จตุรเทพแห่ง FinTech ของจีน

จตุรเทพแห่ง FinTech ของจีน

สัปดาห์นี้ขอพักเรื่องเศรษฐกิจที่กำลังร้อนแรงพาท่านผู้อ่านมาทัวร์ในงาน FinTech ของฮ่องกง เพื่อทำความรู้จักกับ

จตุรเทพของวงการ FinTech ของจีนกัน

ที่ฮ่องกงในตอนนี้ถือว่ามีความตื่นตัวในเรื่อง FinTech กันมากขึ้น เนื่องจากหลายคนเริ่มมองว่าที่นี่เริ่มถูกศูนย์กลางทางการเงินแห่งอื่นๆ ทิ้งห่างจนออกจะมองว่าล้าหลังไประดับหนึ่งแล้ว ว่ากันว่าคุณแจ็คหม่าเล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าวจึงตั้งกองทุนผู้ประกอบการแห่งฮ่องกงด้วยเงินตั้งต้น 1 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกงในการสนับสนุนบริษัทรายใหม่ๆ ที่ยังขาดเงินทุนเพื่อให้สามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับตนเอง ขอย้อนกลับมาถึง FinTech ของจีนว่า มีอะไรโดดเด่นกันบ้าง

ขอเริ่มจากบริษัท Ant Financial ภายใต้การนำของคุณลูซี่เผิงที่แตกออกมาจาก Alibaba เมื่อปี 2011 ซึ่งเป็น FinTech ที่น่าจะถือว่ามาแรงที่สุดของจีนในช่วงนี้ ล่าสุดเพิ่งจ้างนายแบงก์ยุโรปหลายท่านมาเป็นทีมงาน โดยจุดเด่นของ Ant Financial คือได้รับแบ็คอัพจาก Alibaba โดยตรงเมื่อปีที่แล้ว อัตราการเติบโตของบริษัทได้แซงหน้าบริษัท Alipay ที่ให้บริการคล้ายๆ กับ PayPal

Ant Financial ทำหน้าที่เสมือนระบบการให้บริการทางการเงินเสริมทัพให้กับ Alibaba ที่ขายสินค้าออนไลน์ดีแบบเทน้ำเทท่าในขณะนี้ หรืออาจจะมองว่าเป็นเสมือนกระเป๋าเงินออนไลน์ หรือ E-Wallet ของ Alibaba ตัวเลขที่ดูน่าสนใจคือร้อยละ 65 ของธุรกรรมทางการเงินมาจากการโอนเงินผ่านอุปกรณ์ Mobile Devices หากลองไปดูการใช้จ่ายของชาวเซี่ยงไฮ้จะพบว่าสูงถึง 15,839 ดอลลาร์ต่อคน เทรนด์ที่มาแรงคือ การสั่งอาหารผ่านมือถือที่เติบโตรวดเร็วมากในปีนี้

นอกจากนี้ Ant Financial ยังมีจุดแข็งอีกประการหนึ่งคือ การใช้ประโยชน์จาก Big Data และการทำ Credit Scoring แบบออนไลน์ด้วยการใช้ระบบการตรวจสอบพฤติกรรมของลูกค้าที่ได้ผนวกเอากิจกรรมต่างๆ ของลูกค้าแต่ละรายไม่ว่าจะเป็น social media และ e-commerce เพื่อสร้างระบบการให้คะแนนกับลูกค้าคนนั้นๆ โดยล้วงลึกไปถึงผลการทำงานในที่ทำงานและพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อที่จะคาดการณ์บริการต่างๆ ที่เขาหรือเธอคนนั้นจะใช้ในอนาคตไม่ว่าจะเป็นการซื้อบ้านหรือบริการในไลฟ์สไตล์ที่ระบบได้บันทึกไว้

โดยตั้งแต่ปี 2015 Alibabaได้ใช้ข้อมูลจากเว็บขายของออนไลน์ของตนเอง taobao ในการเสริมความสามารถของระบบ Credit Scoring ในการประเมินความน่าเชื่อถือของลูกค้าอีกด้วย โดยระบบใหม่ดังกล่าวนี้เรียกกันว่า Sesame Credit จะทำการสแกนลูกค้ากว่า 300 ล้านรายในเว็บ e-commerce ของตนเองอาทิ Tmall และ Taobao เพื่อสร้างรูปแบบของการจ่ายคืนเงินให้กับบริษัทการเงินในเครือของตนเอง

สำหรับจตุรเทพที่สอง ได้แก่ Tencen tเจ้าของ Social Media ชื่อดัง Weixin หรือที่รู้จักกันในหมู่คนไทยว่า WeChat บริการที่โดดเด่นคือการโอนเงินแบบ Real Time ระหว่างบุคคลสู่บุคคลที่นิยมกันมากๆ คือการจ่ายเงินให้ระหว่างกันในเทศกาลตรุษจีนที่เรียกกันว่า อั่งเปา Wechat ได้รับความนิยมกันเป็นอย่างมากในหมู่คนจีน โดย WeChat Payments ค่อยๆ ได้รับความนิยมแบบน้ำซึมบ่อทรายจากการที่คนจีนคุ้นเคยกับ Wechat คล้ายๆ กับที่คนไทยคุ้นกับ Line ในตอนนี้

ที่เป็นกระแสในเมืองจีนกันอยู่ในเมืองจีนในช่วงนี้ คือบรรดาร้านค้าที่เป็นแบบอาแป๊ะอาซิ่ม ต่างพากันสมัครผ่านระบบ Wechat Wallet เพื่อเป็นการให้บริการกับลูกค้าที่ตอนนี้เริ่มคุ้นเคยกับระบบดังกล่าวในการจ่ายแต๊ะเอียกันมาหลายปี สิ่งนี้กลายเป็นเหมือนแม่เหล็กที่สร้างให้ Wechat มีความแข็งแกร่งในการเข้าถึงลูกค้ากว่าหลายร้อยล้านรายในปัจจุบัน

แล้วก็มาถึงจตุรเทพน้องใหม่ที่มาแรงมากๆ ในวงการสินเชื่อแบบการให้กู้ยืมแบบคนต่อคน หรือ Peer-to-Peer Lending (P2P lending) ชนิดที่ไม่แพ้ Lending Club ของคุณลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส กันเลยทีเดียว บริษัทนี้มีชื่อว่า Yirendai ซึ่งแปลว่า ‘ตัวแทนของคนคนหนึ่ง’ ที่ได้เป็นหนึ่งในหลักทรัพย์ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ โดยตอนช่วง IPO ได้ระดมทุนราว 75 ล้านดอลลาร์ซึ่งถือว่าเก่งพอตัว หากพิจารณาว่าเป็นบริษัทสัญชาติจีนแท้ๆ ที่สามารถฝ่าขวากหนามของกฎเกณฑ์ที่เข้มข้นของตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ

อย่างไรก็ดีสินเชื่อแบบ P2P lending โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบ Online ได้รับการจับตามองมากขึ้นเป็นพิเศษจากทางการของจีนเพื่อให้การเติบโตเป็นไปอย่างยั่งยืน

ขอปิดท้ายด้วยโบรกเกอร์และผู้ให้สินเชื่อแบบ P2P ที่ถือได้ว่าเป็นบริษัท Startup ด้าน FinTech ที่หลายคนมองว่ามีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ณ นาทีนี้ โดยล่าสุดเพิ่งจะสามารถระดมทุนในสหรัฐด้วยมูลค่าถึง 1.85 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นามว่าบริษัท Lufax โดยเงินก้อนดังกล่าวจะนำมาใช้ในการสนับสนุนระบบปฏิบัติการการให้สินเชื่อแบบ P2P การปล่อยกู้ SME และผลิตภัณฑ์ Wealth Management รวมถึงการทำ Cross-selling ระหว่างกันรวมถึงการแพ็คเกจจิ้งผลิตภัณฑ์สินเชื่อโดยเซกเตอร์นี้ ถือว่ามีการแข่งขันที่สูงมาก ปัจจุบันมีผู้ทำการปล่อยกู้แบบ Online ด้วยมูลค่าถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ด้วยแพลตฟอร์มที่มากถึงกว่า 2,500 ชนิดสูงขึ้นจากปี 2014 ถึงสี่เท่านอกจากนี้ยังเป็นที่จับตาของทางการจีนแบบเป็นพิเศษอีกด้วย

โดยคนส่วนใหญ่ในงานมองว่า การใช้โมเดล FinTech ที่เป็นบริษัทเกิดใหม่สำหรับการประกอบธุรกิจด้านการเงินได้เปรียบกว่าบริษัทการเงินขนาดใหญ่ที่อิ่มตัว เนื่องจากสาเหตุ 3 ประการ ได้แก่หนึ่ง ด้วยการที่เป็น Startup ทำให้สามารถมองเห็นถึงแนวโน้มล่าสุดที่เป็นโอกาสทางธุรกิจในตลาดได้มากกว่าแชมป์เก่าที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เอาแต่ลอกเลียนวิธีปฏิบัติเดิมๆ ในอดีต สอง คนเก่งๆ ที่เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยหรือแม้แต่ Dropouts ณ ชั่วโมงนี้มักจะชอบหาประสบการณ์ด้วยตนเอง กับทางเลือกธุรกิจในเส้นทางที่ตนเองถนัดมากกว่าที่จะเป็นมนุษย์เงินเดือนกว่าแต่ก่อน และสาม ช่องทางการตลาดลูกค้าและองค์ความรู้ของสินค้าและบริการออนไลน์ในตอนนี้ของจีนจะมาจากบริษัทที่เพิ่งเกิดได้ไม่นานอย่าง Alibaba Baidu และ Wechat มากกว่าบริษัทที่เป็นยักษ์ใหญ่ในอดีตครับ