ระวังความขัดแย้งหลังประชามติ

ระวังความขัดแย้งหลังประชามติ

การประชามติร่างรัฐธรรมนูญการปกครองในวันที่ 7 ส.ค.นี้

 จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมืองอีกครั้งของประเทศไทย หลังจากรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บริหารประเทศมานานกว่าสองปี ซึ่งไม่ว่าผลการประชามติจะผ่านหรือไม่ก็ตาม การเมืองไทยก็กำลังก้าวไปสู่การมีกฎหมายสูงสุดบังคับใช้ กล่าวคือหากประชาชนส่วนใหญ่โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญก็จะมีกฎหมายสูงสุดบังคับใช้ แต่หากโหวตไม่รับร่างก็จะนำไปสู่ขั้นตอนของคสช. ในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญการปกครองโดยไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนยกร่างอะไรอีก

ประเด็นที่น่าพิจารณาในขณะนี้คือ การโหวตรับร่างหรือไม่รับร่าง รัฐธรรมนูญได้แบ่งประชาชนออกเป็นสองฝ่าย กล่าวคือ ผู้ที่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ กับผู้ไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าไม่มีความเป็นประชาธิปไตยในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้ความแตกต่างทางความคิดระหว่างคนสองกลุ่มใหญ่ในสังคม ดังนั้นปัญหาใหญ่จากนี้ไปคือจะทำอย่างไร ให้ความขัดแย้งดังกล่าวอยู่ในขอบเขต จนไม่นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงเหมือนในอดีต ซึ่งความขัดแย้งที่ผ่านมาย่อมเป็นบทเรียนได้อย่างดีว่า ในที่สุดแล้วก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายใด

ประเด็นสำคัญยิ่งกว่าผลโหวตรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน ก็คือทำอย่างไรให้เกิดการพูดคุยหรือถกเถียง ในประเด็นที่คนเห็นว่าเป็นปัญหาต่อกฎหมายสูงสุดของประเทศ และทำอย่างไรจะทำให้มีการแก้ไขหากพบว่ามีปัญหาจริงๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบหากเราต้องการให้ระบอบประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไป เนื่องจากขณะนี้ต่างฝ่ายต่างก็เห็นพ้องตรงกันว่า ระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในสังคมการเมืองไทย แต่มีความเห็นต่างกันตรงรายละเอียดของระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น

ความคาดหวังที่ว่าหากมีรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว ทุกอย่างจะเดินหน้าต่อไปได้และจะเกิดความสมานฉันท์ ภายใต้กติกาใหม่ภายใต้แผนการปฏิรูปการเมืองใหม่ของคสช.นั้น เป็นเรื่องแค่ความฝันเท่านั้นยิ่งในโลกยุคใหม่ที่เกิดการแย่งชิงในแทบทุกเรื่อง จึงเป็นไปได้ยากจะเกิดความสมานฉันท์เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ดังนั้น เราต้องยอมรับตั้งแต่ต้นว่าถึงอย่างไรความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็เป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่เราจะมีกลไกอย่างไรไกล่เกลี่ยความขัดแย้งและนำไปสู่การเคารพสิทธิซึ่งกันและกันตามหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาดูเหมือนว่ารัฐบาลและคสช. พยายามสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ในทางตรงกันข้ามความขัดแย้งกับดำรงอยู่และเริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆในประเด็นต่างๆ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถคาดเดาได้ว่าหลังจากประชามติในครั้งนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับการเมืองไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากประเมินได้ แต่เราก็หวังว่าจะไม่เกิดความรุนแรงภายหลังจากการโหวตครั้งนี้ และเรายังเชื่อว่าทุกฝ่ายสามารถพูดคุยและถกเถียงกันด้วยเหตุผลได้ หากมีการจัดเวทีพูดคุยกันอย่างจริงจัง

แน่นอนว่าคสช.และรัฐบาลยึดมั่นกับแนวทางการปฏิรูป ซึ่งขณะนี้ดูเหมือนกำลังเข้าสู่ช่วงการปฏิรูปการเมือง อย่างเป็นรูปธรรมจากการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แต่ที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่าแนวทางการปฏิรูปนั้น ถูกกำหนดหรือร่างขึ้นมาจากผู้รู้ที่คสช.แต่งตั้งขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งในประเด็นนี้จึงถูกมองได้ง่ายว่าจะเป็นการกีดกันแนวทางการปฏิรูปจากคนกลุ่มอื่นในสังคม ดังนั้นประเด็นสำคัญเพื่อลดความขัดแย้งให้อยู่ในขอบเขตจากนี้ไปคือการเปิดช่องให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเปิดเวทีถกเถียงด้วยเหตุผลเท่านั้นจึงจะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองได้ เพราะเรายังเชื่อเสมอว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ล้วนแต่เป็นคนไทยด้วยกันทั้งนั้น เรายังเชื่ออยู่เสมอว่าด้วยรากฐานความเป็นประเทศและคนไทยด้วยกัน ก็จะมีทางออกที่ดีหากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความปราถนาดีกับประเทศไทย และต้องการเห็นประชาธิปไตยของไทยพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืน