ยืดหยุ่นกฎเหล็ก?

ยืดหยุ่นกฎเหล็ก?

คลอดออกมาอย่างเป็นการแล้ว

 สำหรับ ประกาศหลักเกณฑ์การออกเสียงประชามติ ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 พ.ค.เป็นโดยไป ซึ่งประกาศที่ออกมามีทั้ง ข้อควรปฏิบัติ และ ข้อห้าม

+++ ในแง่“ข้อควรปฏิบัติ”สังคมทั่วไปก็พอรับรู้กันอยู่แล้วว่าอะไรบ้างที่ทำแล้วไม่ผิดกฎหมาย แต่“ข้อห้าม”นี่ซิ หลายคนก็อาจจะพอรู้ว่าอะไรที่ทำแล้วผิดกฎหมาย แต่ก็ยัง อยากจะทำผิดจะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วตาม

+++ ข้อห้ามทั้ง 8”  ที่ว่าก็คือ 1.สัมภาษณ์ผ่านสื่อด้วยข้อความเท็จ ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดมหรือข่มขู่ 2.นําเข้าหรือการส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จในเว็บไซต์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 3.ทําหรือส่งสัญลักษณ์หรือเครื่องหมาย อันมีลักษณะก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดมหรือ ข่มขู่ 4.จัดเวทีอภิปราย โดยไม่มีหน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา หรือองค์กรที่ประกอบกิจการด้านสื่อสารมวลชนตามกฎหมาย เข้าร่วมและมีเจตนาเพื่อปลุกระดม 5.ชักชวนให้ใส่เสื้อ หรือติดป้าย เข็มกลัด ธง ริบบิ้น หรือเครื่องหมายที่แสดงสัญลักษณ์ ความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง 6.แจกเอกสาร ใบปลิว หรือแผ่นพับ ที่มีข้อความอันเป็นเท็จ 7.รายงานข่าวหรือการจัดรายการของสื่อมวลชนที่นําไปสู่การปลุกระดมหรือสร้าง ความวุ่นวายในสังคม 8.รณรงค์เพื่อให้เกิดการคล้อยตามของคนในสังคมเพื่อให้ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

+++ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คนที่ 1 บอกว่า การแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อการออกเสียงประชามตินั้น ขอเสนอให้ กกต.ยึดหลักใหญ่ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ในมาตรา 7 ที่ให้สิทธิเสรีภาพต่อประชาชน สามารถแสดงความเห็นได้โดยสุจริต และถูกต้องตามกฎหมาย โดยกกต.ไม่ควรเข้มงวดเกินไป หรือเน้นหลักกฎหมายมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดกระแสต่อต้านได้ หากยึดหลักเรื่องสิทธิเสรีภาพก็จะไม่เกิดการครอบงำ และการออกเสียงที่เกิดขึ้นจะเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่มีอิสระทางความคิด

+++ ว่าแต่ว่า กกต. กับ คสช. จะยอมหรือเปล่าเท่านั้น

+++ ไทม์ไลน์ การทำงานของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.ต่อไปนี้ ชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกกรธ.บอกว่า ได้หารือกับตัวแทนกรุงเทพมหานคร(กทม.) ในการเตรียมคัดสรรและอบรมอาสาสมัครชุมชนละ 2 คน เพื่อลงพื้นที่ทำความเข้าใจเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญแบบ เคาะประตูบ้าน โดยเริ่มอบรมอาสาสมัครตั้งแต่เดือน มิ.ย.นี้ พร้อมออกเคาะประตูบ้านทำความเข้าใจกับประชาชนในเดือน ก.ค. ก่อนลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค. ซึ่งในวันที่ 2 มิ.ย.นี้ กรธ.จะประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงเรื่องการทำความเข้าใจกับประชาชนต่อไป

+++ “เคาะ” แล้วสำหรับ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่จะเข้ามาแทนที่ ศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาที่มี วีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน มติเลือก เรวัต  วิศรุตเวช อดีตอธิบดีกรมการแพทย์และอดีตที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน อายุ 64 ปี เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินคนใหม่ จากผู้สมัครทั้งหมด 13 คน ขั้นตอนต่อไปก็จะเสนอรายชื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อดำเนินการต่อไป

..........................

แหลมเชิงดอย : [email protected]