ความคร่ำครึของระบบ ออกใบประกอบวิชาชีพครู

ความคร่ำครึของระบบ ออกใบประกอบวิชาชีพครู

มีข่าวว่ากระทรวงศึกษา กำลังพิจารณายกระดับภาษาอังกฤษ

 ของประเทศไทยด้วยการออกใบอนุญาต ประกอบวิชาชีพครูเฉพาะด้าน ในวิชาภาษาอังกฤษสำหรับครูต่างชาติและครูไทย

สาเหตุเพราะขาดแคลนครูสอนภาษาอังกฤษ และข้าราชการครูที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาจริง ๆ ก็หาได้ยาก

คุณชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา บอกนักข่าวว่าได้หารือร่วมกับทีมงานวิชาการ ของรัฐมนตรีช่วยศึกษา นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ในประเด็นนี้และเห็นตรงกันว่า จะต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้มีครูสอนภาษาอังกฤษที่มีคุณภาพ โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนของการขออนุญาตตามกฎกติกาของคุรุสภาปัจจุบัน

ใครไม่ทราบก็ควรจะทราบไว้ด้วยว่าตามหลักการของคุรุสภานั้น ใครจะเป็นครูต้องผ่านการอนุมัติของคุรุสภา และมีคุณสมบัติมากมายหลายอย่างที่ละเอียดยิบ ทำให้หาครูที่มีคุณภาพได้ยาก เพราะคนที่เก่งด้านไหนจะมาเป็นครูด้านนั้นไม่ได้ ต้องผ่านการสอบและต้องได้รับอนุญาตเป็น “ครู” เสียก่อน จึงจะสอนได้

อาชีพ ครูของประเทศไทยจึงจำกัดเฉพาะคนที่มีใบอนุญาตของคุรุสภา คุณจะเก่งด้านภาษา วิทยาศาสตร์ ดนตรีหรืออะไรก็ตาม ไปสอนนักเรียนไม่ได้ เพราะคนเป็นครูต้องมีใบอนุญาตเป็นครู

ทั้ง ๆ ที่คำว่า ครูในความหมายของการศึกษาของประเทศที่เจริญแล้ว ย่อมหมายถึงใครก็ได้ที่มีความรู้ความสามารถในด้านนั้น ๆ

เพราะการจะให้เด็กเก่งต้องได้คนที่เชี่ยวชาญด้านนั้น ๆ มาสอน ไม่ใช่เฉพาะคนที่สอบใบอนุญาตเป็นครู และมีความรู้เฉพาะด้านหรือไม่ก็พิสูจน์ไม่ได้

รัฐมนตรีช่วยธีระเกียรติ เคยบอกผมว่า ระเบียบคร่ำครึของกระทรวงศึกษาแบบนี้แหละ ที่เป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวง เพราะคนเก่งไม่ได้เป็นครู ส่วนครูที่มีใบอนุญาตก็ไม่แน่ว่าจะเก่งหรือสอนวิชาต่าง ๆ ได้ดี

ข้อเสนอใหม่อาจให้สถาบันภาษาอังกฤษที่เป็นที่ยอมรับสากลเช่น British Council มาสนับสนุนการประเมินความสามารถของครู เช่นการฟัง พูด อ่านและเขียน รวมถึงทักษะการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้หน่วยงานนี้รับรองมาตรฐานความรู้

คนต่างชาติคนไหนต้องการจะเป็นครูสอนภาษาก็ต้องได้รับการยกระดับมาตรฐานเช่นกัน

แม้ ฝรั่งขี้นกหรือ ชาวต่างชาติที่เป็นนักท่องเที่ยวที่ถนนข้าวสาร หากโรงเรียนเปิดรับสมัคร อยากมาสอน ก็มาสอบผ่านมาตรฐานสากลนั้น

เพราะการเป็นครูที่ดีนั้นนอกจากภาษาดีแล้วก็ยังต้องมีทักษะการสอนที่ดีควบคู่ไปด้วย

ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้อย่างยิ่ง และไม่ใช่เฉพาะครูสอนภาษาอังกฤษเท่านั้น หากแต่ควรจะรวมหมายถึงครูสอนภาษาต่างชาติอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาจีนหรือญี่ปุ่นหรือภาษาอาเซียนอื่น ๆ ที่ยิ่งวันยิ่งจะมีความสำคัญต่ออนาคตของเยาวชนไทย

อีกทั้งเรายังต้องการผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ มาสอนเยาวชนของเราให้มีความเก่งกาจสามารถและสร้างเสริมทักษะจาก “ชีวิตจริง” ของมืออาชีพ

เพราะสิ่งที่เด็กไทยขาดคือการได้ เรียนกับคนทำงานจริงเหตุเพราะเงื่อนไขของระเบียบราชการ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทัศนคติที่ล้าสมัย หน่วยราชการต้องการมี “อำนาจ” ที่จะ “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” ให้ใครทำอะไรหรือไม่ เพราะ “อำนาจ” คือผลประโยชน์และนั่นคือสาเหตุแห่งความถดถอย ของการพัฒนาประเทศอย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้

หาก ปลดล็อกเงื่อนไขอันไร้เหตุผลและเป็นคอขวด ของกระบวนการสร้างเด็กไทยได้ เราก็พอจะมองเห็นอนาคตของการเรียนการสอนเยาวชนไทยได้อีกก้าวหนึ่ง