โครงการรถไฟความเร็วสูงในอินโดนีเซีย: การสมประโยชน์กับจีน?

โครงการรถไฟความเร็วสูงในอินโดนีเซีย: การสมประโยชน์กับจีน?

กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมอินโดนีเซียได้ตัดสินใจลงนามในสัญญามอบสัมปทานระยะเวลา 50 ปี

แก่บริษัท PT KeretaCepat Indonesia-China (KCIC) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐวิสาหกิจอินโดนีเซียกับจีน ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเส้นทางจาการ์ตา-บันดุง ความยาว 142 กิโลเมตร พร้อมออกใบอนุญาตให้เริ่มก่อสร้างเส้นทาง 5 กิโลเมตรแรกได้ทันที

ข้อตกลงนี้นับเป็นความก้าวหน้าสำคัญ เพราะนอกจากโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงมูลค่ากว่า 5,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.9 ล้านล้านบาท) นี้จะช่วยร่นระยะเวลาการเดินทางจากเมืองเศรษฐกิจ 2 แห่งบนเกาะชวา จาก 3 ชั่วโมงเหลือเพียง 40 นาทีแล้ว เป้าหมายระยะยาวของโครงการยังสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของทั้งอินโดนีเซียและจีน

ก่อนหน้านี้ ถึงแม้อินโดนีเซียจะประกาศแผนแม่บทการรถไฟแห่งชาติ ซึ่งกำหนดทิศทางการขยายเครือข่ายเส้นทางรถไฟและรถไฟฟ้าบนหมู่เกาะต่างๆ ความยาวกว่า 12,100 กิโลเมตร มาตั้งแต่ปี 2554 แต่โครงการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงยังไม่ใช่นโยบายเร่งด่วน จนกระทั่ง “โจโกวี” ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2557

วิสัยทัศน์ของโจโกวี คือการพัฒนาเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุนด้วยการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ รวมถึงโรงไฟฟ้า โดยมีโครงการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเป็นหนึ่งใน 12 โครงการยุทธศาสตร์แห่งชาติเพื่อมุ่งสู่ยุทธศาสตร์การเป็นแกนกลางทางทะเลโลก (Global Maritime Axis) และการสร้างงาน

ในช่วงแรกของการดำรงตำแหน่ง โจโกวีเลือกเดินทางเยือนญี่ปุ่นและจีนเป็นประเทศแรกๆ เพื่อหารือความเป็นไปได้ในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในอินโดนีเซีย ผลสำคัญประการหนึ่ง คือ ญี่ปุ่นเสนอเงินกู้มูลค่ากว่า 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 42,000 ล้านบาท) สำหรับโครงการสร้างทางรถไฟในกรุงจาการ์ตา ขณะที่การหารืออย่างต่อเนื่องกับจีน นำไปสู่การลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง

ทั้งญี่ปุ่นและจีนต่างมองเห็นความสำคัญของการลงทุนสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงในอินโดนีเซีย เห็นได้จากการที่ทั้งสองฝ่ายต่างลงพื้นที่ศึกษาความเป็นไปได้และเสนอโครงการให้กับรัฐบาลอินโดนีเซียพิจารณาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2558

แม้ว่าข้อเสนอของทั้งสองประเทศจะถูกปฏิเสธไปในช่วงแรกด้วยเหตุผลทางเทคนิคและเหตุผลทางการเงิน ส่วนหนึ่งเนื่องจากรัฐบาลอินโดนีเซียเห็นว่าไม่ควรใช้จ่ายงบประมาณของรัฐจำนวนมากไปกับโครงการดังกล่าว แต่ท้ายที่สุด ข้อเสนอฉบับใหม่จากจีนก็ได้รับการตอบรับ

นักวิเคราะห์มองว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้อินโดนีเซียยอมรับข้อเสนอดังกล่าว เนื่องมาจากแผนการทางการเงินที่ลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ด้วยการหันมาอาศัยเงินทุนกู้ยืมจากธนาคารเพื่อการพัฒนาของจีน (China Development Bank) ขณะเดียวกันข้อเสนอนี้ยังมีลักษณะครอบคลุมมากกว่า เพราะนอกจากจีนจะเสนอตัวลงทุนสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงแล้ว ยังมุ่งลงทุนร่วมในการผลิตขบวนรถไฟสำหรับรถไฟรางเบาและรถไฟฟ้าความเร็วปานกลางอีกด้วย

ความกระตือรือร้นของจีนตอกย้ำว่ายุทธศาสตร์ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road) ซึ่งประกอบไปด้วยการส่งเสริมการเชื่อมโยงและบูรณาการทางเศรษฐกิจผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและขยายการค้าระหว่างจีนกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งทางบก (Silk Road Economic Belt) และทางทะเล (21st Maritime Silk Road Economic Belt) เป็นกรอบยุทธศาสตร์ระดับพหุภาคีที่สำคัญเป็นลำดับต้นๆ ของจีนในปัจจุบัน

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวเน้นย้ำความสำคัญของความเชื่อมโยง (Connectivity) ในฐานะหัวใจของความร่วมมือทุกระดับ ที่ผ่านมารัฐบาลจีนจึงพยายามเจรจาต่อรองเพื่อเข้าไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมในหลายประเทศในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นลาว เมียนมา เวียดนาม มาเลเซีย ไทย

ในกรณีการร่วมลงทุนในอินโดนีเซีย ความสำเร็จของการเจรจาสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงทำให้จีนอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบในการรักษาบทบาทนำทางเศรษฐกิจในอาเซียน ขณะเดียวกันยังเป็นเดิมพันครั้งสำคัญของจีนเองด้วยเนื่องจากหากโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายจาการ์ตา-บันดุงประสบความสำเร็จตามกำหนดเวลา ประสบการณ์และความน่าเชื่อถือที่เพิ่มขึ้นของจีนจะมีส่วนช่วยให้การเจรจาเพื่อลงทุนในลักษณะเดียวกันกับประเทศอื่นๆ เป็นไปได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการยักษ์ใหญ่มูลค่ากว่า 40,000 ล้านริงกิต (ราว 3.6 แสนล้านบาท) ที่จีนหมายตาอยู่ อย่างการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียกับประเทศสิงคโปร์

ในทางกลับกัน หากโครงการล่าช้าหรือประสบปัญหาต่างๆ อาทิ ปัญหาด้านความปลอดภัยหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายกำลังกังวลอยู่ในขณะนี้ ผลเสียก็จะตกอยู่กับฝ่ายจีนเอง ทั้งยังกระทบโดยตรงต่อประชาชนชาวอินโดนีเซีย รวมถึงรัฐบาลของโจโกวีอย่างเลี่ยงไม่ได้

ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงของอินโดนีเซียกับจีน จึงอาจช่วยแก้ไขหรือไม่ ก็อาจตอกย้ำภาพลักษณ์ของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจีน ซึ่งถูกวิจารณ์มาโดยตลอดว่า มักได้ผลงานที่ไม่ได้มาตรฐานสากล ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทั้งยังไม่สามารถปิดโครงการได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อยู่บ่อยครั้ง

นอกจากนี้ วัฒนธรรมทางธุรกิจแบบจีนที่เน้นดึงคนจีนเข้าไปทำงานในต่างประเทศเป็นจำนวนมากแทนการจ้างงานคนท้องถิ่น ก็อาจกลายเป็นชนวนของความขัดแย้งในอนาคต เช่นที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ขณะเดียวกันก็อาจทำให้ความหวังของรัฐบาลโจโกวีว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งนี้จะช่วยสร้างงานให้ชาวอินโดนีเซียไม่เป็นจริง และอาจส่งผลต่อเนื่องให้เสียงต่อต้านภายในประเทศเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

----------------------

ภาคิน นิมมานนรวงศ์

ผู้ช่วยผู้ประสานงานโครงการ “จับตาอาเซียน”สกว.