ก้าวใหญ่ของ “หยวน”

ก้าวใหญ่ของ “หยวน”

ไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร แต่ทิศทางนโยบายและยุทธศาสตร์ของจีนที่จะนำเงินหยวนไปสู่ความเป็นสกุลเงินหลักของโลก

 ก็มิได้แปรเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมเลย

จะเข้าใจพัฒนาการของเงินหยวน ต้องเข้าใจวงรอบดาวเสาร์ 30 ปี (Saturn Return) เสาร์คือดาวการเงินและค่าเงินของจีน เสาร์ขึ้นวงรอบใหม่ 20 กันยายน 2008 หยวนแข็งค่าจาก 8.2 เป็น 6.2 หยวนต่อดอลลาร์ มันคือ New Normal ของจีนที่ใช้ค่าเงินหยวนเพื่อบริหารจัดการเศรษฐกิจของตน (อ่าน New Normal ที่ )

ขณะนี้เสาร์เข้าสู่กึ่งกลางวงรอบขาขึ้น (Waxing-Square Phase) จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง บทความ “เศรษฐกิจจีน” กล่าวไว้“..ในปัจจุบัน เสาร์-ดาวเจ้าเรือนลัคน์และภพ 2 จรเข้าพิจิก-ภพ 10 เป็นเกณฑ์ 4 กับเสาร์เดิมในภพ 8 อันหมายถึงเศรษฐกิจการเงิน (ของตน) ที่สัมพันธ์กับคู่ค้าหุ้นส่วน กอปรกับเนปจูนจรในกุมภ์ เล็งเสาร์เดิมด้วย นี่คือช่วงเวลาสำคัญทางเศรษฐกิจของจีน

มีความเป็นไปได้สูงที่จีนเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจ (บางประการ) อันจะส่งผลทั้งภายในและภายนอกประเทศ ภพที่ 8 คือการลงทุน-กระแสเงินทุน-ค่าเงิน ต้องจับตามิติเหล่านี้ให้ดี..()

เสาร์เข้าพิจิกตั้งแต่ 2 พฤศจิกายน 2014 เงินหยวนมีพัฒนาการเด่นๆ หลายประการ (1) การก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนสาธารณูปโภคของอาเซียน (AIIB) เมื่อ 25 ธันวาคม 2015 ธนาคารมีทุน 100,000 ล้านดอลลาร์ จีนคือผู้ถือหุ้นใหญ่สุด 26.1% ประโยชน์ทางตรงคือเศรษฐกิจภูมิภาคขยายตัว ทางอ้อมคือเพิ่มบทบาทและปริมาณการใช้เงินหยวนในภูมิภาค

(2) หยวนได้เข้าไปอยู่ในตะกร้าเงิน SDR ของ IMF อนุมัติเมื่อพฤศจิกายน 2015 และมีผลจริง 1 ตุลาคม 2016 โดยมีสัดส่วนเป็นอันดับ 3 ที่ 10.92% รองจากดอลลาร์ (41.73%) และยูโร (30.93%) ซึ่งทำให้หยวนได้รับความเชื่อถือและเพิ่มปริมาณการใช้มากขึ้น และ (3) การเปิดตัวราคาทองคำอ้างอิงเงินหยวน (RMB-denominated Gold Benchmark Price) สำหรับการซื้อขายทองคำจริง (Physical Gold) รวมถึงตราสารอนุพันธ์ของทองที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในตลาดทองคำเซี่ยงไฮ้ (SGE) เมื่อ 19 เมษายน 2016

ราคาทองคำเป็นหยวนสำคัญอย่างไร? เหตุผลคือ (1) จีนคือผู้ผลิตและผู้บริโภคทองคำรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่ราคาทองกลับถูกกำหนดเป็นดอลลาร์ที่ตลาดลอนดอน (LBMA) และนิวยอร์ค (COMEX) จึงขาดความยืดหยุ่นและไม่สะท้อนสภาพตลาดที่แท้จริง (2) ราคาทองคำในฝั่งตะวันตกถูกบิดเบือน มีการกล่าวหาและฟ้องร้องธนาคารหลายแห่งฮั้วกันกำหนดราคาทองคำและเงิน เมื่อ 14 เมษายน 2016 ดอยซ์แบงก์ตกลงยอมความและจ่ายค่าปรับในคดีดังกล่าว

(3) มีข้อสงสัยว่า ตัวแทนซื้อขายทองคำของเฟด เช่น JPMorganChase ขาย (Short) อนุพันธ์มากเกินปริมาณทองคำจริงที่ส่งมอบได้ เพื่อกดราคาทองคำให้ต่ำกว่าที่ควรเป็น พูดง่ายๆ คือใช้ทองคำกระดาษ (Paper Gold) กดราคาทองคำจริง (Physical Gold) การทำเช่นนี้อาจได้รับการสนับสนุนจากเฟดและกระทรวงการคลัง เพราะราคาทองคำที่ต่ำจะช่วยป้องกันมูลค่าและสถานะของเงินดอลลาร์ (http://goo.gl/fIVq7R)

(4) ความต้องการทองคำในโลกเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลิตน้อยลง แต่ราคากลับลดต่ำลง มันตรงข้ามกับกฎอุปสงค์อุปทาน แสดงว่าราคาทองถูกกดต่ำกว่าความจริง (5) เงินดอลลาร์เสื่อมค่าลงมากจาก QE ของเฟด การผูกหยวนเข้ากับทองคำ จะทำให้ค่าเงินหยวนมั่นคงและสามารถดำรงฐานะสกุลเงินตราหลักของโลกได้ในที่สุด

ราคาทองคำอ้างอิงเงินหยวน (SHAU) คือราคาทองคำ 99.99% ที่ถูกกำหนดราคาเป็นหยวนต่อกรัม ต่างจากฝั่งตะวันตกที่กำหนดทองคำ 99.5% เป็นดอลลาร์ต่อออนซ์ ประมูลราคาวันละ 2 รอบ รอบเช้า 10:15 น. และรอบบ่าย 14:15 น. ตามเวลามาตรฐานของจีน

ความต่างสำคัญของ 2 ตลาด คือ (1) SHAU มีช่วงเสนอราคา 5 นาทีก่อนเปิด เพื่อกำหนดราคาเริ่มต้น ขณะที่ตลาดยุโรปให้อำนาจประธานเป็นผู้กำหนด (2) SHAU ใช้ระบบเคลียร์ริ่งกลางของ SGE แต่อีกฝ่ายให้ผู้ประมูลเคลียร์กันเอง (OTC) จุดนี้สำคัญ เพราะ 2 ตลาดบังคับให้ส่งมอบทองคำจริง การมีระบบเคลียร์ริ่งกลาง จะช่วยป้องกันการสมรู้ร่วมคิด บิดเบือน ผิดนัด และไม่ยอมส่งมอบจริง  (http://www.en.sge.com.cn/upload/resources/file/2016/04/20/32405.pdf)

SHAU สะท้อนถึงพัฒนาการของเงินหยวน ดังนั้น มันต้องมีปรากฏการณ์ดวงดาวที่แสดงในดวงเมืองจีนด้วย ในวันนั้น เสาร์จรทำมุม 90 กับเสาร์เดิมสนิทพอดี คู่พฤหัสจรและเนปจูนจรทับเล็งเสาร์เดิมด้วย ยืนยันถึงการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับค่าเงิน (ดังที่กล่าวข้างต้น)

ลองดูภาพย่อยกันบ้าง ตลาดทองคำเซี่ยงไฮ้เปิดทำการ 30 ตุลาคม 2002 แต่ราคาทองคำอ้างอิงหยวนเทรดครั้งแรก 19 เมษายน 2016 เวลา 10:15 น. โดยราคาจบลงที่ 256.92 หยวน/กรัม หรือ 1,233.85 ดอลลาร์/ออนซ์ เราจะใช้ข้อมูลนี้ในการผูกดวงชะตา

ผูกดวงได้ลัคนาราศีเมถุน ที่ 21 องศา 56 ลิปดา ตำแหน่งดาวอื่นๆ คือ พฤหัสราหูอยู่สิงห์ จันทร์กันย์ อังคารเสาร์พิจิก พลูโตธนู เนปจูนกุมภ์ ศุกร์มฤตยูอยู่มีน อาทิตย์พุธเมษ ทศมลัคน์อยู่ที่ 9 องศาราศีมีน

เมถุนคือราศีแห่งการเจรจาติดต่อ ซื้อขายแลกเปลี่ยน ราคาทองอิงหยวนจะได้รับความนิยม ศุกร์มีนได้ตำแหน่งอุจจ์ในภพ 10 หมายถึงสถานะและภาพลักษณ์ที่ดีเยี่ยม ศุกร์คือความมั่งคั่ง SHAU คือตัวแทนของความมั่งคั่งที่แท้จริง

ศุกร์ที่เข้มแข็งมากในภพเกณฑ์ ยังเป็น ปัญจะมหาบุรุษโยค ด้วย มันชี้ถึงความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ศุกร์คือดาวเจ้าเรือนภพ 5 ซึ่งหมายถึงการลงทุน SHAU จะก่อให้เกิดการลงทุน (และผลิตภัณฑ์) ใหม่ๆ อีกมาก ศุกร์กุมมฤตยูบอกถึงการสร้างสรรค์และความสำเร็จที่เหนือคาดหมาย

ลัคน์เมถุน พุธคือดาวเจ้าเรือนลัคน์ พุธเข้มแข็งมาก เพราะเป็น พุธเพ็ญ พุธได้มุมดี 120 จากพฤหัสพลูโต และได้แสงจากอาทิตย์อุจจ์ที่ร่วมราศี นี่คือเครื่องหมายของดวงชะตาที่สูงส่ง อาทิตย์อยู่ภพ 11 (ลาภะ) อาทิตย์เป็นดาวเจ้าเรือนภพ 3 (เพื่อนบ้าน) มันจะได้รับการสนับสนุนอย่างสูงจากประเทศในภูมิภาค SHAU และ SGE จะกลายเป็นศูนย์กลางการซื้อขายทองคำและโลหะมีค่าของเอเซีย

ปัญหาใหญ่อยู่ที่พลูโตในภพ 7 ที่เล็งลัคน์สนิท ภพ 7 คือคู่แข่งและศัตรูที่เปิดเผย พลูโตคืออำนาจที่ยิ่งใหญ่ ราคาทองอิงหยวนจะถูกต่อต้านอย่างหนักจากคู่แข่งที่ทรงอำนาจ (คล้ายดวงเมืองจีนที่มีพลูโตเล็งลัคน์เช่นกัน บอกถึงศัตรูคู่แข่งที่มีอำนาจยิ่งใหญ่) ในอีกมุมหนึ่ง พลูโตแปลว่าการเปลี่ยนแปลง (Transformation) จะเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงกับคู่แข่งเช่นกัน

จุดอ่อนอีกข้อคืออังคารที่กุมเสาร์ในภพ 6 ซึ่งหมายถึงการต่อสู้ฟันฝ่าปัญหาอุปสรรค กว่าที่ราคาทองอิงหยวนจะประสบความสำเร็จ จีนคงต้องใช้ความพยายาม เวลา และทรัพยากรอย่างมาก ขณะที่T-square ของอังคาร-พฤหัส-เสาร์-ราหู-เนปจูน ก็เป็นจุดอ่อนไหวอีกประการที่เป็นได้ทั้งดีและร้าย โชคดีที่ลัคนาได้มุมดาวจากศุภเคราะห์พุธ-พฤหัส-ศุกร์-เนปจูน ยืนยันถึงความสำเร็จยิ่งใหญ่ในอนาคต

เส้นทางสู่ความยิ่งใหญ่ของหยวน ยังต้องรอจังหวะดาวอีกยาวไกล

----------------------------------------

หมายเหตุ : คอร์สโหราศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองโดยอ.ชูศักดิ์ เปิดสอนกรกฎาคมนี้