สามประสานต่อยอดงานวิจัย

สามประสานต่อยอดงานวิจัย

ถ้ามีแผนงานที่ดีในการปลุกปั้นผลงานวิจัยที่ประเมินแล้วว่ามีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ต่อยอดได้จริง แต่ค่อยเป็นค่อยไป จะยั่งยืนแน่นอน

จากประสบการณ์ตรงร่วม 2 ปี ที่ผมได้มีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับทั้งนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวนมากที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย และอีกด้านหนึ่งคือผู้ประกอบการภาคธุรกิจที่กำลังแสวงหาทางยกระดับจากผู้รับจ้างผลิต ผู้ซื้อเทคโนโลยี และผู้จัดจำหน่ายสินค้าจากต่างชาติ มาเป็นผู้ผลิตนวัตกรรมที่เป็นที่ต้องการในปัจจุบัน

โดยเฉพาะผลงานวิจัยที่มีขีดความสามารถเทียบเท่าหรือทดแทนการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างชาติได้ ทำให้ผมสนใจคำว่า “นวัตกรรม” มากกว่าคำว่า Startup เพียงขอให้เป็นนว้ตกรรมที่เกิดขึ้นจากการคิดค้นวิจัย และพัฒนาโดยคนไทย สามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ผลิตและจำหน่ายได้ในไทย (ทดแทนการนำเข้าสินค้าเทคโนโลยีจากต่างชาติ) หรือไปไกลขนาดส่งออกไปในต่างประเทศได้ยิ่งดี

 โดยส่วนตัวชื่นชอบในนโยบายการผลักดันงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์ ซึ่งระบุไว้ชัดเจนเป็นลำดับขั้นว่า เมื่อคิดค้นผลงานวิจัยหนึ่งสำเร็จที่มีศักยภาพและพร้อมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ให้พิจารณาในการอนุญาตให้สิทธิ (Licensing) ดังนี้

 ลำดับ 1 คือการให้สิทธิกับเจ้าของผลงานวิจัย เพื่อนำไปต่อยอดผลิตเชิงพาณิชย์ โดยส่งเสริมให้ไปดำเนินการทางธุรกิจ (Spinout) โดยมีโปรแกรมสนับสนุนต่างๆจากภาครัฐ

ถ้าไม่สามารถทำในลำดับที่ 1 ได้ ลำดับที่ 2 คือ ไลเซ่นให้กับภาคเอกชนสัญชาติสิงคโปร์ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ

ถ้าลำดับที่ 2 ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้อีก ด้วยเหตุผลใดก็ตาม จึงจะอนุญาตให้ไลเซ่นกับภาคเอกชนใดๆก็ได้ แม้แต่บริษัทต่างชาติก็ตาม

 การต่อยอดงานวิจัยหนึ่งที่ประสบความสำเร็จจากห้องปฏิบัติการให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์จริงในเชิงพาณิชย์ได้นั้น แท้จริงแล้วต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายผ่านความร่วมมือที่ดีและจริงจัง ในที่นี้ขอเรียกว่า “สามประสาน”

-       ประสานแรก คือ ภายในมหาวิทยาลัยเดียวกันเอง หรือระหว่างมหาวิทยาลัยที่มีความสามารถต่างกัน

-       ประสานที่สอง คือ มหาวิทยาลัย กับภาคเอกชน (อุตสาหกรรม)

-       ประสานที่สาม คือ รัฐบาล กับภาคเอกชน

 ผมขอยกตัวอย่างงานวิจัยหนี่งซึ่งกว่าจะต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้ต้องใช้เวลาร่วม 2 ปี ด้วยความอุตสาหะของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นการสังเคราะห์สารที่เรียกว่า ซิลิกาแอโรเจล ได้เป็นครั้งแรกในไทย และได้ยื่นจดสิ่ทธิบัตรไปแล้ว ด้วยคุณสมบัติเด่นหลายข้อ อาทิ การเป็นฉนวนที่ดีที่สุด การกันน้ำ การดูดซับน้ำมัน และการมีจัดหลอมเหลวที่สูงจึงไม่ไหม้ไฟได้ง่าย (ทนความร้อน) ซึ่งสารสังเคราะห์ดังกล่าวเมื่อนำไปผสมเข้ากับวัสดุอื่นๆก็จะทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นๆมีคุณสมบัติพิเศษดังกล่าว ไม่ว่าจะนำไปผสมในวัสดุก่อสร้าง ปูนซิเมนต์ ยิบซั่ม สีทาบ้าน วัสดุเคลือบผิว ฉนวนกันความร้อน/ความเย็น หรือแม้แต่สิ่งทอ

 ด้วยความที่งานวิจัยดังกล่าวเป็นการสังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ (Lab scale) เมื่อวิจัยได้เสร็จตามขอบเขตและเป้าหมายที่ได้ขอทุนไว้ ก็เป็นอันสิ้นสุด เราคงนึกออกนะครับว่าผลงานวิจัยในลักษณะนี้จะเป็นเช่นไร ถ้าไม่ตีพิมพ์เป็นผลงานวิชาการเผยแพร่ ก็อาจจะยื่นจดสิทธิบัตร หรือดำเนินการทั้งสองอย่างคู่ขนานกันก็เป็นอันจบ จึงไม่แปลกที่เราจะมีการให้ทุนจำนวนมาก และได้ผลงานวิจัยที่จบในขั้นห้องปฏิบัติการไม่สามารถต่อยอดนำไปใช้ได้จริง

 แต่หลังจากที่ยื่นจดสิทธิบัตรแล้ว สิ่งที่ทำตามมาคือพยายามเผยแพร่ประโยชน์และข้อดีของสารสังเคราะห์ตัวใหม่นี้ให้กับภาคอุตสาหกรรมได้รับรู้รับทราบ การเดินสายและการเชิญชวนบริษัทต่างๆจึงเกิดขึ้น มีบริษัทชั้นนำหลายแห่งให้ความสนใจ แต่แน่นอนมันยังไม่สามารถนำไปใช้ได้ในทันที ต้องไปทำวิจัยเพื่อสร้างสูตรใหม่ในการเติมมันลงไปในผลิตภัณฑ์เดิมเพื่อให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติพิเศษ

สิ่งที่มหาวิทยาลัยมหิดลต้องทำต่อตามแผนก็คือทำอย่างไรที่จะขยายผลงานวิจัยไปสู่ระดับการผลิตเชิงอุตสาหกรรมให้ได้ แน่นอนมหาวิทยาลัยไม่ใช่โรงงาน และการที่จะหาเอกชนซักรายมาซื้อไลเซ่นเพื่อไปผลิตก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยังมีความเสี่ยงอีกมาก ลองคิดดูเล่นๆ ถ้าเราสังเคราะห์สารในห้องแล็ปครั้งละ 5 ลิตร ให้กลายเป็น 1,000 ลิตร หรือ 10,000 ลิตร เป็นเรื่องที่ยากมาก และมีโอกาสล้มเหลวสูง เพราะเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆต้องออกแบบและสร้างขึ้นมาโดยเฉพาะ การอัฟสเกลจากห้องแล็ปสู่โรงงานต้นแบบที่มีกำลังผลิตในหลักร้อยลิตร จึงเป็นคำตอบ เมื่อมีบริษัทเอกชนที่ตาถึง 3 ราย ลงขันให้ทุนในการจัดตั้ง pilot plant

 ระหว่างนั้นมีนักศึกษาปริญญาโทด้านการตลาด (MIM) ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นอีกมหาวิทยาลัยหนึงของไทยซึ่งมีความเก่งและโดดเด่นมากด้านบริหารธุรกิจและการตลาด จากผลงานการเข้าแข่งขันแผนธุรกิจและแผนการตลาดทั้งในประเทศไทย และระหว่างประเทศ มีเกียรติประวัติสร้างผลงานคว้ารางวัลระดับนานาชาติมาแล้ว เมื่อทีมนักศึกษาด้านการตลาดจากธรรมศาสตร์ นำผลงานวิจัยดังกล่าวของมหาวิทยาลัยมหิดล ไปศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจและจัดทำแผนการตลาด เพื่อไปแข่งในระดับเวทีนานาชาติ ในที่สุดก็สามารถคว้ารางวัลมาได้อย่างยอดเยี่ยม นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของผลงานวิจัยหนึ่งที่มีศักยภาพ เมื่อเกิดความร่วมมือที่ดีโดยไม่มีกำแพงของสถาบันมากั้นขวาง สามารถจะเกิดพลังร่วมที่ดีจากความเก่งของสองสถาบัน และเป็นการเน้นย้ำให้เห็นว่าซิลิกาแอโรเจลมีอนาคตจริง

 ปัจจุบันผลงานวิจัยดังกล่าวได้ไลเซ่นไปให้เอกชนในการผลิตเชิงอุตสาหกรรม และอยู่ในระหว่างจัดสร้างโรงงานจริง โดยการสนับสนุนจากภาครัฐผ่านสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เพือให้มีปริมาณมากเพียงพอป้อนให้กับอุตสาหกรรมต่างๆที่จะนำไปผสมในวัสดุอื่นๆ เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติพิเศษ ซึ่งมีบางบริษัทได้เสนอให้ทุนเพื่อที่จะทำวิจัยในระดับผลิตภัณฑ์จากสารดังกล่าวแล้ว แน่นอนถ้ามีความต้องการมากในหลายอุตสาหกรรม โรงงานที่ผลิตสารดังกล่าวก็จะขายได้มากขึ้นตามลำดับ สุดท้ายประเทศก็จะได้พิสูจน์ว่าผลงานวิจัยที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง และมีมูลค่าเพิ่มสูง ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นในอนาคตได้ เช่น สีทาบ้านที่มีคุณสมบัติเป็นฉนวนกับความร้อน วัสดุก่อสร้างที่นอกจากมีความเป็นฉนวนแล้วยังกันน้ำไม่เกิดความชื้น เครืองสำอางที่ดูดซับความมันบนใบหน้า เป็นต้น

 เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ถ้ามีแผนงานที่ดีในการปลุกปั้นผลักดัน และทุ่มเทให้กับผลงานวิจัยที่ผ่านการประเมินแล้วว่ามีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง สามารถจะต่อยอดก่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์จริงได้ในที่สุด อาจจะไม่เร็ว ไม่แรง ค่อยเป็นค่อยไป แต่ยั่งยืนแน่นอน