My Everyday Juice แตกต่างอย่างมี Content

My Everyday Juice แตกต่างอย่างมี Content

จากกระแสรักสุขภาพในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนหันมาสนใจดูแลตัวเองด้วยการดื่มน้ำผักผลไม้สกัดเย็นกันมากขึ้น

น้ำผักผลไม้สกัดเย็น เป็นการผลิตโดยใช้เครื่องไฮดรอลิกแรงกดสูง บีบหรือกดเนื้อผักผลไม้เพื่อให้มีน้ำออกมา โดยไม่ทำให้เกิดความร้อน จึงทำให้เอนไซม์ที่มีชีวิตและวิตามิน รวมทั้งสีและรสชาติตามธรรมชาติของผักผลไม้ยังคงอยู่อย่างครบถ้วน

My Everyday Juice” คือหนึ่งในธุรกิจน้ำผลไม้สกัดเย็น ที่ก่อตั้งโดย “คุณญาณิศา ไตรญาณ” หรือคุณไหม เธอเล่าไอเดียให้ฟังว่า ในช่วงแรกๆ ธุรกิจน้ำผักผลไม้สกัดเย็นยังมีผู้เล่นค่อนข้างน้อย เนื่องจากยังเป็นตลาดใหม่สำหรับผู้บริโภคชาวไทย ต่อมาเมื่อผู้บริโภครับรู้ว่ามีผลิตภัณฑ์นี้อยู่ในตลาด ทำให้เกิดความต้องการเพิ่มสูงขึ้น และมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้นด้วย คุณไหม จึงคิดหาจุดเด่นและเลือกทำการตลาด รวมทั้งเน้นการสร้างแบรนด์เพื่อให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคในวงกว้าง โดยเริ่มจากการใช้ “Content Marketing” นำเสนอเนื้อหาที่มีคุณค่าให้กับผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก

โดยแนวคิดในการสร้าง Content มาจาก 3 แหล่งหลัก คือ 1.ประสบการณ์ที่เรียนมาจากต่างประเทศทำให้ เข้าใจ และรู้จริง ในผลิตภัณฑ์ที่ต้องการตอบโจทย์ผู้บริโภคคนรักสุขภาพ 2.จากการถามคำถามต่างๆ ของลูกค้าที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการดื่ม หรือต้องการข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม ทำให้รู้ถึงความต้องการของผู้บริโภค ว่า Content แบบไหนที่ต้องนำเสนอ และ 3.การหาข้อมูลจากช่องทางอินเตอร์เน็ต เช่น เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ หรือร้านขายอาหารคลีนออนไลน์ชื่อดังต่างๆ เพื่อเข้าไปดูกระแสของผู้บริโภคว่า ตอนนี้สนใจเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพในด้านใดบ้าง และหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อมานำเสนอแก่ผู้บริโภค

คุณไหม มองว่า กลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันมีความต้องการ Content ที่ต่างกันด้วย สำหรับ My Everyday Juice นั้น มีกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายหลักคือ ผู้หญิง อายุระหว่าง 25-45 ปี และกลุ่มคุณแม่ที่มีลูก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ยอมจ่ายเพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกรัก และกลุ่มผู้ใหญ่ที่ต้องการเน้นในเรื่องของคุณสมบัติผลิตภัณฑ์ เช่น ปริมาณน้ำตาล ด้วยกังวลในเรื่องสุขภาพมากกว่ากลุ่มวัยรุ่น หรือบางคนมีโรคประจำตัวจึงต้องการรู้ว่า ผลิตภัณฑ์มีส่วนประกอบหรือผลข้างเคียงอะไรบ้าง ก็ต้องเลือก Content ให้เหมาะกับคนกลุ่มนี้ ขณะที่ผู้บริโภคที่เป็นวัยรุ่น ก็จะชอบ Content ที่เกี่ยวข้องกับความสวยความงาม และ Content เกี่ยวกับจำนวนแคลอรี่ที่ได้รับจากผลิตภัณฑ์ เนื่องจากมีความกังวลเรื่องความอ้วนอยู่ด้วย เหล่านี้เป็นต้น

My Everyday Juice เน้นนำเสนอ Content ผ่านช่องทาง Facebook และ Instagram โดยใน Facebook เนื้อหาจะเน้นหนักไปที่เรื่องสุขภาพ เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ต้องการให้ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดี โดยวางรูปแบบการนำเสนอเป็นรายสัปดาห์ มีการแบ่งสัดส่วนประเภท Content ที่จะนำเสนออย่างชัดเจน คือ วันจันทร์-พฤหัสบดี จะเน้นที่ตัวผลิตภัณฑ์และประโยชน์ที่ได้รับ เพื่อสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภค ในวันศุกร์เน้นการรีวิวจากลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าท่านอื่นเห็นถึงผลลัพธ์จากผู้ใช้ตัวจริง โดยถ้าเป็นไปได้ควรมีรูปลูกค้าประกอบเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือมากขึ้น ซึ่งจะมีการขออนุญาตจากทางลูกค้าก่อนทุกครั้ง ส่วนเสาร์-อาทิตย์ จะเป็นเรื่องไลฟ์สไตล์ทั่วๆ ไป เช่น การทำอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หรือวิธีออกกำลังกายสลับกันไป เป็นต้น

ในการโพสต์ Content ต่างๆ จะโพสต์เพียงวันละ 1 เรื่อง เพื่อไม่ให้ผู้บริโภครู้สึกว่า เป็นการรบกวนมากเกินไป ยกเว้นช่วงที่มีโปรโมชั่นจะโพสต์เพิ่มอีก 1 เรื่อง และต้องโพสต์ในช่วงเวลาที่เหมาะสม นั่นคือ 17.00 – 20.00 (หลังเลิกงาน) หรือ 22.00-00.00 (ก่อนเข้านอน) ส่วน Content ในช่องทาง Instagram มีความจำเป็นอย่างมากในการใช้รูปภาพที่สวยงาม เพื่อดึงดูดความน่าสนใจจากผู้บริโภคให้เข้ามา Follow ร้าน เป็นการสร้าง Awareness ในใจผู้บริโภคผ่านรูปภาพนั่นเอง

ส่วนการวัดผลใน Facebook จะดูที่ยอด Like หรือการ Share ทำให้รู้ว่าผู้บริโภคชื่นชอบ Content แบบไหน และแบบไหนเกิด Awareness มากที่สุด ส่วน Instagram วัดจากยอด Follow เพราะยิ่งมียอด Follow สูงจะส่งผลให้แบรนด์ดูน่าเชื่อถือและน่าติดตามมากขึ้น

กรณีศึกษาของ My Everyday Juice สะท้อนให้เห็นถึง การสร้างความแตกต่างและคุณค่าให้กับธุรกิจผ่านทางการสร้าง Content ที่มีประโยชน์แก่ผู้บริโภค โดย Content บางอย่างผู้บริโภคไม่เคยรู้มาก่อน หรือมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง หากผู้ประกอบการสามารถนำเสนอข้อเท็จจริงที่มีความน่าเชื่อถือ ตรวจสอบได้ แปลกใหม่และแตกต่างจากคู่แข่งก็จะช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับแบรนด์ได้มากขึ้น นอกจากนี้การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริโภคผ่านการพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่าน Content ต่างๆ ยังช่วยทำให้แบรนด์ดูเข้าถึงง่ายและเป็นกันเอง ช่วยให้เกิดภาพลักษณ์ในเชิงบวกได้อีกด้วย

(เครดิต : การสัมภาษณ์และกรณีศึกษาโดย คุณดิษญา โกวิทยามงคล นักศึกษาปริญญาโท สาขาการตลาดวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล)