ลึก ... กว้าง ... ไกล

ลึก ... กว้าง ... ไกล

ความสามารถในการวิเคราะห์แบบรอบด้านทั้ง ลึก กว้าง ไกล หรือการคิดแบบบูรณาการนี้ทำให้โอกาสที่จะ “คิดไม่ครบ”

คุณชุมพล ณ ลำเลียง เป็นผู้บริหารมืออาชีพที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทยมาเป็นระยะเวลายาวนานตั้งแต่สมัยเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG) และได้รับการเชื้อเชิญให้ไปทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการของบริษัท Singapore Telecommunications Limited(Singtel) ยักษ์ใหญ่ด้านเทเลคอมของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งแม้ในปัจจุบันคุณชุมพลจะเกษียณอายุแล้วแต่ก็ยังได้รับทำหน้าที่เป็นกรรมการอยู่ในบริษัทชั้นนำหลายแห่ง เช่น บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด บริษัท Kempinski International SA บริษัท เคมปิน สยาม จำกัด รวมทั้งที่ ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) ซึ่งคุณชุมพลเพิ่งจะครบเทอมที่ SCB ไปโดยไม่ขอต่อในปีนี้

ผมได้ยินชื่อเสียงของคุณชุมพลมานานตั้งแต่เมื่อครั้งที่ผมได้เป็นที่ปรึกษากฎหมายของ SCG ในการออกหุ้นกู้เมื่อประมาณเกือบ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งคุณชุมพลยังเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ SCG อยู่ แต่ผมไม่มีโอกาสได้ประชุมกับคุณชุมพลอย่างใกล้ชิดเลย โดยผมเพิ่งมีโอกาสได้ทำงานกับคุณชุมพลเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมานี้เอง จากการที่ผมได้มาทำงานเป็นที่ปรึกษากฎหมายในบางเรื่องให้แก่ บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด ซึ่งรวมถึงการเจรจาหาข้อยุติในกรณีที่ค้างคามานานของโรงแรมสยามเคมปินสกี้ในประเทศไทยกับบริษัทก่อสร้างรายใหญ่จนสำเร็จไปได้ด้วยดี และจากการที่ผมได้รับแต่งตั้งให้เข้ามาเป็นกรรมการของ SCB ด้วยในปี พ.ศ. 2557 ซึ่งผมจะต้องมีการประชุมร่วมกันกับ คุณชุมพลเป็นประจำ

การได้มาทำงานร่วมกับคุณชุมพลทำให้ผมรู้สึกได้ถึงความสามารถในการตัดสินใจของ คุณชุมพล ผมเป็นคนชอบเรียนรู้จากผู้อื่นโดยการสังเกตวิธีคิด และวิธีการทำงานของบุคคลที่ผมมีโอกาสร่วมทำงานด้วยโดยเฉพาะคนเก่งๆ และตั้งคำถามในประเด็นที่ผมสนใจ ซึ่งคุณชุมพลเป็นผู้ที่มีความสามารถในการตัดสินใจและตอบปัญหาให้แก่ผมแบบฟันธงเสมอมา ซึ่งหากผมทำการซักไซ้ไล่เรียงลงไปในรายละเอียดคุณชุมพลก็จะยกเหตุผลและข้อมูลที่ไม่อาจโต้แย้งได้มาประกอบเสมอ

การตัดสินใจในปัญหาต่างๆ แบบฟันธงนี้ทำให้ทำงานง่าย แต่ผู้ตัดสินใจต้องมีความกล้าและความมั่นใจในตัวเองสูงมาก เพราะมีความเสี่ยงจากการ “คิดไม่ครบ” ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจนั้นแทนที่จะเป็นการแก้ปัญหากลับจะกลายเป็นการสร้างปัญหาขึ้นมาอีกได้โดยไม่ได้ตั้งใจ

ผมเชื่อว่าความสามารถในการตัดสินใจแบบฟันธงด้วยความมั่นใจนี้มาจากการที่คุณชุมพลเชื่อมั่นว่าได้วิเคราะห์มาแล้วเป็นอย่างดีทั้ง “เชิงลึก” คือ ปัญหาที่แท้จริงคืออะไรและเกิดขึ้นได้อย่างไร “เชิงกว้าง”  คือ ปัญหานั้นมีความสัมพันธ์กับเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญอย่างไรบ้าง และ “เชิงไกล” คือ วิธีการที่คิดว่าจะนำมาใช้ในการแก้ปัญหานั้นจะส่งผลต่อเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญนั้นอย่างไรบ้าง ทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการคิดแบบบูรณาการ

ความสามารถในการวิเคราะห์แบบรอบด้านทั้ง ลึก กว้าง ไกล หรือการคิดแบบบูรณาการนี้ทำให้โอกาสที่จะ “คิดไม่ครบ”  ซึ่งมักจะเกิดจากการคิดตามกรอบความคิดเดิมๆ หรือการคิดเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบตื้นๆ ไม่รอบด้าน มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยหรือไม่มีเลย

ข้อสังเกตนี้มาจากการที่ผมได้ทำงานร่วมกับคุณชุมพลหลังจากที่คุณชุมพลเกษียณอายุแล้ว และมักจะบอกกับผมอยู่เป็นประจำว่าอายุมากแล้ว ความคิดอ่านไม่มีประสิทธิภาพเหมือนสมัยก่อน ผมจึงรู้สึกเสียดายมากที่ไม่มีโอกาสได้ทำงานกับคุณชุมพลในช่วงวัยทำงานที่มีความรับผิดชอบมากมาย

คุณชุมพลเป็นคนที่เรียนเก่งโดยสำเร็จ MBA จาก Harvard Business School ในขณะที่อายุน้อยกว่านักศึกษาคนอื่นๆ มาก และได้มีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถของตนอย่างเต็มที่ในช่วงเวลาของการทำงานที่ผ่านมา ซึ่งความสามารถส่วนตัวและประสบการณ์ในหน้าที่การงานสำคัญๆ ที่ผ่านมาทำให้ผมไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลยว่าเหตุใดคุณชุมพลจึงได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานธุรกิจสำคัญๆ อย่างต่อเนื่องตลอดมา และทำให้ผมนึกถึงข้อความต่อไปนี้

What’s important is not the years in your life but the life in your years.