เตรียมพร้อมไว้ตลอดเป็นการดี

เตรียมพร้อมไว้ตลอดเป็นการดี

การประชุมสุดยอดระดับผู้นำ ของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม

ชั้นนำ 7 ชาติ หรือ จี 7 เปิดฉากขึ้นที่ญี่ปุ่น ด้วยการเห็นพ้องในวงกว้างถึงความจำเป็น ที่จะต้องมีความยืดหยุ่นด้านการใช้จ่าย ในอันที่จะกระตุ้นการเติบโตในโลก โดยจังหวะเวลาและวงเงินในการใช้จ่ายนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความเหมาะสมของแต่ละประเทศ ในส่วนของญี่ปุ่นนั้นจะเดินหน้าผลักดันวาระการเติบโตตามนโยบาย “อาเบะโนมิกส์” หรือลูกศร 3 ดอก อันได้แก่ นโยบายการเงินที่รุกกร้าว การใช้จ่ายด้านการคลังที่ยืดหยุ่น และการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง

ผู้นำจี 7 มองว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงครั้งใหญ่ ทั้งยังวิตกเกี่ยวกับตลาดเกิดใหม่เพราะเห็นว่าอยู่ในสถานการณ์ร้ายแรง แม้มองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันไม่ถือเป็นวิกฤติก็ตาม นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าภาพ ได้นำเสนอข้อมูลที่สะท้อนว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในโลก ร่วงลง 55% ระหว่างเดือนมิถุนายน 2557 ถึงเดือนมกราคม 2559 อันเป็นระดับเดียวกับเมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หรือหลังจากเลแมนบราเดอร์สล้มละลาย อันเป็นชนวนของวิกฤติการเงินโลกเมื่อปี 2551 ขณะที่ผู้นำสหรัฐย้ำถึงความสำคัญของการงดเว้น จากการทำให้ค่าเงินอ่อนลงเพื่อศักยภาพด้านการแข่งขันในการส่งออก

ในกรณีของสหรัฐเองนั้น สิ่งที่ทั่วโลกกำลังจับตา คือการเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด เกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ย หลังจากมีการเปิดเผยรายละเอียดการประชุมเมื่อเดือนเมษายน ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ต้องการเห็นสัญญาณ ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้นในช่วงไตรมาส 2 และการจ้างงานรวมถึงเงินเฟ้อแข็งแกร่ง ซึ่งหากตัวเลขต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น ก็ถือเป็นเรื่องเหมาะสมที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน ทำให้หลายฝ่ายยังวางใจไม่ได้ รวมถึงกรณีของไทยที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธปท. เปิดเผยว่า ถ้าดูสัญญาณที่ธนาคารกลางสหรัฐสื่อสารออกมา ยังคงยืนยันว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ต้องขึ้นกับข้อมูลและภาวะเศรษฐกิจด้วย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนระยะข้างหน้ายังมีอยู่ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรเน้นบริหารความเสี่ยง และปิดความเสี่ยงจากค่าเงิน

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการธปท.มองว่าระบบเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ ถือว่าไม่น่ากังวลมาก เพราะมีกันชนที่แข็งแกร่ง โดยหลายประเทศในตลาดเกิดใหม่อาจเผชิญต่อความอ่อนไหวของตลาดการเงินโลก เนื่องจากมีสัดส่วนการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศที่ค่อนข้างสูง แต่ของไทยแล้วเงินกู้ยืมจากต่างประเทศทั้งฝั่งของภาครัฐและเอกชนไม่ได้สูงมากนัก อีกทั้งนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ประเทศไทย ก็มีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค

แม้สถานการณ์ของไทยถูกมองว่าไม่น่ากังวลใจมากนัก แต่สิ่งที่ยังวางใจไม่ได้คือความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ อันอาจกระทบมาถึงไทยได้ในทางอ้อม ประกอบกับนอกจากปัจจัยที่เอ่ยมาข้างต้นแล้ว ยังมีประเด็นอื่นที่อาจส่งผลกระทบถึงบรรยากาศระหว่างประเทศได้ หนึ่งในนั้นคือการลงประชามติของอังกฤษว่าจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ ซึ่งเส้นทางข้างหน้าที่ไม่ได้ราบเรียบไปตลอด ทำให้การเตรียมพร้อมเป็นสิ่งที่ต้องมีไว้เสมอ