จุดเสี่ยงลับของ ‘โลกที่ดอกเบี้ยติดลบ’

จุดเสี่ยงลับของ ‘โลกที่ดอกเบี้ยติดลบ’

สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้ฉายภาพให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่กระแสอัตราดอกเบี้ยติดลบได้ลุกลามเข้าสู่ตราสารทางการเงิน

โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นตราสารหนี้ถึงเกือบครึ่งหนึ่งของตราสารทั้งหมดทั่วโลก แม้ผมจะสรุปในตอนท้ายว่าผมออกจะมองในแง่ดีที่ไม่คิดว่ากระแสดังกล่าว จะอยู่กับเรายาวนานถึงข้ามทศวรรษ ทว่ามีสิ่งหนึ่งที่ผมออกจะกังวลกว่าประเด็นกระแสอัตราดอกเบี้ยติดลบ นั่นคือผลข้างเคียงจากอัตราดอกเบี้ยติดลบที่มีต่อองค์กรหรือหน่วยงานที่ได้รับผลข้างเคียงจากปรากฏการณ์ดังกล่าวแบบเต็มๆ เป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่ และเป็นองค์กรที่ถูกมองว่ามีความเสี่ยงไม่มากสักเท่าไหร่ ถ้าลองประกบเงื่อนไขทั้งสามเข้าด้วยกันท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะพอเดาได้ว่าผมหมายถึง ‘อุตสาหกรรมประกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประกันชีวิต’

รูปที่ 1 สัดส่วนของมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่เน้นการให้ผลตอบแทนที่สูงพอสมควรต่อสินทรัพย์รวม

ตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เป็นต้นมา สิ่งที่เปลี่ยนแปลงในวงการประกันของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประกันชีวิต คือการเปลี่ยนจากโมเดลธุรกิจที่เน้นการเก็บพรีเมี่ยมจากลูกค้าแล้วนำมาจ่ายค่าคุ้มครองชีวิตในยามที่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น มาเป็นการเน้นออกผลิตภัณฑ์ที่เน้นการให้ผลตอบแทนที่สูงพอสมควรเพื่อเป็นการเสริมฟีเจอร์ของผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้มีการจ่ายผลตอบแทนที่ดึงดูดใจให้ลูกค้ามองผลิตภัณฑ์ว่า ไม่เพียงแต่เป็นการคุ้มครองชีวิต ทว่ามีผลตอบแทนพ่วงไปด้วย ดังรูปที่ 1 ซึ่งจะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดในสหรัฐ และเติบโตอย่างรวดเร็วในยุโรป เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ถือว่าสร้างความกังวลต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม มีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ ได้แก่

หนึ่ง เมื่อบริษัทประกันเริ่มจะไม่ต่างจากกองทุนต่างๆ มากนักในการที่จะมองหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for Yield) ภายใต้บรรยากาศอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากทั่วโลก ทำให้น่าสงสัยว่าในช่วงเวลานี้ บริษัทประกันจะเริ่มลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงขึ้นไหม และซึ่งเมื่อไปดูจริงๆ ก็พบว่าเป็นเช่นนั้น

จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยต่ำดังเช่นปัจจุบัน บริษัทประกันชีวิตจะมีแนวโน้มที่จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงด้วยการมีเงินกองทุนที่ต่ำ นอกจากนี้ ในช่วงเวลาที่ดอกเบี้ยต่ำ บริษัทประกันที่ต้องจ่ายผลตอบแทนแบบเป็นเงินงวดคืนลูกค้าด้วยมูลค่าที่สูงขึ้น จะเน้นลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง นอกจากนี้ บริษัทประกันที่มีแนวโน้มที่จะซื้อสินทรัพย์เสี่ยงสูงขึ้น กลับกลายเป็นบริษัทประกันที่มีขนาดเล็ก ที่เห็นได้ชัดคือในสหรัฐ

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างการซื้อสินทรัพย์เสี่ยงกับคุณลักษณะของบริษัทประกันชีวิตในอเมริกาและประเทศในยุโรปดังกล่าว ต่างชี้เป็นโทนเดียวกันว่าความเสี่ยงโดยรวมของบริษัทประกันชีวิตจะสูงขึ้นมากในช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยติดลบ ซึ่งจากการคาดการณ์ของผมในบทความ ‘‘’簀。キユ雍ヘ。犲ユ鯆オヤエナコ ィミィコツムァ荅? ’ น่าจะกินเวลาระหว่างราว 3-10 ปี ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวที่ถือว่านานพอควร ถือว่ามีความเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมบริษัทประกันชีวิตเป็นอย่างยิ่ง

สอง หากมองจากมุมของความเสี่ยงด้านตลาด ดัชนีที่เป็นทางการซึ่งจะใช้วัดว่า หากอัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงไป แล้วจะทำให้เกิดผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทประกันมากน้อยเท่าไร คือค่าที่เรียกว่า Duration ยิ่งมีระดับต่ำเท่าใด ก็จะหมายความว่า หากอัตราดอกเบี้ยต่ำลงไปอีกก็จะทำให้รายได้ของบริษัทและผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นลดลงมากขึ้นเท่านั้น หรือกล่าวได้ว่ามี DurationMismatch มากขึ้นเท่านั้น หากพิจารณารูปที่ 2 จะพบว่าบริษัทประกันชีวิตของสหรัฐและยุโรปมีความเสี่ยงดังกล่าวสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาปัจจุบัน สำหรับของเอเชียแม้ว่าจะมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า ทว่ากฎเกณฑ์ด้านการเงินที่ไม่เข้มเท่า 2 ภูมิภาคดังกล่าว ก็จะประมาทไม่ได้เช่นกัน

ท้ายสุด นอกจาก Shadow Bank แล้วสำหรับอุตสาหกรรมประกันภัยของจีน ก็ถือว่านับวันจะเริ่มมีความเสี่ยงสูงขึ้นเรื่อยๆ ข้อสังเกตที่ว่าความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยจีนว่าอยู่ในระดับสูงขึ้น มีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ ได้แก่

ประการแรก ณ วันนี้ ค่าพรีเมี่ยมต่อปีของอุตสาหกรรมประกัน ณ ปัจจุบัน คิดเป็นเพียง 240 ดอลลาร์ต่อคน หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 3.2 ของจีดีพี นั่นหมายความว่ายังมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก ในขณะที่บริษัท Top 5 ของบริษัทประกัน มีสัดส่วนของสินทรัพย์รวมในระบบเท่ากับร้อยละ 40 ของสินทรัพย์ทั้งหมด นั่นหมายความว่าศึกการแย่งชิงเค้กก้อนใหม่ จะเป็นไปอย่างดุเดือด สังเกตได้จากในตอนนี้ที่บริษัทประกันขนาดเล็กเพิ่มร้อยละการถือครองตราสารทุนหรือหุ้นอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 20 ของพอร์ตเมื่อ 2 ปีที่แล้ว สูงขึ้นเป็นร้อยละ 55 ของพอร์ตในปัจจุบัน

ประการที่สอง การแข่งขันทางด้านผลิตภัณฑ์ของบริษัทแข่งกันดุมากในแง่ของการแข่งขันกันให้ผลตอบแทนที่สูงโดยที่ยังยอมให้ลูกค้าถอนเงินออกมาก่อนได้ โดยไม่ติดเงื่อนไขหรือติดน้อยมากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเรียกกันว่า Universal Life Product ซึ่งให้ผลตอบแทนการันตีถึงร้อยละ 2.5-3.5 แถมด้วยออปชั่นการประกันภัยให้อีกด้วย สำหรับบริษัทประกันขนาดเล็กอาจจะให้ผลตอบแทนสูงกว่านี้อีก ตรงนี้ถือเป็นจุดล่อแหลมให้เกิดการลงทุนในตราสารที่เสี่ยงเกินไปโดยที่หลุดลอดสายตาทางการและตลาดไปได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาบริษัทขนาดเล็ก

ประการสุดท้าย สำหรับการกำกับประกันภัยแล้ว ยิ่งมีเงินกองทุนเยอะ ก็จะทำให้น้ำหนักความเสี่ยงของสินทรัพย์ลดลง ซึ่งทำให้บริษัทประกันบิ๊กๆ ต่างพากันสะสมเงินกองทุนเพื่อให้ได้น้ำหนักความเสี่ยงต่ำลง ส่งผลให้เกิดการกระจุกตัวของเงินกองทุนไปอยู่ที่บริษัทเพียงไม่กี่แห่ง จนส่งผลต่อความเสี่ยงเชิงระบบในจุดนี้ให้สูงขึ้นได้อย่างไม่ยากเย็น

ผมยอมรับว่า ณ บรรยากาศอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่พากันติดลบ ‘บริษัทประกัน’ ถือว่ามีความเสี่ยงค่อยๆ สูงขึ้นแบบเงียบๆ จนต้องติดตามกันให้มากขึ้นสักหน่อยครับ