การแจงนับคนไร้บ้านกับภาพประชากร

การแจงนับคนไร้บ้านกับภาพประชากร

“คนไร้บ้าน” (Homeless) เป็นปรากฏการณ์ที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นพร้อมกับความเป็นเมือง โดยเฉพาะในเมือง

ที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่ผู้คนจากพื้นที่ต่างๆ เดินทางกันเข้ามาเพื่อหางาน รายได้ และ “ความหวัง” ในการมีชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ในสังคมไทย “คนไร้บ้าน” เป็นประเด็นที่ได้รับการกล่าวถึงมากกว่า 3 ทศวรรษ และเป็นปรากฏการณ์ที่ได้รับการกล่าวถึงเพิ่มมากขึ้นจากทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชนในช่วงทศวรรษที่ผ่าน

ในหลายประเทศ จำนวนและปัญหาชีวิตของคนไร้บ้านเปรียบเสมือนดัชนีบ่งชี้ความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เป็นธรรมของสังคมและนโยบายทางสังคมที่เบียดขับให้คนจำนวนหนึ่งกลายมาเป็น “คนไร้บ้าน” ที่มีสภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยความเสี่ยงของชีวิตและสุขภาพ

อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึง คนไร้บ้านในสังคมไทย เรามักนึกถึงภาพผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะตามท้องถนนหรือสวนสาธารณะเป็นหลัก และแทบไม่ปรากฏภาพรวมของคนไร้บ้านซึ่งความหลากหลายทางประชากรมากนัก เราแทบไม่รู้ว่าคนไร้บ้านในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ มีช่วงอายุเช่นใด? เป็นเพศใดบ้าง? และมีปัญหาสุขภาพอย่างไร?

เมื่อปี 2558 ได้มีการแจงนับคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ โดยโครงการ “การสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้าน และการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายฯ” ภายใต้ความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และอาสาสมัครจากหลากหลายองค์กร รวมถึง สสส. ในฐานะผู้สนับสนุน อันนำไปสู่การฉายให้เห็นภาพของคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานครได้อย่างค่อนข้างครอบคลุม ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าสนใจและขออนุญาตนำมาเล่าให้ฟังในที่นี้

คนไร้บ้านในกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร?

การแจงนับของ “การสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้านฯ” ที่เน้นการนับจำนวนและสังเกตลักษณะทางประชากรภายนอกของคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะและศูนย์พักชั่วคราวในเขตกรุงเทพฯ พบว่ามีคนไร้บ้านจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,307 คนแบ่งเป็นเพศชาย 1,087 คน (ร้อยละ 83) เพศหญิง 202 คน (ร้อยละ 15) เพศทางเลือก 13 คนและไม่สามารถระบุเพศได้ 5 คน (ร้อยละ 2)

คนไร้บ้านส่วนใหญ่ร้อยละ 90 (1,178 คน) อาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะ และร้อยละ 10 (129 คน) อาศัยอยู่ในศูนย์พักชั่วคราวของทั้งรัฐ และ NGOs ซึ่งเมื่อนำข้อมูลเพศและการอยู่อาศัยมาวิเคราะห์จะเห็นว่า ในศูนย์พักคนไร้บ้านจะพบสัดส่วนของคนไร้บ้านเพศหญิง (ร้อยละ 31.78) สูงกว่าคนไร้บ้านเพศหญิงที่อาศัยในพื้นที่สาธารณะ (ร้อยละ 13.67)

ในส่วนอายุของคนไร้บ้านพบว่า วัยกลางคน (อายุ 40-59 ปี) เป็นช่วงอายุที่มีสัดส่วนมากที่สุด (ร้อยละ 49) รองลงมาเป็นวัยแรงงาน (อายุ 19-39 ปี) ร้อยละ 27 และวัยสูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) ร้อยละ 20 นอกจากนี้ คนไร้บ้านที่มีความพิการที่เห็นได้ชัดมีสัดส่วนร้อยละ 3.52 ของทั้งหมดซึ่งในศูนย์พักคนไร้บ้านมีสัดส่วนคนพิการ (ร้อยละ 15.50) ซึ่งสูงกว่าพื้นที่สาธารณะถึงกว่า 7 เท่า

นอกจากลักษณะทางประชากรแล้ว การแจงนับครั้งนี้ยังได้ให้ภาพภูมิศาสตร์การอยู่อาศัยของคนไร้บ้านด้วยว่า แม้ส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในย่านการค้าทั้งในเขตเมืองเก่าและย่านธุรกิจใหม่ของกรุงเทพมหานคร แต่ก็ได้ปรากฏการณ์กระจุกตัวของคนไร้บ้านตามเขตรอบศูนย์กลางเมือง และรอบนอกของกรุงเทพ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นจุดเชื่อมต่อการคมนาคม ทั้งภายในเขตกรุงเทพและระหว่างกรุงเทพกับต่างจังหวัด

การแจงนับคนไร้บ้านบ่งบอกอะไร?

การแจงนับคนไร้บ้าน นอกจากจะทำให้เราทราบจำนวนที่แน่ชัดของคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ รวมถึงลักษณะทางประชากรแล้ว การวิเคราะห์ผลการแจงนับได้ทำให้เกิดข้อสังเกตที่น่าสนใจบางประการด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น สัดส่วนของผู้หญิงคนไร้บ้านที่มีความพิการและมีบาดแผลที่เห็นได้ชัดที่อยู่ในศูนย์พักชั่วคราวสูงกว่าทั้งในภาพรวมและในพื้นที่สาธารณะ สะท้อนให้เห็นว่าศูนย์พักชั่วคราวคนไร้บ้านน่าจะมีความสำคัญในการเป็นที่พึ่งและดูแลกลุ่มเปราะบางและผู้มีปัญหาทางสุขภาพ

หรือสัดส่วนคนไร้บ้านวัยกลางคน (อายุ 40-59 ปี) และวัยแรงงาน (อายุ 19-39 ปี) ที่มีอยู่สูงถึงร้อยละ 49 และร้อยละ 27 ตามลำดับ หรือรวมกว่าร้อยละ 76 เป็นตัวเลขที่น่าสนใจและอาจเป็นข้อสังเกตที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของกลุ่มคนวัยแรงงานและวัยกลางคนที่ถูกสภาพสังคมและการทำงานเบียดขับกลายมาเป็นคนไร้บ้าน หรืออีกมุมหนึ่งก็อาจเป็นข้อสังเกตได้เช่นกันว่าในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะมีคนไร้บ้านสูงอายุเพิ่มมากขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า

จากข้อมูลเหล่านี้ เป็นพื้นฐานที่สำคัญหนึ่งของการวางนโยบายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน และรองรับแนวโน้มการเพิ่มจำนวนประชากรคนไร้บ้านในแต่ละกลุ่มอายุและภูมิศาสตร์การอยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านที่พักชั่วคราวคนไร้บ้านที่เป็นที่พึ่งพิงของทั้งกลุ่มคนไร้บ้านที่มีความเปราะบาง และกลุ่มคนไร้บ้านปกติ รวมถึงกลุ่มคนไร้บ้านด้านใหม่ หรือนโยบายเพื่อรองรับการเพิ่มจำนวนของคนไร้บ้านสูงอายุทั้งระบบบริการสุขภาพและการดูแลในระยะยาว การพัฒนาระบบสวัสดิการทางสังคมและสุขภาพเพื่อเป็น ตาข่ายปลอดภัย” (Safety net) ให้แก่กลุ่มเสี่ยงในการเป็นคนไร้บ้านและคนไร้บ้านหน้าใหม่ตลอดจนการสร้างแนวทางเพื่อหนุนเสริมให้คนไร้บ้านมีชีวิตที่พ้นความเสี่ยง

แม้คนไร้บ้านจะเป็นกลุ่มคนหรือเรื่องที่อาจห่างไกลสำหรับหลายคน หากแต่ก็เป็นภาวะที่ทุกคนสามารถประสบได้ภายใต้สภาวะความไม่แน่นอนของสังคม และความเหลื่อมล้ำ/ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีอยู่สูงเฉกเช่นทุกวันนี้

------------------------

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน

นักวิชาการอิสระ