ล่าสุดของรถไฟไทย-จีน : ทำอย่างไรจึงไม่ ‘ตกราง’?

ล่าสุดของรถไฟไทย-จีน : ทำอย่างไรจึงไม่ ‘ตกราง’?

การประชุมร่วมไทย-จีน ว่าด้วยโครงการรถไฟครั้งที่ 10

 ที่ปักกิ่งเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จบลงด้วยการตกลงว่าจะเดินหน้าโครงการต่อไป

ยืนยันว่าโครงการนี้ยังไม่ ตกราง

และดูเหมือนว่าจีนจะมีท่าผ่อนปรนขึ้นบ้าง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากเดิม 2.5% อาจลดลงเหลือ 2% โดยภาษาที่รัฐมนตรีคมนาคม อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ใช้คือ ฝ่ายไทยพร้อมจะพิจารณาเงินกู้จากจีน ในส่วนการจัดหาระบบรถไฟความเร็วสูง โดยคำนึงถึงต้นทุนและเงื่อนไขทางการเงินที่เหมาะสม”

ทั้งสองฝ่ายสรุปด้วยว่าโครงการนี้ “มีความสำคัญและเร่งด่วน” และ “ต้องมาก่อน” โดยกำหนดให้ตอกเสาเข็มภายใน 3-4 เดือนจากนี้ไป

ฝ่ายจีนตกลงที่จะทบทวนวงเงินก่อสร้าง และวางระบบรถไฟให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งสัปดาห์ แต่ยังต้องคงไว้ซึ่งมาตรฐานความปลอดภัย

ฝ่ายไทยยังยืนยันวงเงินก่อสร้างที่ 1.7 แสนล้านบาท ต่ำกว่าที่จีนเคยเสนอไว้ที่ 1.9 แสนล้านบาท

ฝ่ายจีนตกลงจะออกแบบรายละเอียดโครงการให้เสร็จภายใน 60 วัน

และเพื่อให้ก่อสร้างได้เร็ว จะแบ่งการก่อสร้างเป็น 4-5 ตอน เดิมรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา จะแบ่งเป็น 2 ตอนคือ กรุงเทพ-แก่งคอย และแก่งคอย-นครราชสีมา เพื่อจะเริ่มงานได้เร็วขึ้น

เรื่องของการให้บริการเดินรถไฟความเร็วสูงนั้น ฝ่ายไทยบอกว่าจะเป็นผู้ให้บริการรถไฟความเร็วสูงเอง ไทยจะจัดตั้งบริษัทเดินรถเอง ฝ่ายจีนให้ความช่วยเหลือและฝึกอบรม ตลอดจนพัฒนาบุคลากรตั้งแต่ต้น

ซึ่งแตกต่างไปจากเดิมที่ฝ่ายไทยกับจีนจะร่วมกันจัดตั้งบริษัทเดินรถ

ฟังรายละเอียดที่รัฐมนตรีคมนาคมไทยแถลง หลังการประชุมครั้งล่าสุดที่ปักกิ่ง ดูเหมือนจะมีการ เร่งรัดทั้งสองฝ่ายเพื่อมิให้โครงการร่วมมือ ที่มีความสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองนี้ กลายเป็นประเด็นที่เกิดการ แท้งเพราะมีความระแวงคลางแคลงซึ่งกันและกัน

การที่นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศหลังพบกับนายกฯ จีนหลี่เค่อเฉียง ที่ไหหลำเมื่อเดือนมีนาคม ว่าไทยจะสร้างเส้นทางรถไฟกรุงเทพ-นครราชสีมาด้วยตนเอง ไม่รอการตกลงกับฝ่ายจีนนั้นทำให้เกิด “อาการชะงัก” ต่อโครงการใหญ่ระหว่างสองประเทศขึ้นมา

เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย หนิงฟู่ขุ่ย บอกผมว่าฝ่ายจีนไม่ได้รู้เบาะแสอะไรมาก่อนเลยว่าฝ่ายไทยจะประกาศ “ลุย” สร้างไปเองก่อน

ขณะเดียวกันท่านทูตก็ยืนยันกับผมว่า ฝ่ายจีนไม่ต้องการจะเอารัดเอาเปรียบฝ่ายไทย อีกทั้งข่าวที่บอกว่าจีนมีเงื่อนไข จะต้องได้สิทธิบริหารเพื่อทำประโยชน์ จากที่ดินบริเวณสองข้างทางรถไฟนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างไร

เราไม่เคยเสนอเรื่องนี้ และไม่เคยมีการพูดกันเรื่องนี้ ท่านทูตบอกผม

และย้ำว่าประเด็นต่าง ๆ ของการทำโครงการรถไฟร่วมกันระหว่างไทยกับจีนนั้น ย่อมมีความเห็นแตกต่างกันได้เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวเลขประเมินการลงทุน หรืออัตราการร่วมทุนทั้งสองฝ่าย ตลอดจนเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จีนจะคิดกับไทย

ท่านบอกว่าฝ่ายจีนก็พร้อมที่จะยืดหยุ่นเจรจา ให้สามารถสรุปเป็นข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ลักษณะ “win-win” ด้วยกันแน่นอน

ผมพิเคราะห์จากการแถลงข่าวของรัฐมนตรีคมนาคมไทยหลังการประชุมรอบที่ 10 ครั้งนี้ คิดว่าน่าจะเป็นความพยายามที่จะเดินหน้าโครงการนี้ให้ได้ เพราะจีนถือว่าโครงการนี้เป็นส่วนสำคัญของนโยบาย “เส้นทางสายแพรไหมยุคใหม่” หรือ One Belt, One Road ที่จีนต้องการเชื่อมเส้นทางคมนาคมทางบกจากจีนไปถึงยุโรปให้จงได้

จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่จะแจกแจงรายละเอียดของข้อตกลงล่าสุด ต่อประชาชนคนไทยที่ยังต้องการคำตอบ ต่อคำถามที่ว่าไทยจะได้ประโยชน์อันใด และเรายืนอยู่ตรงจุดได้เปรียบ, เสียเปรียบอย่างไร?

ความโปร่งใสชัดเจนและมองไกลไปข้างหน้าถึงรุ่นลูกรุ่นหลานเท่านั้น ที่จะผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้