ไอยูยู : เขาอ้างว่าไทยขาด Political will

ไอยูยู : เขาอ้างว่าไทยขาด Political will

สหภาพยุโรปจะชัก “ใบแดง” ให้ไทย

กรณีมาตรฐานการประมง ที่เขาเห็นว่ายังไม่เข้าขั้นที่เขาพอใจหรือไม่?

การเจรจารอบใหม่ในเดือนพฤษภาคมนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ และหากมีจริง จะมีผลช่วยให้ไทยไม่โดน ใบแดงหรือไม่?

IUU หรือ illegal, unreported, unregulated หรือการประมงที่ “ผิดกฎหมาย ขาดการรายการ ไร้การควบคุม” ที่ยุโรปตั้งประเด็นกับการประมงของไทย ยังเป็นภัยที่คุกคามการส่งออกสินค้าประมง และภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีสากล

ถึงขั้นที่นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องใช้มาตรา 44 ปลดอธิบดีกรมประมง ก็ยังไม่แน่ว่าจะมีผลน้าวโน้มให้ยุโรปเชื่อว่าไทยเอาจริงในเรื่องนี้

เป็นที่ทราบกันแล้วว่าคุณวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ที่ได้รับมอบหมายให้ไปชี้แจงเรื่องนี้กับตัวแทนของสหภาพยุโรป ได้ทำหนังสือภายในกลับมาที่กระทรวงต่างประเทศเมื่อเร็ว ๆ นี้แจ้งว่า

อาการน่าเป็นห่วง

ตัวแทนอียูบอกว่าแม้จะมีการรับปากรับคำ จากรัฐบาลไทยเรื่องนี้ว่าจะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แล้วแต่ไทยก็ยังมีปัญหาด้านการปฏิบัติ

ทั้งการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินตามแผนที่ประกาศเอาไว้

เขาสรุปภาษาของเขาว่าไทยขาด political will ที่จะทำตามที่ตกลงกัน

แปลเป็นไทยหลวม ๆ ได้ว่าคือขาด ความมุ่งมั่นทางการเมือง ที่จะบรรลุเป้าหมายที่วางเอาไว้ ซึ่งมีความหมายว่าผู้นำทางการเมืองระดับชาติ ไม่ได้ลงไปดำเนินการเอาจริงเอาจัง กับระดับปฏิบัติเพียงพอ จึงไม่เกิดผลอย่างที่ตกลงกันว่าจะทำ

ตรงนี้แหละคือปัญหาพื้นฐานของประเทศ ไม่เพียงแต่เรื่องการประมงกับสหภาพยุโรปเท่านั้น แต่ยังเป็นที่มาของปัญหาคาราคาซังระดับชาติมากมายหลายอย่าง

ความตั้งใจมี ลีลาท่าทางพร้อม แต่ถึงชั้นต้องลงมือทำจริงกลับไม่เป็นไปตามแผน

นักข่าวไปถามโฆษกศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ได้รับคำตอบว่า

“ข้อเสนอแนะของอียูทั้งหมด 65 ข้อ ดำเนินการไปแล้วกว่า 36 รายการ และจะยังดำเนินการต่อไป แต่ละรายการจะต้องใช้เวลา จึงได้มอบหมายให้คุณวีรชัยเป็นตัวแทนอธิบายให้กับอียูเข้าใจ...”

นี่คงไม่ใช่แค่ความเข้าใจไม่ตรงกัน แต่เป็นความแตกต่างขั้นพื้นฐาน ของวัฒนธรรมการทำงานกันทีเดียว

เพราะหากเราตกลงว่าจะทำตามข้อเสนอแนะ 65 ข้อในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ทำได้แค่ 36 เรื่อง แล้วส่งตัวแทนไปอธิบายว่าทำไมยังทำไม่เสร็จ เขาก็คงจะเข้าใจได้เพียงว่าไม่ได้ทำตามที่ตกลงกันเท่านั้น จะเข้าใจเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้

จึงเป็นที่มาของคำว่าขาด political will ที่จะทำ

ส่วนเราจะขอความเห็นใจหรือความเข้าใจอย่างไรนั้น หากคุยกันเองระหว่างคนไทยก็คงจะ หยวน ๆ กันตามประสาแบบไทย ๆ ได้ แต่เมื่อเขามีกฎกติกาและเขียนระบุกันชัดเจนว่าใครจะต้องทำอะไรบ้าง การทำไม่ครบตามนั้นก็คือการผิดนัด ผิดสัญญา จะส่งใครไปชี้แจงอธิบายอย่างไรก็คงจะไม่ได้ผลอะไร

ตัวแทนอียูบอกคุณวีรชัยว่าเขาเห็นว่าไทยได้ แสดงความพยายาม ในการแก้ไขปัญหาอย่างมาก แต่ยังคงมีปัญหาที่จะต้อง “แก้ไขในเชิงลึก”

เช่นในเอกสารอีกฉบับหนึ่ง จากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำอียู ที่เขียนถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย สรุปว่ารัฐบาลไทยมุ่งมั่นและมีนโยบายการแก้ปัญหาไอยูยูอย่างชัดเจน

แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นเช่นนั้น ทำให้เขาขาดความเชื่อมั่นในหน่วยงานปฏิบัติ เช่นการเพิกถอนใบอนุญาตเรือประมง หรือโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำที่กระทำผิด

เขาบอกว่ามีการออกข่าวว่าได้แก้ไขปัญหาไปแล้ว 99% ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลที่เขาได้รับอย่างสิ้นเชิง

เขาห่วงว่าแม้จะมี พ.ร.ก. การประมงและการจัดการประมง แต่ก็ขาดการดำเนินงานให้สอดคล้องกับกฎหมาย

อีกทั้งเขาห่วงว่ามีแรงกดดันจากเอกชนมากจนหน่วยงานภาครัฐทำงานไม่ได้ตามแผน

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แม้จะมีมากถึง 91 ฉบับ แต่การบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ผล อีกทั้งกฎหมายที่รองรับก็ไม่ชัดเจน

มิหนำซ้ำเขายังถือโอกาสตอกย้ำว่า สถานการณ์การเมืองและรัฐธรรมนูญของไทย ในช่วงนี้อาจจะทำให้เกิดความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น

เห็นชัดว่าเมื่อเราเพลี่ยงพล้ำในเรื่องหลัก เขาก็ หาเรื่องตีรวนในเรื่องอื่น ๆ จนได้