วิเคราะห์ทิศทางของ BOJ

วิเคราะห์ทิศทางของ BOJ

แม้ว่าการตัดสินใจล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ในการประชุมเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาจะเป็นไปตามการคาดการณ์

ล่วงหน้าของตลาดที่ว่า จะยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายในการประชุมครั้งนี้ก็ตาม และถ้อยแถลงคำชี้แจงของ Fed ภายหลังจากการประชุมได้เสร็จสิ้นลงแล้วนั้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และความจำเป็นในการติดตามภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิดต่อไป รวมทั้งเรื่องท่าทีของอังกฤษในการออกเสียงว่าจะออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ อย่างไรก็ตาม Fed ก็ยังได้ย้ำถึงความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายในการประชุมครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้

แต่ที่เหนือความคาดหมายของตลาด ก็เห็นจะเป็นผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ออกมาว่าไม่มีการใช้มาตรการทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีสัญญาณว่าอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้อีกครั้ง ส่งผลให้ดัชนีตลาดทั่วโลกปรับตัวลดลงทั้ง Dow Jones Industrial, Nasdaq composite, S&P 500 และ Nikkei futures in Osaka นอกจากนี้ ค่าเงินเยนก็มีการปรับค่าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ผู้เชี่ยวชาญต่างพยายามหาเหตุผลมาอธิบายท่าทีของ BOJ ในครั้งนี้ บางฝ่ายก็เชื่อตามที่ BOJ แถลงว่ากำลังอยู่ในช่วงของการติดตามดูผลของนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ประกาศใช้ในคราวที่แล้ว บ้างก็เชื่อว่า BOJ พยายามเก็บรักษา “กระสุน” ที่เหลืออยู่น้อยแล้ว

หากเราวิเคราะห์ท่าทีของ BOJ ที่ออกมาตามหลังท่าทีของ Fed ในครั้งนี้แล้ว ก็อาจเชื่อได้ว่า การที่ BOJ ยังไม่ใช้มาตรการทางการเงินเพิ่มเติมในครั้งนี้ เพราะประเมินว่า หากใช้มาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายบ่อยเกินไปและเป็นไปตามที่ตลาดคาดหวังได้ถูกต้องทุกครั้งแล้ว ก็อาจจะทำให้นโยบายที่ประกาศออกไปใช้ไม่ได้ผลเท่าที่ควรก็ได้ และยังเท่ากับเป็นการตอกย้ำว่านโยบายที่ประกาศไปก่อนหน้านี้นั้นไร้ผลโดยปริยาย การตัดสินใจไม่ทำอะไรในตอนนี้ของ BOJ จึงเป็นไปในทิศทางเดียวกับการตัดสินใจของ Fed ที่ยังสงวนท่าทีเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยเชิงนโยบายอยู่ เพราะอัตราเงินเฟ้อในประเทศก็ยังอยู่ในระดับต่ำ

แม้ว่าที่ผ่านมาราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ได้ปรับตัวขึ้นไปบ้างแล้วก็ตาม แต่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐก็ยังมีการปรับตัวที่ลดลง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจึงยังต้องถูกจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อไป นอกจากนี้ ธนาคารกลางของจีนก็เพิ่งจะได้อัดฉีดเม็ดเงินเพิ่มเติมเข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจเมื่อเร็วๆ นี้ และยังไม่เห็นผลกระทบเต็มรูปแบบที่จะตามมา ดังนั้น หาก BOJ ยังคงรอต่อไปเพื่อให้ได้เห็นความชัดเจนของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายของ Fed ในครั้งต่อไปซึ่งก็รวมถึงผลกระทบต่างๆ ที่กล่าวมาที่จะมีต่อภาวะเศรษฐกิจโลกในเวลานั้นให้ชัดเจนแล้ว ก็จะช่วยให้ BOJ สามารถกำหนดทิศทางการใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้มากขึ้นด้วยนั่นเอง 

ในส่วนของนักลงทุนไทยโดยทั่วไป ที่ผ่านมาก็ประสบกับปัญหาอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ค่อนข้างต่ำมาก ในขณะที่ราคาหุ้นที่น่าสนใจในตลาดต่างก็มีการปรับตัวสูงขึ้นอันเป็นผลกระทบทางอ้อมมาจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนปรนของทางยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ที่ผ่านมา และการที่ Fed ยังชะลอแผนการปรับขึ้นดอกเบี้ยตามที่ได้กล่าวไปแล้ว นักลงทุนจึงคงต้องเสาะหาช่องทางการลงทุนอื่นๆ ที่จะช่วยสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นและสอดคล้องกับความเสี่ยงของการลงทุนกันต่อไป แนวโน้มโอกาสที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในอนาคตจะปรับตัวแข็งขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นก็ยังมีอยู่

ดังนั้น นักลงทุนบางส่วนที่คาดการณ์ไปในแนวนี้และต้องการเก็บเกี่ยวประโยชน์จากความเป็นไปได้นี้ ก็ได้หันไปลงทุนในกองทุนประเภท foreign fixed income fund ที่ไม่ได้มีการป้องกัน (hedge) เรื่องค่าเงินไว้ด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นักลงทุนก็ยังต้องพิจารณาเรื่องความเสี่ยงทั้งหลายทั้งปวงให้รอบด้านและมั่นใจว่ามีความรอบคอบว่าตนเองเข้าใจความเสี่ยงที่กำลังเผชิญอยู่อย่างถูกต้องและไม่ประมาทเช่นกัน

 ----------------------

ศ.ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์