นวัตกรรมสังคม – Social Innovation

นวัตกรรมสังคม – Social Innovation

ธุรกิจเพื่อสังคม หมายถึงการตั้งใจทำธุรกิจที่มีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือให้สังคมดีขึ้น โดยไม่ได้หวังที่จะสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองแต่อย่างใด

นอกเหนือไปจากการทำธุรกิจที่จะช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมในหลายๆ รูปแบบแล้ว เรื่องของการทำ นวัตกรรมสังคม ก็กำลังเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจ มีการศึกษาวิจัย และมีการนำไปประยุกต์ใช้อย่างได้ผลมาแล้วกับหลายๆ สังคม โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศในประชาคมยุโรป

ต่อคำถามที่ว่า นวัตกรรมสังคม คืออะไร?

ในปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันว่า คงจะยังไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจนและยอมรับกันในความหมายใดความหมายหนึ่ง เนื่องจากนวัตกรรมสังคม อาจเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ หลายวิธีการ และหลายระดับของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคม

แม้แต่คำว่า “นวัตกรรม” เอง ก็สามารถกำหนดได้เพียงกว้างๆ ว่า สิ่งที่จะเรียกว่า “นวัตกรรม” ได้นั้น อย่างน้อยควรจะต้องประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น ความใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน การมีคุณค่าในตัวมันเอง ไม่ว่าจะเป็น คุณค่าเชิงพาณิชย์ (ขายได้ราคาที่ดีกว่า) คุณค่าเชิงเศรษฐกิจ (สร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า) หรือ คุณค่าเชิงสังคม (สร้างสังคมให้ดีขึ้น) และ ต้องได้รับการยอมรับ มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายในวงกว้าง

ยิ่งเมื่อมีคำว่า “สังคม” ประกอบเข้าไปด้วย ก็คงจะต้องมาตีความหมายกันว่า “สังคม” ในที่นี้คืออะไรอีกชั้นหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม คำว่า “นวัตกรรมสังคม” ก็คงจะหมายถึงการนำสิ่งใหม่ๆ หรือนำวิธีการใหม่ๆ เพื่อมาทำให้สังคมดีขึ้น และเป็นสิ่งใหม่หรือวิธีการใหม่ที่ต้องได้รับการยอมรับจากสังคม มีการนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง และสามารถแพร่ขยายไปยังสังคมอื่นๆ ได้

โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญได้แก่ 1) มีความใหม่ 2) ตรงความต้องการของสังคม 3) ทำให้เกิดขึ้นจริงได้ 4) สร้างหรือเคลื่อนย้ายคุณค่าสู่สังคมได้ 5) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคม

ตัวอย่าง ของการทำนวัตกรรมสังคม อาจเป็นได้ตั้งแต่ การนำเสนอสินค้า บริการ กิจกรรม เพื่อสนับสนุนสังคมให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การก่อตั้งธุรกิจในรูปแบบธุรกิจหรือวิสาหกิจเพื่อสังคม การดำเนินธุรกิจที่สนับสนุนการมีงานทำหรือการใช้ทรัพยากรของสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและผลิตภาพ การจัดตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไรเพื่อสนับสนุนสังคม การมีแนวคิดในการพัฒนาท้องถิ่นหรือสังคมในเชิงกายภาพ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคม ทั้งในแง่ของอำนาจการปกครอง และการจัดปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม รวมไปถึง การริเริ่มนำเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาใช้ในสังคม ฯลฯ

จะเห็นได้ว่า ความหลายหลายของการทำ นวัตกรรมสังคม ดังกล่าว ทำให้ความพยายามที่จะตอบคำถามให้ได้ว่า นวัตกรรมสังคม จริงๆ แล้วหมายความว่าอย่างไร

แต่สำหรับผู้ที่มีจิตเพื่อสังคมและมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้สังคมดีขึ้นด้วยวิธีการใหม่ๆ ก็จะไม่สนใจที่จะมาตอบคำถามว่า กำลังทำ นวัตกรรมสังคม อยู่หรือไม่ เพราะคำจำกัดความหรือการกำหนดความหมาย ไม่ใช่เรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญมากมายนักในบริบทของ นวัตกรรมสังคม

แต่จะยึดถือผลลัพธ์หรือคุณค่าที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมเป็นหลัก

ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าทางเศรษฐกิจที่ทำให้สังคมโดยรวมมีรายได้สูงขึ้น สังคมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดำรงชีวิตอย่างสะดวกสบายมากขึ้น มีความพึงพอใจกับสภาพและความเพียงพอของสาธารณูปโภคที่เป็นปัจจัยต่อการดำรงชีวิต

หรือการทำให้สังคมเกิดความสงบสุข มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นการสร้างคุณค่าทางใจที่ประเมินเป็นตัวเงินได้ยาก

และต้องถือว่า การนวัตกรรมสังคม อาจทำได้กับสังคมทุกระดับชั้นและทุกขนาด ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และการออกแบบของนวัตกรสังคม

นวัตกรรมสังคม อาจจะต้องนำเรื่องของวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีมาใช้ประกอบ เพื่อเป็นตัวกลางหรือกลไกที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ หรืออาจเป็นนวัตกรรมที่ไม่ต้องพึ่งพิงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็ได้ แต่เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่ม หรือ ประสบการณ์ นำมาดัดแปลงใช้กับสถานการณ์ในสังคมนั้นๆ

ตัวอย่างเช่น การสร้างตู้เย็นเพื่อรักษาสภาพของอาหาร หรือทำความเย็นให้กับน้ำดื่ม โดยไม่ต้องอาศัยไฟฟ้า ที่เกิดจากแนวคิดของช่างเครื่องปั้นดินเผาคนหนึ่งในชุมชนที่ร้อนและแห้งแล้งในประเทศอินเดีย อาศัยหลักการระเหยของน้ำผ่านเครื่องดินเผาที่ขึ้นรูปเป็นรูปร่างคล้ายตู้เย็นที่ใช้กันอยู่ มีประตูเปิดปิดด้านหน้า

ทำให้เกิดความนิยมใช้งาน จนต้องขยายกำลังการผลิตทำเป็นโรงงานและมีการจ้างงานคนในหมู่บ้านเป็นจำนวนมากในการผลิตเพื่อส่งไปจำหน่ายทั่วประเทศอินเดีย ช่วยให้ชุมชนยากจนสามารถเก็บอาหารสดได้ยาวนานขึ้นและรักษาโภชณาการได้ดีขึ้น

ตู้เย็นดินเผาไม่ต้องใช้ไฟฟ้านี้ ส่งออกจำหน่ายภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ Miticool

อย่างไรก็ตาม การทำนวัตกรรมสังคมโดยภาคเอกชนแต่เพียงด้านเดียว ไม่ว่าจะมีความมุ่งมั่นอย่างไรก็คงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เพราะเรื่องของสังคมเจ้าภาพใหญ่ก็คงหนีไม่พ้นภาครัฐ

ปัจจัยที่จะฉุดให้นวัตกรรมสังคมเกิดขึ้นได้ช้าลงได้แก่ การขาดความเชื่อมโยงและการสนับสนุนของเครือข่ายนวัตกรรมอย่างเป็นกิจลักษณะ การขาดระบบการวัดผลและติดตามผลของนวัตกรรม การขาดนโยบายและทิศทางการสนับสนุน รวมถึงกฎระเบียบและสิทธิประโยชน์

รวมถึงการขาดผู้นำที่จะเป็นหัวหอกนำแนวคิดนวัตกรรมสังคมมาช่วยสร้างสังคมให้เข้มแข็งและสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน