ถอนฟ้องคดีสลายม็อบ?

ถอนฟ้องคดีสลายม็อบ?

คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

 (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยคดีสลายการชุมนุมพันธมิตร ต่อศาลฎีกานักการเมือง แล้วกลับมีความคิดจะ ถอนฟ้องสังคมตั้งคำถามว่า เป็นการขัดต่อหลักการทำงานของ ป.ป.ช.หรือไม่ เรื่องนี้ ประธาน ป.ป.ช. พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ บอกว่า “เมื่อผู้ร้องร้องขอความเป็นธรรมมาก็ต้องพิจารณา หากขอมาแล้ว ป.ป.ช.ถอนฟ้องไม่ได้ ก็บอกว่าถอนไม่ได้ เพราะกระบวนการเดินหน้าไปแล้ว เพียงแต่เมื่อดำเนินการไปแล้วกฎหมายไม่ได้ห้ามจึงต้องมาดูด้วยเหตุด้วยผล หากเหตุผลไม่ได้ ก็ไม่ดำเนินการ”

>>> คำว่า กฎหมายไม่ได้ห้าม นอกจากจะดูข้อกฎหมายแล้ว ยังต้องดูเจตนารมณ์ข้อกฎหมายที่ต้องการเอาผิด เพราะหากจำเลยไม่มีความผิดการสอบสวนที่ผ่านมา รวมถึงการฟ้องร้องของป.ป.ช.ชุดเก่าก็ย่อมจะมีปัญหาหรือไม่ เท่ากับเป็นการ ฟ้องเท็จ หรือ ต้องการให้คนที่ไม่มีความผิดได้รับโทษทางอาญาด้วยหรือไม่

>>> อดีตกรรมการป.ป.ช. วิชา มหาคุณ บอกว่า แม้ป.ป.ช.จะถอนฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิ์ผู้เสียหายที่จะฟ้องร้องเอง เพียงแต่กระบวนการจะ ล่าช้า เพราะต้องเริ่มฟ้องจากศาลอาญา ซึ่งจะต้องใช้เวลาหลายปีกว่าคดีจะถึงที่สุด

>>> หากความพยายามของ ป.ป.ช.ชุด พล.ต.อ.วัชรพล ถอนฟ้อง สำเร็จ ประชาชนผู้เสียหาย ต้องคิดเผื่อล่วงหน้าแล้ว ว่าจะเริ่มต้นกระบวนการฟ้องร้องจำเลย ที่เป็นผู้สั่งการให้สลายการชุมนุมด้วยตัวเอง

>>> จากการขายทอดตลาดทรัพย์สิน ศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น มีคนจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และดีเอสไอ รับผลประโยชน์ นั้น ล่าสุด พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยว่า น.ส.สุวณา สุวรรณจูฑะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงเมื่อปี 2557 มีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เกี่ยวข้องจริง

>>> จากการตรวจสอบอย่างละเอียดแล้ว มีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เซ็ตหนึ่งย้ายมาจาก ปปง. ในยุคที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดีดีเอสไอ ยุคนั้นมีการตั้งศูนย์ย่อยเกิดขึ้นจำนวนมาก และศูนย์ย่อย ๆ นี้เองที่มีผู้นำไปแสวงหาผลประโยชน์ สำหรับความผิดของเจ้าหน้าที่รายนี้ คณะกรรมการสอบทางวินัย สรุปผลสอบแล้ว โดยจะนำเข้าพิจารณาในชั้นคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ในเร็ว ๆ นี้

>>> พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ บอกว่า จากที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ลงมติเห็นชอบให้แก้ไขกฎหมายการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ นั้น เป็นเรื่องดี เพราะเป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วยให้คนในสังคมตระหนักถึงปัญหาสุขภาพ และลดการติดหวาน ซึ่งทุกวันนี้คนไทยบริโภคน้ำตาล 100 กรัมต่อคนต่อวัน ทั้ง ๆ ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 50 กรัมต่อวัน นอกจากนี้ก็จะช่วยให้ผู้ผลิตหันมาใส่ใจกับผลิตภัณฑ์ของตัวเองด้วย ซึ่งทุกวันนี้น้ำตาลในเครื่องดื่มที่วางขายตามตลาดทั่วไปมีน้ำตาลถึง 12%

>>> พญ.วรรณี บอกว่า ผลการศึกษาพิสูจน์ชัดแล้วว่าการบริโภคน้ำตาลเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั้งโรคอ้วน โรคหัวใจหลอดเลือด และโรคเบาหวาน ในแต่ละปีต้องเสียค่าใช้จ่ายรวมกันแล้วคิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 2.14% ของจีดีพี หรือเกือบ 2 แสนล้านบาท ซึ่งมาตรการเก็บภาษีนี้ ถือเป็นมาตรการเข้มงวดในการป้องกัน ดีกว่ารอให้เกิดโรคแล้วมารักษากันทีหลัง

>>> พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา อดีตผบช.นิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ เชิญสมาชิกสายสกุล จารุจินดา  พบปะสังสรรค์ประจำปี ในวันอาทิตย์ที่ 1 พ.ค.2559 เวลา 09.30-14.00 น. ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีพงษ์สวัสดิ์ ถ.พิบูลย์สงคราม จ.นนทบุรี

 ....................................

สุทธิรักษ์ อุฒมนตรี [email protected]