Startups ประเทศไทย : พลังมหาศาล

Startups ประเทศไทย : พลังมหาศาล

ที่รอแรงหนุนจริงจังเร่งด่วนจากรัฐ

ไทยเราได้พูดจาเสวนากันเรื่อง startups เป็นพลังขับเคลื่อนอนาคตประเทศมานานพอแล้ว ได้เวลาที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องออกวิ่ง start กันอย่างจริงจังแล้ว มิฉะนั้นเราก็จะเป็นเพียง Nato Startup นั่นคือ No Action Talk Only เท่านั้น

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมไปร่วมงานตั้งวงสนทนาว่าด้วย startups ของประเทศไทย ที่กำลังเป็นกระแสสำคัญสำหรับการผลักดัน ให้เราทันกับความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ที่มีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยเราอย่างยิ่ง

ผมได้พบปะคนรุ่นใหม่ที่กระโดดเข้ามาสร้างธุรกิจ startups ของตนเองอย่างคึกคักในหลายๆ วงการ เป็นแนวโน้มที่น่าตื่นตาตื่นใจ ท้าทายและไม่อาจปฏิเสธได้

คนเก่งคนกล้าในโลกยุคใหม่ของไทยมีมากครับ คนในวงการ “กำกับดูแล” หรือ regulators ก็เข้าใจและรับฟังอย่างเปิดกว้างขึ้นมาก การระดมทุนสำหรับการก่อร่างสร้างตัวของ ผู้ประกอบการ ยุคดิจิตัลก็พร้อมจะไหลเข้ามา

กุญแจสำคัญที่ต้องไขออกสู่ประตูใหญ่คือการแก้ไขกติกาและสร้างความชัดเจนในทุกระดับ

ผมเชื่อว่าคนในสังคมที่ยังไม่รับรู้ถึงกระแสความเปลี่ยนแปลง ที่กำลังเขย่าโลกนี้ยังมีอีกเป็นจำนวนมาก... บางคนอาจจะได้ยินได้รับรู้ผ่านหูผ่านตาไปบ้าง แต่ไม่ตระหนักว่า สึนามิ แห่งความเปลี่ยนแปลงกำลังมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน และวิถีแห่งสังคมในทุกๆ ด้านอย่างหนักหน่วงรุนแรงเพียงใด

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมไปร่วมวงเสวนาว่าด้วย startups กับผลต่อเศรษฐกิจไทยในงาน Techsauce Summit ซึ่งเป็นงานระดมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เชื่อมโยงกับธุรกิจ startups ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ผู้คนมาร่วมกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ทุกคนมีความมุ่งมั่น ความหวังและพร้อมจะรับความท้าทายในการแสวงหาโอกาสธุรกิจใหม่ ที่เป็นวิถีแห่งชีวิตยุคใหม่ของโลก ก่อนหน้านั้นสองวัน ผมไปร่วมโต๊ะกลมในการเปิดตัว “ชมรม Fintech แห่งประเทศไทย”อย่างเป็นทางการ มีผู้เกี่ยวข้องมาร่วมแสดงความคิดเห็นมากมาย รวมถึงท่านรัฐมนตรีช่วยคลัง ท่านผู้ว่าแบงค์ชาติ ท่านเลขาฯคปภ. (กำกับดูแลธุรกิจประกัน) และท่านรองเลขาฯก.ล.ต. (ดูแลธุรกิจหลักทรัพย์)

FinTech ย่อมาจาก Financial Technology อันหมายถึงการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะผ่านมือถือในการทำธุรกรรมทางการเงินที่ไม่ต้องผ่าน กลไกกลาง เช่นธนาคารหรือสถาบันการเงินใด ๆ อีกต่อไป

คุณกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีคลัง เป็นประธานคนแรกของชมรม มาเล่าว่าเป้าหมายของการตั้งชมรมนี้มีอย่างนี้

1. ช่วยลดต้นทุนธุรกรรมทางการเงินทุกประเภทให้คนไทยทุกคน

2. ช่วยให้คนไทยทุกระดับเข้าถึงข้อมูลและการบริการทางการเงิน

3. ช่วยกระตุ้นให้การแข่งขันในอุตสากรรมการเงินการลงทุน มีความโปร่งใสและยุติธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับลูกค้ารายเล็ก

4. ช่วยส่งเสริมให้ Fintech ไทยเข้มแข็ง และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

คุณวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่าแบ็งก์ชาติตระหนักความสำคัญของฟินเทค และกำลังปรับตัวทุกด้านเพื่อส่งเสริมให้เกิดอย่างเป็นระบบ... ทั้งให้ทันกับเทคโนโยลีและสามารถป้องกันผู้บริโภคไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดีด้วย

ที่น่าสนใจคือผู้ว่าธนาคารกลางบอกว่าปีนี้เป็นปีแรก ที่ธนาคารพาณิชย์ในระบบมีการขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย ปิดสาขามากกว่าการขอนุญาตเปิดสาขา สะท้อนว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทยกำลังปรับตัว รับกับการเข้ามาของเทคโนโลยีในการให้บริการทางการเงินและชำระเงิน หรือ FinTech เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และลดต้นทุน

ผู้ว่าฯธปท. บอกด้วยว่าขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ผู้ให้บริการฟินเทค สามารถจัดตั้ง และให้บริการ ฟินเทค ได้ง่ายขึ้น คาดว่าจะประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ได้ในไตรมาส 4 ปีนี้

นอกจากนี้ยังได้แก้ไขกฎเกณฑ์อื่นด้วย ทั้งอนุญาตให้ ฟินเทค เข้าเป็นสมาชิกบัตรเครดิตบูโร การให้บริการมาตรฐานคิวอาร์โค้ดในระบบการชำระเงิน รวมทั้งการออกพระราชบัญญัติ ระบบการชำระเงิน ซึ่งธปท.เป็นผู้ดูแลธุรกิจจะให้บริการเกี่ยวกับการชำระเงินทั้งหมด ร่างกฎหมายนี้ผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาคณะกรรมการกฤษฎีก่อนส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

ขั้นตอนจากนี้ไปอีกยาวนานแค่ไหนไม่มีใครรู้ แต่ที่ผมได้สนทนากับคนรุ่นใหม่ที่ทุ่มตัวลงมาทำ startups เต็มตัวนั้นพวกเขากระตือรือร้น ต้องการเห็นการปรับแก้กติกาและเงื่อนไขจูงใจอย่างเร่งด่วน

หาไม่แล้วเราจะล้าหลัง ถูกเพื่อนบ้านแซงหน้าและเข้าสู่วงการเมื่อ ตลาดวายแล้วหรือ เขาย้ายตลาดไปที่อื่นแล้วอย่างแน่นอน