ดาบสองคมประชารัฐ

ดาบสองคมประชารัฐ

รัฐบาลดำเนินนโยบาย ปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ

ครั้งใหญ่นับตั้งแต่เข้าบริหารประเทศ โดยนโยบายสำคัญคือนโยบายประชารัฐ ที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จากความร่วมมือสามฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาชน แม้ขณะนี้ยังไม่เห็นความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมมากนักในภาพรวม บางเรื่องก็เริ่มดำเนินการไปแล้ว ในขณะที่อีกหลายเรื่องอยู่ระหว่างการเตรียมการ อาทิ การจัดตั้งบริษัทประชารัฐสามัคคี แต่หากติดตามความคืบหน้าและไม่มีอะไรมาสะดุดให้ต้องหยุดลง คาดว่าในปีหน้าจะเริ่มเห็นการขับเคลื่อนครั้งใหญ่ทั่วประเทศ

หากเปรียบเทียบกับนโยบายก่อนหน้านี้ ที่มีลักษณะเดียวกันจะเห็นได้ว่ามีความแตกต่าง ในหลายเป็นประเด็นที่มีนัยสำคัญอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะนโยบายของรัฐบาลก่อนหน้านี้มักจะดำเนินการผ่านกลไกของภาครัฐที่เข้าไปขับเคลื่อน อาทิ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์หรือโอทอปในรัฐบาลก่อนหน้านั้น ที่ภาครัฐเข้าไปมีบทบาทเป็นด้านหลัก ในขณะที่รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งเน้นไปที่บทบาทของภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมครั้งใหญ่ ขณะที่ภาครัฐมีหน้าที่ให้อำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ

ที่สำคัญควบคู่ไปกับกลไกประชารัฐ ทางรัฐบาลได้พยายามกระตุ้นการลงทุนครั้งใหญ่ ทั้งในอุตสาหกรรมที่เป็นรากฐานเศรษฐกิจสมัยใหม่ของประเทศ และอุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องการส่งเสริมในรูปแบบของนโยบายคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรม ดังจะเห็นได้จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆที่รัฐบาลกระตุ้นให้เกิดการลงทุนทั่วประเทศ แม้ขณะนี้ยังไม่เห็นมากนักเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ภาคเอกชนยังไม่กล้าลงทุน แต่ด้วยสิทธิประโยชน์มากมายที่รัฐบาลออกมาจะช่วยหนุนให้เกิดการค้าการลงทุนครั้งใหญ่หากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวเต็มที่

หากกล่าวโดยสรุปแล้วจะเห็นได้ว่านโยบายในลักษณะเดียวกันนี้ หลายรัฐบาลได้ทำมาอย่างต่อเนื่องแทบทุกรัฐบาล แต่ส่วนมากจะทำในรูปแบบของสนับสนุนทางการเงินและด้านการผลิตให้กับเกษตรกรเป็นสำคัญ ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวมยังทำตามแผนเดิมในเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมผ่านนิคมอุตสาหกรรมต่างๆในพื้นที่เดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว ในขณะที่รัฐบาลปัจจุบันได้ผลักดันลงลึกมากยิ่งขึ้น เพราะไม่เพียงแค่เงื่อนไขทางการเงินและกลไกรัฐบาลที่เข้าไปเช่นเดิม แต่ได้ลงลึกลงไปถึงภาคการผลิตและการบริการแบบสมัยใหม่ที่จะเข้าไปในระดับชุมชน

ก่อนหน้านี้ ในช่วงที่รัฐบาลเริ่มประกาศนโยบายเหล่านี้ หลายคนมองด้วยความสงสัยและไม่เชื่อมั่นว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือมีการเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบเดิมๆที่เคยทำมาแล้ว แต่เมื่อผ่านเกือบหนึ่งปี หลายสิ่งหลายอย่างเริ่มปรากฏขึ้นให้เห็น และแน่นอนการเปลี่ยนแปลงย่อมตามมาหากนโยบายดังกล่าวเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในขอบเขตทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด เนื่องจากนโยบายดังกล่าวได้ลงลึกเข้าไปในระดับการจัดการด้านการผลิตอย่างเข้มข้นด้วยการบริหารจัดการสมัยใหม่

หากย้อนกลับไปที่รัฐบาลก่อนหน้านั้น ได้ผันเงินครั้งใหญ่ในรูปของกองทุนหมู่บ้านและกองทุนอื่นๆ ซึ่งในครั้งนั้นก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชนอย่างชนิดที่ไม่อาจย้อนกลับไปได้ เพราะการใช้จ่ายและการบริโภคสมัยใหม่ได้ตามเม็ดเงินเหล่านั้นไปด้วย และส่งผลต่อภาระหนี้สินจนถึงปัจจุบัน แต่ด้วยนโยบายประชารัฐของรัฐบาลนี้ที่ลงระดับภาคการผลิต จึงเป็นเรื่องที่ต้องมีการประเมินผลอย่างถี่ถ้วน เพราะหากระดับชุมชนไม่ได้ประโยชน์อย่างที่ตั้งใจไว้ แต่ประโยชน์ตกกับภาคธุรกิจสมัยใหม่ที่มีความเข้มแข็ง ก็อาจจะเกิดความตึงเครียดครั้งใหญ่ในระดับชุมชนและช่องว่างทางสังคมก็จะขยับห่างไปเรื่อยๆ ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะคุกคามในเรื่องความมั่นคงทางการเมืองเหมือนกับที่เคยเป็นมา