้วอาจไม่มีเหตุผล เช่น กระแสพุ่งแรงของ Donald Trump ในสหรัฐอเมริกาขณะนี้ที่เป็นตัวเต็งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปลายปีนี้

ในทุกประเทศ ประชาชนคาดหวังที่จะเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของตนดีขึ้น บ้านเมืองมีความสงบ ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพที่จะร่วมแสดงความเห็นและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ แต่ความผิดหวังที่มีอยู่ชี้ว่าระเบียบทางการเมืองและเศรษฐกิจ รวมถึงระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่เป็นแกนหลักของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ยังไม่สามารถให้คำตอบที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่สมหวังได้ ตรงกันข้ามเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำลง คนไม่มีงานทำมาก ความไม่แน่นอนมีสูง ความขัดแย้งระหว่างประเทศมีมากขึ้น และความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินมีน้อยลง

ถ้าความผิดหวังเหล่านี้ไม่มีการดูแลแก้ไข และความผิดหวังกลายมาเป็นความโกรธ การตัดสินใจของประชาชนที่ผิดหวังแบบกรณี Brexit ก็อาจจะเกิดให้เห็นมากขึ้นในอนาคต เป็นการส่งสัญญาณว่า การทำนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองภายใต้ระเบียบปัจจุบันจะต้องเปลี่ยนและต้องให้ความสำคัญมากขึ้นต่อความรู้สึกของประชาชน กรณี Brexit เป็นตัวอย่างที่ดีว่า ผู้ทำนโยบายและตลาดการเงินประเมินความรู้สึกของประชาชนผิดพลาด

แล้วเราจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ผมว่าคำตอบคงต้องมีในสองมิติ มิติแรก คือ มิติการเมือง ที่นักการเมืองต้องลดความสำคัญของพิธีกรรมการเมือง (Procedural democracy) เช่น การเลือกตั้ง การอภิปราย การตั้งคณะกรรมาธิการ การล็อบบี้คะแนนเสียง มาเป็นการเมืองที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและการรับฟังประชาชนโดยตรง (Substantive democracy) ให้ประชาชนมีช่องทางที่จะสื่อสาร (Voice) และถกเถียง (debate) ปัญหาที่กระทบความเป็นอยู่ของเขา เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา

มิติที่สอง คือ มิติเศรษฐกิจ ที่ปัญหาจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่ระบบเสรีนิยมว่าไม่ดี ระบบเสรีนิยมนั้นสามารถสร้างการเติบโตของรายได้และเศรษฐกิจได้ แต่ที่ขาดไปคือกลไกภายในประเทศที่จะช่วยลดทอนความเหลื่อมล้ำ ให้ความเป็นธรรม และนำมาสู่การแบ่งปันประโยชน์ที่ได้จากการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างทั่วถึงมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้การเติบโตของเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ