วิสัยทัศน์ท่องเที่ยวไทย 2579

วิสัยทัศน์ท่องเที่ยวไทย 2579

ผู้เขียนได้รับเอกสารส่งต่อจากผู้เข้าร่วมประชุมของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาเกี่ยวกับ Thailand Tourism

Vision 2036 จัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษาบรรษัทข้ามชาติ Roland Berger ซึ่งได้ทำแผนชาติสำหรับการท่องเที่ยวไทยใน 20 ปีข้างหน้า โดยได้ไปรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มต่างๆ ในแต่ละภาคของไทย ได้ประมาณการเบื้องต้นไว้ว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีอัตราเพิ่มเฉลี่ย 12% ต่อปี และในปี 2578 จะมีรายได้ถึง 12.7 ล้านล้านบาท เพิ่มจาก 1.4 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน และจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวไทย 9 ล้านล้านบาท เพิ่มจาก 0.8 ล้านล้านบาทในปี 2558 เป็นอัตราเพิ่มถึง 13% ต่อปี เป็นที่น่าสังเกตว่าแผนนี้ไม่ระบุจำนวนนักท่องเที่ยว อาจจะเป็นเพราะอยากเน้นทางด้านรายได้ อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวก็ต้องนำมาพิจารณาเพราะเป็นข้อมูลจำเป็นสำหรับการวางแผนด้านสาธารณูปโภคเพื่อรองรับในอนาคต

แผนนี้ได้ให้ความสำคัญกับสมรรถนะของสนามบินและการเดินทางเชื่อมต่อกับเมืองต่างๆ และการจัดประชุมนานาชาติ ร่างแผนได้ระบุชัดเจนถึงจุดอ่อนของไทยคือ (1) ขีดความสามารถในการรองรับจำกัด (2) ปัญหาแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม (3) ปัญหาความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว (4) บุคลากรไม่เพียงพอทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ และ (5) ขาดบูรณาการด้านจัดการของทุกภาคส่วนและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งได้สรุปวิสัยทัศน์ว่า “ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำของโลก โดยเติบโตอย่างมีดุลยภาพและเชิดชูวิถีไทย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการกระจายรายได้สู่ประชาชนทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน” โดยมียุทธศาสตร์หลักที่จะปรับปรุง 5 ด้าน ได้แก่ (1) Offerings (2) Infrastructure & Amenities (3) Human Capital (4) Marketing & Branding และ (5) Governance

ผู้เขียนขอถือโอกาสมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในฐานะผู้เคยทำแผนท่องเที่ยวมาก่อน ดังนี้

ในการทำแผนระยะยาวมากๆ เรามักไม่ใช้ค่าพยากรณ์เชิงสถิติเพราะมักจะไม่แม่นยำ ยิ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างนักท่องเที่ยวของไทยเปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดคิด นักท่องเที่ยวจีนทะลักเข้ามาด้วยอัตราเพิ่ม 60-70% ต่อปี ภาษาพยากรณ์เขาเรียกว่า เทรนด์หัก ดังนั้น การพยากรณ์ในระยะยาวจึงไม่ควรใช้วิธีเชิงสถิติในการพยากรณ์ ต้องใช้วิธีการสร้างฉากทัศน์ในอนาคต (Future Scenarios) แทน

ฉากทัศน์ก็คือ ภาพของความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในด้านท่องเที่ยว ฉากทัศน์จะถูกนำมาใช้ในการทำแผนสำหรับกรณีสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก โดยเอาตัวแปรที่มีความไม่แน่นอนสูงมาสร้างฉากทัศน์

ตัวแปรในการทำแผนมี 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีเทรนด์แน่นอน ที่เห็นได้ชัดได้แก่การเข้าสู่สังคมสูงวัย และกลุ่มที่ไม่แน่นอนซึ่งมีมากกว่ามากเช่นแรงงานข้ามชาติที่ร่างแผนฯ ไม่ได้กล่าวถึง ถ้าแรงงานเหล่านี้เดินทางกลับถิ่นฐานกันมากจะทำให้เราขาดแคลนแรงงานใน Back Office มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ นอกจากนี้ ยังมีตัวแปรอื่นๆ เช่น ขบวนการการก่อการร้าย โดยเฉพาะใน 5 ปีข้างหน้าเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยีพลังงาน และการใช้นวัตกรรมการเดินทางใหม่ก็เป็นตัวแปรสำคัญ ตัวอย่างเช่นเราจะมีรถไฟความเร็วสูงจริงหรือไม่ กรมการบินพลเรือนจะช่วยชาติให้พ้นใบแดงใบเหลืองอย่างยั่งยืนหรือไม่ ถ้าคำตอบเหล่านี้คือใช่ ก็จะทำให้เราสามารถเปิดเที่ยวบินตรงสู่เมืองรองกับจีนได้ จำนวนและรายได้ท่องเที่ยวของเราก็จะมหาศาลกว่าที่ร่างแผนนี้คาดไว้ การจัดการด้านการรองรับจะเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ

ในการสร้างฉากทัศน์ เรามักจะเลือกตัวแปรที่สำคัญที่สุด 2 ตัว เพื่อที่น่าจะเป็นไปได้มาสัก 2-3 ฉากทัศน์เทียบกับวิสัยทัศน์ จึงจะได้ยุทธศาสตร์ระยะยาวว่าเราจะต้องทำอะไรเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะตามมา หรือจะสร้างโอกาสใหม่ในระยะยาวเพื่อไปให้ถึงจุดหมายคือ วิชั่น ถ้าเรามีฉากทัศน์ว่าแรงงานข้ามชาติระดับล่างจะเดินทางกลับเกือบหมด บวกกับการที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสุดยอด (Super Aged Society) คือมีผู้สูงอายุถึง 29% ของจำนวนประชากรทั้งหมด กลยุทธ์ด้านบุคลากรจะสำคัญมากรวมไปถึงกลยุทธ์การชะลอแรงงานสูงอายุของภาคท่องเที่ยวให้เป็นกำลังแรงงานให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องมีเทคโนโลยีทุ่นแรงที่เข้ามาช่วยอีกด้วย รวมทั้งการปรับทักษะแรงงานเป็นระยะๆ เพราะแรงงานหนุ่มสาวในปัจจุบันเป็นแรงงานที่มีทักษะน้อยและเป็นแรงงานที่ล้นมาจากภาคเศรษฐกิจอื่นๆ

ร่างแผนที่วางไว้ ดูเหมือนเป็นแผน 5 ปีที่ดี แต่ยังไม่ใช่แผน 20 ปี แผน 20 ปีต้องให้ความสนใจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตรวมทั้งนวัตกรรมด้านนโยบายสาธารณะมากกว่านี้ เช่น ถ้าเราสนใจ Medical Tourism ก็ควรมีความรู้ว่าเทคโนโลยีด้านการแพทย์อีก 20 ปี จะเปลี่ยนไปอย่างไร ถึงเวลานั้นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอาจจะพกแผนที่พันธุกรรมติดตัวมาด้วย การรักษาพยาบาลจะกลายเป็น Precision and Smart Medical Treatments การรักษาโดยใช้สเต็มเซลล์จะมีอุปสรรคปัญหาด้านกฎหมายและจริยธรรมแค่ไหน

และถ้าคนจีนเข้ามามาก Medical Tourism จะเปลี่ยนจากการขายแบบ Retail เป็น Wholesale หรือไม่ กล่าวคือ ซื้อขายการดูแลสุขภาพแบบขายส่ง คือเจรจาผ่าตัดหัวเข่าครั้งละ 20,000 เข่าไม่ใช่แค่ทีละ 2 เข่าเช่นในปัจจุบัน เราจะทำได้ไหม ถ้าไทยยังมีจำนวนแพทย์ไม่เพียงพอแม้แต่สำหรับคนไทย แต่เรายังบังคับให้แพทย์ชาวต่างชาติที่อยากเข้ามาทำงานในประเทศต้องสอบใบประกอบโรคศิลป์ภาษาไทย (ทั้งๆ ที่เราเข้า AEC ไปแล้ว!) ดังนั้นในแผนระยะยาวการแก้ไขปัญหาเชิงสถาบัน กฎระเบียบต่างๆ จะเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องรีบลงมือทำเสียตั้งแต่วันนี้

ผู้เขียนเห็นว่าแผน 20 ปี ไม่จำเป็นต้องเป็นห่วงเรื่องการสร้างภาพลักษณ์ การสร้างแบรนด์และการตลาดมากเท่าไหร่ การตลาดส่วนใหญ่เป็นเรื่องระยะสั้นมากกว่าระยะยาวจึงควรยกให้ ททท.ไป เพราะแผนการตลาดต้องมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงและพลิกแพลงให้เข้ากับสถานการณ์ แต่แผน 20 ปี ต้องใส่ใจเรื่องโครงสร้างทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่อาจรวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดที่เกิดจากตัวแปรอื่นๆ เช่นเทคโนโลยี จึงต้องคาดคะเนนวัตกรรมทางการตลาดและการเงินใหม่ ซึ่งในขณะนี้ก็เริ่มแล้วคือ Super E-commerce ยักษ์ใหญ่ของจีน เช่น Tencent Baidu และ Alibaba ที่จะเข้ามาควบคุมการตลาดและตลาดท่องเที่ยวไทย (โดยไม่เสียภาษี)

ที่สำคัญ แผนระยะยาวต้องใส่ใจกับปัญหาโลกร้อน ถ้าอยุธยาอากาศร้อนถึง 40 องศาตลอดทั้งปีจะเที่ยวกันอย่างไร เมื่อภูเก็ตมีวันฝนตกลดลง มีวันอากาศดีมากขึ้น จะวางแผนจัดการปัญหาเรื่องน้ำอย่างไรให้เพียงพอกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมามากขึ้น

ผู้เขียนเห็นใจว่า การทำแผนระยะยาวไม่ใช่เรื่องง่ายและก็เป็นเรื่องจำเป็น เพราะแผนระยะยาวจะเป็นที่มาของแผนแม่บทและโรดแมพของการลงทุนด้านสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการท่องเที่ยวการทำแผนระยะยาวต้องใช้เวลา กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาจึงควรให้เวลาที่ปรึกษามากกว่านี้ โดยมีกรอบยุทธศาสตร์ออกมาก่อนและใช้ร่างแผนที่มีอยู่นี้เป็นแผน 5 ปี แล้วขยายกรอบให้เป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติที่สมบูรณ์ในภายหลังพร้อมทั้งแผนย่อยด้าน ICT และกายภาพโดยเฉพาะเมืองและโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นหัวใจของแผนระยะยาว