ไสว่าสิบ่อัด 'พระ' ?

ไสว่าสิบ่อัด 'พระ' ?

ระหว่างปี 2552-2556 บนเวทีคอนเสิร์ตเสื้อแดง

 ไม่ว่าจะบ้านนอกหรือในกรุง มิตรรักแฟนเพลงชาวเสื้อแดงชื่นชอบเพลง “น้ำตาจ่าประสิทธิ์” ร้องโดย จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ อดีตส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย

เพลงนี้กลายเป็นเพลงประจำตัว จ่าประสิทธิ์ เสื้อแดง ขึ้นเวทีที่ไหนก็ต้องมีคนขอฟังเพลงน้ำตาจ่าประสิทธิ์

จริงๆแล้ว เพลงน้ำตาจ่าประสิทธิ์นั้น ดัดแปลงคำร้องมาจากเพลง “น้ำตาจ่าน้อย” ร้องโดย ลูกแพร อุไรพร และแต่งโดย สัญญาลักษณ์ ดอนศรี

“จ่าประสิทธิ์” คลุกคลีอยู่กับวงการเพลงลูกทุ่งอีสาน จึงรู้จัก “สัญญาลักษณ์” ครูเพลงชาวประโคนชัย บุรีรัมย์ และได้ขอเพลงน้ำตาจ่าน้อย มาแปลงเนื้อใหม่ให้เข้ากับชีวิตจ่าประสิทธิ์

ผ่านมาถึงวันนี้ สัญญาลักษณ์ ดอนศรี หรือ พระสัญญาลักษณ์ ตกเป็นจำเลยในสายตาคนเสื้อแดงกับข้อหาแต่งเพลง “ดูหมิ่นคนเหนือ-คนอีสาน”

“พระสัญญาลักษณ์” ไม่ใช่นักแต่งเพลงไก่กา หรือครูบ้านนอกคอกนาคนหนึ่ง

ในวัยหนุ่ม เขาคลุกคลีตีโมงอยู่กับซุ้มนักกิจกรรมรามคำแหง ยุคแสวงหาครั้งที่ 2 หลังเกิดปรากฏการณ์ “ป่าแตก” ที่มีนักศึกษารุ่น 14 ตุลา พากันทิ้งป่าทิ้งปืนคืนสู่นาคร

“พระสัญญาลักษณ์” เขียนบทกวี เรื่องสั้น และเป็นนักวิจารณ์วรรณกรรมประจำนิตยสารสู่อนาคต และข่าวพิเศษ

ช่วงวัยกลางคน เขากลับไปรับราชการ เป็นครูบ้านนอก สอนหนังสืออยู่แถวหมู่บ้านแสลงโทน อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์

อยู่มาวันหนึ่ง เพลง มอเตอร์ไซค์ฮ่าง ที่เขาแต่งให้ลูกศิษย์ร้อง ดังระเบิดเถิดเทิง เขาจึงลาออกจากครูมาเป็น “คนสร้างเพลง” เต็มตัว

ผลงานเพลงสร้างชื่อให้เขา นอกจากเพลงมอเตอร์ไซค์ฮ่าง ก็มีเพลง “ตลกอกหัก” , “ดาวมหาลัย” , “สาวลาดพร้าว” และ “ผู้บ่าวกินแมว”

แนวเพลงของพระสัญญาลักษณ์ จัดอยู่ในกลุ่ม “ลูกทุ่งอีสานเพื่อชีวิต” มีเนื้อหาสะท้อนภาพชีวิต และสังคมแบบตรงไปตรงมา

ถ้าจะตรวจจับ “คำร้อง” เพลงโจ๊ะอีสาน ที่พระสัญญาลักษณ์แต่งหลายร้อยเพลง ก็น่าจะเข้าข่าย “หยามหมิ่นคนอีสาน” แต่เพลงเหล่านี้ ก็เป็นที่ชื่นชมของชาวบ้าน

อย่างเช่นเพลง ดาวมหาลัย ที่โด่งดังไม่แพ้เพลงมอเตอร์ไซค์ฮ่าง ก็เล่าเรื่องราวสาวอีสานลืมตัว หรือเพลง ผู้บ่าวกินแมว ที่สะท้อนชีวิตวัยรุ่นอีสานกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นหลุมดำในหมู่บ้าน

ช่วงหนึ่งของชีวิต “พระสัญญาลักษณ์” สมัครชิงตำแหน่งนายก อบต. ได้เป็นนักการเมืองท้องถิ่นอยู่พักหนึ่งก็ถอยออกมา เพราะยืนอยู่คนละขั้วกับ เนวิน ชิดชอบ

พระสัญญาลักษณ์ มีเพื่อนเป็นนักการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติ จึงแต่งเพลงหาเสียงให้พรรคพวกอยู่บ่อยๆ และครั้งหนึ่ง เขาเคยทำงานคอนเสิร์ตสัญจรเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับ อดิศร เพียงเกษ และ วิสา คัญทัพ

เมื่อเร็วๆนี้ ประยงค์ ชื่นเย็น นักเรียบเรียงเสียงประสานเพลงลูกทุ่ง และคนบ้านเดียวกัน ได้ติดต่อให้แต่งเพลงรณรงค์การออกเสียงประชามติให้ กกต.

“พระสัญญาลักษณ์” รับโจทย์มาจาก กกต.คือ เพลง “7 สิงหา ประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง ใช้เวลาไม่นาน จึงเขียนคำร้องส่งไปให้ ประยงค์ ชื่นเย็น เป็นคนดำเนินการทั้งหมด

ตอนที่ กกต.แถลงข่าวเปิดตัวเพลง 7 สิงหา ประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง ก็แทบจะไม่เป็นข่าว เพราะนักข่าวสนใจประเด็นอื่นหมด ฟังเพลงหูซ้ายทะลุหูขวา ผ่านแล้วผ่านเลย

กระทั่งมีคนเสื้อแดงออกมาโวยวายว่า คำร้องบางท่อนดูหมิ่นถิ่นแคลนคนอีสานและคนเหนือ

พี่น้องอีสานบ้านเฮา อย่าให้ใครเขาชี้ซ้ายชี้ขวา

ปี้น้องชาวเหนือหมู่เฮา อย่าฮือใครเขาชักจูงตี้นำ

สื่อหลายสำนักขยายผล เพลงรณรงค์ของ กกต.ดังเปรี้ยงชั่วข้ามคืน เลยไม่แปลกใจที่ประธาน กกต.ประกาศไม่ระงับการเผยแพร่เพลงนี้

เมื่อกระแสวิพากษ์พุ่งตรงมายังคนแต่งเพลง “พระสัญญาลักษณ์” ก็สวมวิญญาณนักวิจารณ์ปากกาคมแห่งนิตยสารการเมืองในอดีต ปักหลักยืนซดกับแฟนคลับเสื้อแดงผ่านเฟซบุ๊คแบบไม่มีถอย

คนเซราะกราวโดยเฉพาะ จำรัส เวียงสงค์ อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ เพื่อไทย รู้ดีว่า “พระ ส.ญ.” เป็นคนแบบไหน และไม่ยอมให้ “อัด” ฝ่ายเดียวแน่นอน

พระ ส.ญ. เขียนเพลงสะท้อนชีวิตคนรากหญ้ามาเกือบพันเพลง จู่ๆ มากล่าวหาว่า หยามหมิ่นคนอีสานพระยอมบ่ได้เด็ดขาด