‘การเมือง-เศรษฐกิจ’ โลกวาระร้อนจี 7

‘การเมือง-เศรษฐกิจ’ โลกวาระร้อนจี 7

เห็นภาพถ่ายภาพของสำนักข่าวเอเอฟพี

    ที่โฟกัสไปยังกลุ่มผู้นำโลก ในเวทีประชุมจี7 กำลังร่วมมือกันใช้จอบตักทรายเป็นกองเล็ก ราวกับโลกอยู่ในภาวะที่สุขสงบ แต่เมื่อมองไปที่ประเด็นของการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มชาติอุตสาหกรรมพัฒนาแล้ว 7 ประเทศ หรือจี7 ที่ประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดประชุมครั้งนี้ที่เมืองอิเสะ ชิมะ เป็นพื้นที่เทือกเขาในชนบทอยู่ห่างกรุงโตเกียวไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 300 กม. ซึ่งได้ปิดฉากการประชุม 2 วันระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 26 และวันศุกร์ที่ 27 พ.ค. ลงแล้ว ล้วนแล้วเป็นวาระร้อนโดยประเด็นที่หารือกันนั้นเป็นเรื่องความมั่นคงทางทะเล โดยเฉพาะปัญหาพิพาททะเลจีนใต้ ปัญหาการก่อการร้าย วิกฤติผู้ลี้ภัย มาตรการต่อต้านคอร์รัปชันหลังมีการเปิดโปงข้อมูลโดยปานามาเปเปอร์ส รวมถึงสถานการณ์สู้รบในซีเรีย และแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ผู้นำสหรัฐ ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ซึ่งมีอิทธิพลและมีผลประโยชน์ข้องเกี่ยวกับ การเดินเรือและเดินอากาศในทะเลจีนใต้ ได้มีท่าทีเรียกร้องให้จี-7 ร่วมมือกันคัดค้านไม่ให้มีความรุนแรง หรือความพยายามในการสร้างการตึงเครียดในภูมิภาคทะเลจีนใต้ เนื่องจากจีนก็มีปัญหากับหลายประเทศอาเซียนทั้งฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน มาเลเซีย และบางประเทศในเอเชียตะวันออกเช่นญี่ปุ่นกับไต้หวัน เกี่ยวกับข้อพิพาทที่หลายประเทศอ้างสิทธิ์เหนือเขตแดนทางทะเลทับซ้อนกัน โดยเฉพาะมีการแย่งชิงพื้นที่ตรงที่เป็นหมู่เกาะเตียวหยู หรือเซนกากุตามการกล่าวอ้างเป็นกรรมสิทธิ์ทั้งของจีนและญี่ปุ่น ซึ่งท่าทีของกลุ่มจี- ดังกล่าวทำให้จีนแสดงความไม่พอใจอย่างมาก โดยสำนักข่าวซินหัวที่ประสานเสียงของรัฐบาลจีนออกตอบโต้กลุ่มจี7 ว่าควรหันไปสนใจเรื่องของตนเองในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมากกว่า อย่าได้มายุ่งเรื่องคนอื่น หรือกระทำการใดๆ เพื่อโดดเดี่ยวจีนซึ่งไม่ได้อยู่ในเวทีประชุมกลุ่มนี้

ส่วนทางด้านผู้นำสหภาพยุโรป ทั้งนางแองเกล่า แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ที่ต้องการให้นานาชาติช่วยกันแบกรับจำนวนผู้อพยพลี้ภัยสงครามจากซีเรียจำนวนมหาศาลที่ยังคงหลั่งไหลสู่ยุโรปจนก่อปัญหาทางสังคมจนถูกต่อต้านจากชาวยุโรป และยังเป็นภาระหนักทางเศรษฐกิจ กระทั่งล่าสุดรัฐบาลหลายประเทศในยุโรปต้องดำเนินนโยบายรัดเข็มขัด และทำการปฏิรูปแรงงานเพื่อปรับลดเม็ดเงินงบประมาณทางด้านสวัสดิการสังคมลง จนทำให้แรงงานกว่า 38,000 คนในเบลเยียม และสหภาพแรงงานอีก 150,000 คนในฝรั่งเศสลุกฮือขึ้นมาต้านแผนงานปฏิบัติของรัฐบาล ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจยุโรปที่ซบเซาอย่างต่อเนื่องยาวนาน 6-7 ปี โดยที่สมาชิกจี7 อย่างอิตาลีแทบเอาตัวไม่รอด แม้แต่ฝรั่งเศสที่มีเศรษฐกิจซบเซาอย่างหนัก รวมทั้งต้องเผชิญกับปัญหาการว่างงานที่สูงถึง 12% และในจำนวนนี้กว่าครึ่งหนึ่งเป็นการตกงานของกลุ่มคนรุ่นใหม่และเยาวชนที่เพิ่งจบการศึกษาแต่ไม่มีงานทำ

สำหรับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ก็ได้เรียกร้องให้จี7 ร่วมกันแก้ไขสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ช่วยกันออกแรงสนับสนุนในเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องให้อยู่ในเป็นประเด็นที่มีความสำคัญสูงสุด โดยหยิบยกบทเรียนการล่มสลายของวิกฤติเลห์แมน บราเธอร์สเมื่อปี 2008 มาเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ โดยเฉพาะผู้นำญี่ปุ่นพยายามชี้ถึงเงินเยนแข็งค่าที่ถูกกดดันจากเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ไม่อาจหลุดพ้นจากภาวะตกต่ำไปได้ ถึงแม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายแบบสุดโต่ง ทั้งอัดฉีดคิวอีและเพิ่มฐานปริมาณเงินในประเทศมหาศาล และการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ จนส่งผลต่อผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลติดลบเกือบทุกประเภท จนทำให้อดีตรัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น ที่ไม่เชื่อมั่นต่อการพิมพ์เงินไม่อั้นของธนาคารกลางแบบนี้ ได้ตั้งข้อสงสัยในอนาคตของเงินเยนจะเสื่อมลงไปถึง 300 เยนต่อดอลลาร์ก็ได้ ซึ่งผลพวงจากการประชุมจี7 ล้วนแต่เป็นปมร้อนของโลกที่ต้องเฝ้ามองต่อไป