Whistleblower ผู้เป่านกหวีดสัญญาณเตือน

Whistleblower ผู้เป่านกหวีดสัญญาณเตือน

คำว่า Whistleblower หรือผู้เป่านกหวีด คือการทำเสียงดังขึ้นเพื่อเป็นสัญญาณหรือรหัสในการเตือนให้ผู้อื่นได้ยินหรือทราบเรื่องราวที่ไม่ชอบมาพากล

ในทางจรรยาบรรณธุรกิจและการกำกับดูแลกิจการที่ดี ได้นำศัพท์คำนี้มาใช้เพื่อหมายถึง ใครก็ตามที่มีความไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่ผิดกฏหมาย ผิดจรรยาบรรณ หรือ เป็นความประพฤติที่มิชอบในด้านการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคอร์รัปชั่น การสมรู้ร่วมคิด การกระทำทุจริต

จึงอยากต้องการเป่านกหวีดใส่หน้า เพื่อเปิดโปงพฤติกรรมฉ้อฉลให้คนทั่วไปได้ทราบ

ผู้เป่านกหวีด ต้องการแจ้งเบาะแส หรือเตือนให้ทราบว่ามีปัญหาเกิดขึ้นในธุรกิจนั้นๆ โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นปัญหาทางการเงินหรือฐานะทางการเงินที่เกิดขึ้นจากการจงใจ หรือส่งสัญญาณให้ทราบว่า สิ่งที่เปิดเผยให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี หรือเรื่องปกตินั้น ความจริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างที่เห็น

ผู้เป่านกหวีดส่วนใหญ่ จะเป็นพนักงานหรือผู้ปฏิบัติงานในองค์กรนั้นๆ นั่นเอง เนื่องจากจะเป็นผู้ที่มีโอกาสได้รู้ได้เห็นการกระทำได้อย่างใกล้ชิด

การทุจริตในหน้าที่ เป็นสิ่งที่จะบ่อนทำลายความยั่งยืนและความมั่งคั่งของธุรกิจได้อย่างรุนแรงจนคาดไม่ถึง และมีตัวอย่างขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่มากมายที่ต้องล้มละลาย หายออกไปจากวงการธุรกิจ และในบางครั้ง อาจมีผลกระทบถึงเศรษฐกิจในระดับชาติ หรือชื่อเสียงภาพลักษณ์ที่ดีในทางธุรกิจ

เนื่องจากผู้เป่านกหวีดมักจะเป็นคนในบริษัท ดังนั้น การเปิดเผยตัวตน จึงอาจเป็นภัยต่อหน้าที่การงานของตนโดยตรง ธุรกิจที่มีการบริหารจัดการตามแนวทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืน จึงต้องมีนโยบายและแนวปฏิบัติที่จะปกป้องผู้เป่านกหวีด เพื่อสนับสนุน ปกป้อง และกำหนดเกณฑ์ที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย อันจะนำธุรกิจไปสู่ความโปร่งใส ความมั่นคงทางการเงิน และการดำเนินธุรกิจไปได้อย่างยั่งยืน

องค์การหอการค้าโลก หรือ ICC (International Chamber of Commerce) ได้กำหนดแนวทาง 8 ประการ เพื่อให้ธุรกิจโดยทั่วไปได้ถือเป็นแนวปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีการเป่านกหวีดและผู้เป่านกหวีดไว้ ดังนี้

1.องค์กรธุรกิจทุกแห่ง ควรกำหนดข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีภายในขององค์กรที่ครอบคลุมระบบที่เกี่ยวกับเหตุการณ์การเป่านกหวีดที่เหมาะสมกับขนาดและประเภทการดำเนินธุรกิจ

2.ระบบดังกล่าว จะต้องมีเป้าหมายไปสู่ 

(ก.) การรับข้อร้องเรียนที่มีเหตุผลหรือมีมูลเกี่ยวกับความโปร่งใสหรือจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจที่ส่งมาจากพนักงานของบริษัท พนักงานของบริษัทในเครือ พนักงานของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เช่น คู่ค้า ลูกค้า และบุคคลทั่วไป

(ข.) การดำเนินการเพื่อการสอบสวนและแก้ไขเหตุการณ์ที่ผิดพลาดในทันทีที่สามารถทำได้ ด้วยความเที่ยงตรงและยุติธรรม

3.องค์กรธุรกิจ ควรแต่งตั้งผู้ที่มีประสบการณ์หรือมีความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับ ให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการหรือคณะผู้บริหารของธุรกิจ เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลระบบการเป่านกหวีด โดยให้อำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบในการดำเนินการตามระบบการเป่านกหวีดที่กำหนดไว้อย่างเต็มที่ และรายงานโดยตรงต่อผู้บริหารสูงสุดของธุรกิจ หรือธุรกิจ อาจจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาภายนอกที่เป็นกลาง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท เพื่อเข้ามารับผิดชอบในเรื่องนี้

4.ธุรกิจสามารถกำหนดช่องทางในการติดต่อสื่อสารเกี่ยวกับการเป่านกหวีดได้ตามความเหมาะสม เช่น การรับการร้องเรียนด้วยวาจาผ่านหมายเลขโทรศัพท์เฉพาะที่กำหนดไว้ หมายเลขรับข้อร้องเรียน หรือการใช้ระบบสื่อสารทางคอมพิวเตอร์ หรืออินเทอร์เน็ต หรือวิธีอื่นใด โดยต้องพยายามให้ระบบการสื่อสารดังกล่าว สามารถรับข้อมูลได้ในวงกว้าง หรือ มีบริการภาษาต่างประเทศอื่นๆ ให้มากที่สุด

5.ระบบรับข้อร้องเรียนจากการเป่านกหวีดที่กำหนดไว้โดยเป็นการสมัครใจจะต้องไม่ได้รับอิทธิพลอื่นใดจากภายนอก หากธุรกิจดำเนินการในพื้นที่ที่เรื่องของการปกป้องผู้เป่านกหวีดถูกกำหนดให้เป็นข้อกฎหมาย ธุรกิจจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายนั้นอย่างเคร่งครัด

6.หากไม่มีข้อกำหนดทางกฎหมาย ธุรกิจอาจพิจารณาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินกิจกรรมการเป่านกหวีดของบริษัทในรอบปีที่ผ่านมาต่อสาธารณะหรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่ไม่เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ บริษัทควรมีระบบภายในที่ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมขององค์กรที่จะเผยแพร่ให้บุคลากรทั่วไปได้ทราบถึงเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น

7.รายงานกรณีการเกิดการเป่านกหวีดจะต้องได้รับการกลั่นกรองและตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน ในกรณีที่ข้อร้องเรียนไม่เป็นความจริง บริษัทจะต้องแจ้งคำอธิบายให้ผู้ร้องเรียนรับทราบ ในกรณีที่พบว่าข้อร้องเรียนเป็นจริง บริษัทจะต้องแจ้งความผิดต่อผู้กระทำผิด เพื่อให้มีโอกาสได้ชี้แจงข้อกล่าวหาได้อย่างเต็มที่

8.พนักงานของบริษัททุกคนที่ระแคะระคายเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสหรือการประพฤติผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณของบริษัท จะต้องได้รับการอบรมให้ทราบถึงระบบที่มีการคุ้มครองผู้เป่านกหวีด ว่าจะได้รับปกป้องจากการกระทำที่อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อตนเอง เช่น ถูกตอบโต้ กล่าวโทษ หรือได้รับความไม่เป็นธรรมอื่นๆ ในการทำงาน รวมถึงผลกระทบต่อรายได้ โดยบริษัทจะต้องรักษาข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาและตัวตนของผู้เป่านกหวีดเป็นความลับสุดยอด

เมื่อธุรกิจได้รับทราบแนวทางการบริหารธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน ผ่านแนวทางการจัดทำระบบการเป่านกหวีดในทุกข้อของรายละเอียดนี้แล้ว ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริหารระดับสูงจะตัดสินใจชั่งน้ำหนักในเรื่องนี้อย่างไร

ถ้ายังไม่พร้อมที่จะทำ ก็ควรศึกษารายละเอียดและตัวอย่างต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงกับธุรกิจอื่นๆ ถึงข้อดีข้อเสียของแนวคิดนี้ และหากพร้อมเมื่อไหร่

ก็ขอให้ลงมือทำได้ ทันทีครับ!!!