เมื่อไรสังคมไทย จะเลิกพูดถึงค่าขั้นต่ำ

เมื่อไรสังคมไทย จะเลิกพูดถึงค่าขั้นต่ำ

วันแรงงานของทุกปี แทบจะกลายเป็นประเพณีปฏิบัติ

ทั้งสำหรับรัฐบาลและองค์กรผู้ใช้แรงงาน ที่ต้องมีการจัดพิธีการที่ท้องสนามหลวง โดยองค์กรลูกจ้างมักจะยื่นข้อเรียกร้องต่างๆ ให้รัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาการดำรงชีวิตของผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ และสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือข้อเสนอให้รัฐบาลปรับค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งก็เช่นเดียวกันกับปีนี้ องค์กรผู้ใช้แรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หลังจากไม่ได้มีการปรับมานานหลายปี นับจากรัฐบาลก่อนหน้านี้ปรับขึ้นค่าจ้าง300บาท

ประเด็นเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำนับว่ามีความหลากหลายในมุมมองอย่างมาก และปัญหายิ่งซับซ้อนมากขึ้นเมื่อแรงงานทักษะค่อนข้างต่ำ ส่วนมากจะเป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก แต่หากย้อนกลับไปพิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มนายจ้างและลูกจ้างมาโดยตลอด โดยมีฝ่ายรัฐบาลเป็นฝ่ายที่สามหรือเรียกว่าไตรภาคีที่จะเป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งในยุคที่ฝ่ายการเมืองต้องการคะแนนนิยม ในช่วงนั้นก็จะได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่มากก็น้อย

การเรียกร้องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ฝ่ายลูกจ้างจะได้ตามข้อเรียกร้องหรือไม่นั้น ต้องติดตามกันต่อไปในช่วงกลางปีนี้ แต่ประเด็นเชิงนโยบายที่ต้องพิจารณาคือ นโยบายระดับชาติของรัฐบาล ที่ต้องการยกระดับประเทศ ให้พ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง นั่นหมายความว่าประชาชนจำเป็นต้องมีรายได้ที่สูงพอสมควร ซึ่งเป็นรายได้ที่ประชาชนโดยทั่วไปได้รับ ไม่ใช่ค่าเฉลี่ยความมั่งคั่งต่อประชากรทั้งประเทศ เหมือนกับที่ชอบวัดรายได้เฉลี่ยของคนไทยจากหน่วยงานต่างๆ

ควบคู่ไปกับการยกระดับรายได้ของประชาชน รัฐบาลจำเป็นต้องพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้กับผู้ใช้แรงงานเพิ่มขึ้น หากเราต้องการเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากสำหรับทุกรัฐบาล เพราะการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาและหน่วยงานที่ฝึกอบรมในกรณีแรงงานต้องการยกระดับทักษะของตนเอง คำถามสำคัญขณะนี้คือรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เอาจริงเอาจังกับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานแค่ไหน และที่ทำไปก่อนหน้านี้ได้ผลแค่ไหน

ที่สำคัญขณะนี้ เราพูดกันถึงประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นทิศทางในอนาคตที่เรากำลังจะเดินไป และหากเราพูดถึงอนาคตก้าวสู่สังคมสมัยใหม่  แต่ทุกปีต้องมีการเรียกร้องขอขั้นค่าแรงขั้นต่ำ ก็ชี้ให้เห็นว่ามีแรงงานไทยจำนวนมาก ซึ่งไม่นับรวมแรงงานต่างชาติที่เข้ามาหางานทำนับล้านคน ไม่สามารถขยับขึ้นไปสู่ความทันสมัยได้ และความทันสมัยตามนโยบายของรัฐบาลย่อมเป็นไปได้ไม่ได้ หากไม่มีกำลังทรัพยากรมนุษย์ไปช่วยสนับสนุนที่เพียงพอ นั่นหมายความว่าเป็นความทันสมัยแต่เปลือกเท่านั้น ไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศได้

ยิ่งกว่านั้น หากเราต้องการยกระดับประเทศ นั่นก็หมายความว่าค่าแรงงานขั้นต่ำของไทยก็ต้องขยับขึ้นตามไปด้วย แต่ค่าแรงสูงก็เป็นขั้วตรงกันข้ามกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นต้นทุนต่ำ ซึ่งเป็นอาวุธสำคัญทุกยุคยุคสมัยในการแข่งขันการค้าระดับโลก ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเกิดวิกฤติหรือเฟื่องฟู ซึ่งหมายความว่านโยบายสร้างประเทศก้าวสู่ระดับแนวหน้าของโลกของรัฐบาล จำเป็นต้องแก้ปัญหาอีกมาก ไม่เพียงแต่เงื่อนไขการลงทุนเท่านั้น แต่รวมถึงการยกระดับประชาชนในทุกมิติเพื่อให้ประเทศสามารถก้าวไปได้ตามมุ่งหมาย

เราเห็นว่าการมองปัญหาแรงงานไม่อาจมองข้ามส่วนอื่นของสังคมได้ แต่ปัญหาก็คือเรามีการวางแผนจริงๆ เกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยามนุษย์ของประเทศหรือไม่ และแผนที่มีอยู่นั้นมีประสิทธิภาพเพียงพอ หรือผลิตบุคลากรตรงต่อความต้องการของตลาดแรงงานหรือไม่ ซึ่งหากเราไม่สามารถก้าวพ้นในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไปได้ ปัญหาค่าแรงงานขั้นต่ำก็ยังคงหลอกหลอนต่อไปในอนาคต เพราะแรงงานไทยจำนวนหนึ่งไม่สามารถขยับขึ้นไปได้ หรือเรียกว่ากลุ่มคนที่ตกขบวนความทันสมัยของประเทศ