เศรษฐกิจยุคนี้ ไม่เหมือนยุคพ่อแม่

เศรษฐกิจยุคนี้ ไม่เหมือนยุคพ่อแม่

ความมั่นคงของรายได้ ไม่ใช่มาจากความมั่นคงของบริษัทที่เราทำงาน แต่มันมาจาก จำนวนแหล่งรายได้ที่เรามี มีมากคือมั่นคงมาก นี่คือเทรนด์ทางอาชีพ

คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบ อายุยังน้อย21-23 ปี คนกลุ่มนี้เราเรียกว่า First Jobber เป็นวัยหนุ่มสาว เปี่ยมฝัน ทำงานด้วยใจ และไฟแรงชีวิตกำลังแปลงร่างจากลูกที่พ่อแม่เลี้ยง ค่อยๆมาเป็น 'ลูกที่ช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่'

แต่คนกลุ่มนี้แหละ เป็นวัยเต็มที่กับชีวิตมาก เพิ่งเริ่มมีเงินเดือนมีรายได้เป็นของตัวเอง พ่อแม่มักจะเตือนให้ใช้เงินค่อยๆ เบาๆมือหน่อยอย่าเพิ่งใช้ชีวิตคุ้มมาก

เพราะบางทีตัวละครในหนัง ในซีรีย์วัยรุ่นตะลุยฝัน มันก็โกหกเรา ชีวิตมันไม่ได้ง่ายๆ สำเร็จง่ายๆ หาเงินได้ง่ายๆ คิดจะหยุดทำงานก็หยุด คิดจะเที่ยวตามฝันก็ทำ... มันไม่ง่ายอย่างนั้น

ในอนาคต สิ่งที่กำลังจะเกิดในสังคมไทยต้องการ “การเตรียมความพร้อม”ของมนุษย์เศรษฐกิจในยุคนี้ ผมขอมโนสิ่งที่จะเกิดขึ้นไว้ 7 ประการดังนี้

1. ไทยเราจะเข้าสู่ สังคมส.ว. (สูงวัย) ที่ผู้คนจำนวนมากจะมีรายได้ลดลงๆ แต่รายจ่ายเพิ่มขึ้นๆ โดยเฉพาะรายจ่ายด้านสุขภาพ และค่าครองชีพที่เพิ่มแบบเกินคาด

2. เบี้ยผู้สูงอายุ จากกองทุนชราภาพที่รัฐจ่ายให้ทุกเดือนจะไม่เพิ่ม และไม่พอใช้ และ(อาจจะ)ไม่พอจ่ายผู้ประกันตนรุ่นหลัง

3. คนที่เกษียณส่วนใหญ่ยังพึ่งพาดอกฝาก...ซึ่งฟันธงเลยว่าดอกเบี้ยจะต่ำนานจนไม่ต้องถามว่า นอนกินดอกยังรอดอีกหรือ?

4. คนไทยส่วนใหญ่ จะยังไม่กล้าลงทุนในหุ้น พวกเขายังมองตลาดหุ้นเป็นการพนัน พวกเขาไม่ซื้อตราสารหนี้ ไม่เอาพันธบัตร เพราะดอกเบี้ยมันต่ำ ...ยิ่งต่ำก็ยิ่งรู้สึกไม่มั่นคง ก็ไม่ยอมลงทุนกันเข้าไปใหญ่ พอเอาไปฝากแบงค์ ก็ร้องจ๊ากว่า เงินไม่งอกเงย

5. ลูกจ้างชาวไทย จะรู้สึกเครียดมากขึ้น เพราะบริษัทสมัยนี้ขายของยาก ต้องลดค่าใช้จ่าย ไม่จ้างคนเพิ่ม เปลี่ยนงานยากเย็น คนอายุ 21-30 จะหางานยากขึ้น...ยิ่งถ้าอายุ 41-55 ตกงานแล้วตกงานเลย

6. ข้าวปลาอาหาร ค่าครองชีพ ค่าบ้าน ค่ารถ ค่าตั๋วหนัง ค่าทางด่วน ค่าจอดรถ มีแต่จะสูงขึ้นๆ

7. ช้อปปิ้งออนไลน์ กำลังบุกถึงมือถือของผู้คน คนจะซื้อของด้วยความวู่วามมากขึ้น ทำให้มีแต่เรื่องเสียตังค์ง่ายๆ แต่หาตังค์ทำไมมันโคตรยาก
หลายท่าน อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะเผลอบ่นออกมาว่า “นิ้วโป้ง วันนี้คุณขู่แรงจัง” ... ผมไม่ได้ขู่ครับ เอาเรื่องที่ต้องเกิดมาพูดครับ ยุคนี้...ประเภททำงานไปเรื่อยๆ ไม่ลำบาก ไม่ขวนขวาย ไม่โดดเด่น ไม่พยายามมีอาชีพที่ 2 ที่ 3 มีรายได้หลายทางแต่กลับมั่นใจมากว่าจะรวยจากการไปเรื่อยๆมาเรียงๆขอคอนเฟิร์มว่ายุคนี้ 'No Way' ไม่มีทาง

ทุกวันนี้ไปบรรยายยังเจอบางท่านเชื่อว่า ชีวิตนี้ไปคิดอะไรมาก เอะอะจะเก็บเงินอะไรมากมาย เดี๋ยวมันก็ผ่านไปได้เอง รุ่นพ่อแม่เรายังผ่านไปได้ไม่เห็นต้องเก็บเงินอะไรเยอะแยะ

เอ้าพี่! ก็นั่นรุ่นพ่อแม่ …

• รุ่นที่การแข่งขันไม่สูง คนจบปริญญาตรีก็ดูเท่ห์ ยิ่งจบปริญญาโทก็ยิ่งดูเทพ โรงงานแย่งกันหาคน หนังสือพิมพ์สมัครงานหนาตึ้กเรียนอยู่ปี 3 มีบริษัทใหญ่มาจองตัวถึงมหาลัย รับไปฝึกงานกันตั้งแต่ปี 4

• รุ่นที่เงินเดือนขึ้นกระจอกๆคือ 10% โบนัสพื้นๆคือ 3 เดือน

• รุ่นที่ฝากเงินแบบสิ้นคิด ก็ได้ดอกเบี้ย 12%
นั่นคือรุ่นพ่อแม่ ไม่ใช่รุ่นนี้อย่าโดนหลอก ด้วยภาพลวงตายุคหลายสิบปีก่อน เพราะประเทศไทยไม่เหมือนเดิม

• รุ่นยุคนี้การแข่งขันสูง โรงงานไม่ค่อยเปิดใหม่ ของเดิมยังใช้โรบอท แทนในไลน์การผลิต สองสามปีนี้ โรงงานใหญ่ระดับเวิลด์คลาสกำลังไปเวียดนาม อินโดนีเซีย... หนังสือพิมพ์สมัครงานจึงบางเฉียบเหลือแค่ไม่กี่หน้าตำแหน่งงานลดลงไปมาก ไม่สามารถรองรับบัณฑิตจบใหม่ทุกปีได้อีก

• รุ่นยุคนี้เงินเดือนขึ้นเฉลี่ยคือ 2-5% โบนัสได้บ้างไม่ได้บ้าง

• รุ่นยุคนี้ เงินฝากแบบสิ้นคิดคือ 0.75% แบบคิดดีแล้วคือ 2%

นี่คือรุ่นเรา ไม่ใช่รุ่นพ่อแม่

เขาถึงมีคำเรียกว่า 'New Normal' คือระดับปกติแบบใหม่ แปลเป็นไทยบ้านๆว่า จงยอมรับความต่ำยุคใหม่ของ GDP, ดอกเบี้ยเงินฝาก, และ เงินเดือน โบนัส

ยอมรับได้ยาก แต่ต้องยอมรับ… แล้วจะแก้ปัญหายังไง???

นี่ไง...การมีอาชีพที่ 2 ที่ 3 การมีรายได้หลายทาง ผสานกับการลงทุน จึงเป็นเรื่องสำคัญแห่งยุคสมัย

ความมั่นคงของรายได้ ไม่ใช่มาจากความมั่นคงของบริษัทที่เราทำงานอยู่ แต่มันมาจาก จำนวนแหล่งรายได้ที่เรามี มีมากคือมั่นคงมาก นี่คือเทรนด์ทางอาชีพการงานของคนรุ่นใหม่

โดยมีความขยัน ประหยัด อดทน เป็นพื้นฐาน