ความน่ากลัวของก่อการร้าย

ความน่ากลัวของก่อการร้าย

แม้เหตุการณ์รถยนต์พุ่งชนศาลพระพรหม เมื่อวันศุกร์

 จะเป็นเรื่องของโรคภัยที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน ไม่ใช่เรื่องก่อการร้ายคล้ายขับรถบรรทุกพุ่งชนฝูงคนที่เมืองนีซ ฝรั่งเศส

แต่บริเวณศาลพระพรหมเมื่อเกือบ 1 ปีที่แล้ว ก็มีระเบิดครั้งใหญ่เกิดขึ้น ถึงวันนี้เรายังไม่สรุปกันชัดๆ เสียทีว่าเหตุระเบิดราชประสงค์เมื่อ 17 ส.ค.58 มีมูลเหตุจากเรื่องใด และคนที่ถูกจับ 2 จาก 17 คน เชื่อมโยงกับใครหรือกลุ่มใดกันแน่

การที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบนิ่งเงียบ แปลว่ามีข้อมูลแต่ไม่อยากพูด หรือไม่รู้อะไรเลย

เหลียวดูสถานการณ์โลก ห้วงเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์มีเหตุการณ์ก่อการร้ายเกิดขึ้นถี่ยิบ โดยเฉพาะในยุโรป สะท้อนภาพการก่อการร้ายสมัยใหม่ที่เกิดได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทยอีกต่อไป

อ.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง บอกว่า ผู้ก่อการร้ายในปัจจุบันมีลักษณะเป็น โลนวูล์ฟ หรือหมาป่าตัวเดียวออกล่าเหยื่อ หลายๆ ครั้งไม่ได้สังกัดองค์กรใด และสามารถปฏิบัติการได้เองโดยไม่ต้องรอคำสั่งจากใครหรือกลุ่มใด

อินเทอร์เน็ตกลายเป็นเครื่องมือการจัดตั้งที่ดีที่สุด ขณะที่ YouTube กลายเป็นเครื่องมือในการโฆษณาประชาสัมพันธ์แนวคิดอุดมการณ์ชั้นเยี่ยม

เงื่อนไขการก่อการร้ายถูกผูกโยงเข้ากับชาติพันธุ์ ศาสนา และชาตินิยม ทำให้การก่อการร้ายกลายเป็นอัตลักษณ์ของคนที่จะแสดงออก นี่คือโจทย์สังคมชุดใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน กิจกรรมผิดกฎหมายทุกอย่างจะเปลี่ยนเป็นก่อการร้ายได้ทั้งหมด

เมื่อเป็นแบบนี้ย่อมเท่ากับโลกทั้งโลกคือสนามรบ พื้นที่เมืองเป็นพื้นที่ความรุนแรง ฐานันดรของสังคมไม่เกี่ยวข้องอีกต่อไป เพราะวันนี้ตัวขับเคลื่อนใหญ่กลายเป็นคนมีการศึกษา

อ.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร นักวิชาการด้านความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่า พิจารณาจากโครงสร้างความรุนแรง การก่อการร้ายในยุคโลกาภิวัตน์ จะเป็นระดับภูมิภาคขยายสู่ระดับโลก และสุดท้ายจะย้อนมาท้องถิ่น

ความขัดแย้งในระดับชุมชนท้องถิ่นที่มีมากขึ้น จะทำให้ สัญลักษณ์ของความต่าง ถูกโจมตี โลนวูล์ฟที่มีอยู่มากมายจะโจมตีสัญลักษณ์เหล่านั้นทันทีเมื่อเกิดความไม่พอใจ

ฉะนั้นในอนาคตอันใกล้จะมีปัญหาในการจำแนกว่า เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นการก่อการร้าย หรืออาชญากรรมที่เกิดจากการแพร่อุดมการณ์

ประเทศไทยเตรียมรับมือสถานการณ์เหล่านี้เอาไว้บ้างหรือยัง?