แชร์ริ่ง อีโคโนมี

แชร์ริ่ง อีโคโนมี

หลายๆท่านคงได้ยินเกี่ยวกับ Sharing Economy มาบ้างแล้ว

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุด น่าจะเป็นการ "ให้เช่า" บ้านและรถ อย่างเช่น Airbnb หรือ Uber

            ที่จริงๆแล้วมันก็คือ คอนเซปต์การให้เช่าหรือการแลกเปลี่ยนกัน เช่น เมื่อฉันไปเที่ยวประเทศคุณ ก็ขอไปนอนฟรี และเมื่อคุณมาประเทศฉัน ก็จะให้คุณนอนฟรี เช่นเดียวกัน (เหมือนย้อนกลับไปยุค barter อย่างไรอย่างนั้น) เพราะคำว่าโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี!! ยังคงเป็นจริงอยู่เสมอ

            อย่างไรก็ตาม Sharing Economy นี้ ได้เปลี่ยนแปลงระบบค้าขายอย่างมหาศาลและมีการเติบโตที่รวดเร็วมาก โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นกลาง เพราะ Sharing Economy นั้น มีแนวคิดและวิธีการจัดการที่แสนจะเข้าใจผู้บริโภคในปัจจุบันอย่างแท้จริง

            "ผู้บริโภค"นั้น เค้าไม่ใช่ผู้บริโภคที่มีรูปแบบพฤติกรรม อย่างที่พวกเราเรียนรู้กันมาตามตำรามาร์เกตติ้งแบบเดิมๆ อีกต่อไปแล้ว เค้าเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ไร้รูปแบบ และที่สำคัญไร้พรมแดน เพราะฉะนั้นปัจจัยต่างๆ ที่เคยควบคุมได้ กลับควบคุมไม่ได้อีกต่อไป เช่น สิ่งที่แบรนด์อยากให้ผู้บริโภคพูดถึง เป็นต้น                

            ดังนั้นอำนาจที่เคยอยู่ในมือผู้ผลิต ผู้ขาย มันจะค่อยๆ ถ่ายเทมาสู่มือผู้บริโภคอย่างยากที่จะบริหารจัดการ  เพราะนี่ไม่ใช่ยุคที่นักการตลาดและรีเทล จะอยู่นิ่งๆ ให้ผู้บริโภควิ่งเข้าหาอีกต่อไป

            แต่เป็นยุคที่ต้องวิ่งเข้าหาผู้บริโภค และที่สำคัญ คือ ต้องวิ่งให้ทัน 

            ยกตัวอย่างให้เห็นภาพของ Sharing Economy ที่เป็นบริการเรียกรถ คือ เมื่อก่อนเราชอปปิงจากห้างหนึ่ง ของหนักมาก แล้วเราต้องออกไปยืนเรียกแท็กซี่ แดดร้อนๆ ถือของหนักๆ หน้ามัน เหงื่อหยด ตัวเหม็น และยังจะต้องรอลุ้นอีกว่าจะโดนคนข้างหน้าโบกตัดหน้าไปก่อนไหม หรือแท็กซี่จะไปส่งให้ถึงที่จุดหมายปลายทางหรือไม่ แต่ต่อจากนี้ไป เราไม่ต้องเผชิญชะตากรรมนั้นอีกต่อไป เพราะเราสามารถเรียกแท็กซี่จากมือถือ มารับที่หน้าห้าง ในเวลาที่เราเสร็จธุระพอดีเป๊ะ โดยไม่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคใดๆ เรียกว่าสะดวก รวดเร็ว ในราคาที่คุ้มค่าอีกต่างหาก

            ทุกวันนี้เป็นยุคที่ผู้บริโภคใช้ชีวิตแบบอัตโนมัติค่ะ (หาอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเทรนด์ 6 นิยม ที่ทางบริษัทเอ็นไวโรเซลทำไว้ต้นปี 2016) ดังนั้นอะไรที่ทำให้ผู้บริโภคใช้ชีวิตแบบอัตโนมัติได้ ย่อมมีโอกาสขายได้สูง และการเข้ามาของ Sharing Economy ในอุตสาหกรรมนี้ ทำให้วงการแท็กซี่ต้องรีบหันมาปรับตัว โดยเฉพาะความเป็นมืออาชีพในการให้บริการ ไม่เช่นนั้นอยู่ลำบากแน่!!

            ขณะที่คนหนึ่งต้องปรับตัว (คนขับแท๊กซี่) มันก็เป็นโอกาสให้อีกคนหนึ่งในการหารายได้ (คนทั่วไปที่มีรถ ที่สามารถเพิ่มช่องทางในการหารายได้จากการให้เช่า)

            Sharing Economy ที่สร้างความสั่นสะเทือนอีกวงการหนึ่ง คือโรงแรม โดยเฉพาะโรงแรม Mid price จากการเติบโตของบ้านให้เช่า สำหรับนักท่องเที่ยว โดย Airbnb ซึ่งเป็นการ Sharing Economy ที่เรียกได้ว่าปฏิวัติเศรษฐกิจ ทำให้การทำธุรกิจทุกวันนี้ มันเปิดกว้าง ไม่มีรูปแบบตายตัว ไม่ต้องมีสินค้า ตราบใดที่มีไอเดีย และมีความเข้าใจในพฤติกรรมผู้บริโภค เพราะเราไม่ได้ถูกจำกัดเพื่อการคิดขายแต่ตัวสินค้าเท่านั้น

            แต่เราพูดถึงทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการบริการ การสื่อสาร และไลฟ์สไตล์ เป็นต้น เพราะมีหลายองค์กรที่รวยระดับโลกโดยไม่ได้มีสินค้าเป็นของตัวเองเลย เช่น Uber/Grab ก็ไม่ได้มีรถเป็นของตัวเอง Facebook ก็ไม่ได้มีเนื้อหาเป็นของตัวเอง Alibaba/Amazon ก็ไม่ได้มีสินค้าเป็นของตนเอง Agoda/booking.com ก็ไม่ได้มีโรงแรมเป็นของตัวเอง

            อย่างที่ว่าการทำธุรกิจทุกวันนี้ จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย ขึ้นอยู่ว่าเราจะคว้าโอกาสที่เข้ามา ใช้ให้เกิดประโยชน์ในทิศทางไหน และโดนใจผู้บริโภคมากที่สุด